สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 4

เจดีย์พระศรีสุริโยทัย
เจดีย์พระศรีสุริโยทัย

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ถนนอู่ทอง ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่กว้างขวาง ในพื้นที่ปลูกต้นไม้ต่างๆในวรรณคดี ศาลาไทยและมีซากโบราณสถาน นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนป่าสมุนไพรอีกด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์มาเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วให้ข้ามสะพานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตรงไปจนสุดถนน พอถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จะเห็นสามแยกข้างหน้าให้เลี้ยวซ้ายตรงไปจนถึงสามแยกไฟแดงแล้วเลี้ยวขวาตรงไป ผ่านโรงพยาบาลจังหวัดไปไม่ไกลนักจะเห็นสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์อยู่ทางขวามือ

วังหลัง ตั้งอยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตก ตรงข้ามกับวัดกษัตราธิราช เดิมเป็นอุทยานสำหรับเสด็จประพาสเป็นครั้งคราวเรียกว่า สวนหลวง และมีเพียงตำหนักที่พัก ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้โปรดเกล้าฯให้สร้างเพิ่มเติมเป็นพระราชวังเพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถ หลังจากนั้นได้กลายเป็นที่ประทับของเจ้านายใน พระราชวงศ์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของเจดีย์พระศรีสุริโยทัย

เจดีย์พระศรีสุริโยทัย อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก ติดกับสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๓ ถนนอู่ทอง พระเจดีย์แห่งนี้เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เป็นอนุสรณ์สถานของวีรสตรีไทยพระองค์แรก สมเด็จพระสุริโยทัยซึ่งสิ้นพระชนม์ในการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปรและเป็นการยืนยันเกียรติแห่งสตรีไทยที่ได้รับการยกย่องจากสังคมไทยมาแต่ครั้งบรรพกาล

ปีพ.ศ.๒๐๙๑ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชสมบัติมีสมเด็จพระสุริโยทัยเป็นพระมเหสี หลังจากครองราชย์ได้ ๗ เดือน พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และบุเรงนองยกทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาโดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร สมเด็จ พระมหาจักรพรรดิทรงช้างออกไปพร้อมกับพระราชโอรส สมเด็จพระสุริโยทัยทรงเป็นห่วงพระราชสวามีจึงได้ทรงเครื่องแบบอย่างนักรบชายประทับช้างตามเสด็จออกไป กองทัพกรุงศรีอยุธยาปะทะกับทัพหน้า ของกรุงหงสาวดีซึ่งมีพระเจ้าแปรเป็นแม่ทัพ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงไสช้างเข้าชนกับช้างของพระเจ้าแปรและบังเอิญช้างทรงเกิดเพลี่ยงพล้ำ สมเด็จพระสุริโยทัยจึงไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เมื่อสงครามยุติลงสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงปลงพระศพของพระนาง และสถาปนา วัดที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัดสวนหลวงสบสวรรค์ (เดิมชื่อ วัดสบสวรรค์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตสวนหลวงของวังหลังสมัยนั้น) ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการสอบสวนหาตำแหน่งสถานที่ต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารเพื่อเรียบเรียงเป็นหนังสือประชุมพงศาวดารขึ้นทูลเกล้าฯถวาย จึงเป็นเหตุให้ทราบตำแหน่งของวัดสบสวรรค์ ซึ่งยังคงพบเจดีย์แบบย่อไม้สิบสองสูงใหญ่ปรากฏตามที่ตั้งในปัจจุบันนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขนานนามเรียกชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์พระศรีสุริโยทัย

ในปีพ.ศ.๒๕๓๓ รัฐบาลได้มอบให้กรมศิลปากรและกรป.กลาง ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเสริมรูปทรงพระเจดีย์ที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพเดิมและจากการบูรณะ กรมศิลปากรได้พบวัตถุโบราณ เช่น พระพุทธรูปผลึกแก้วสีขาวปางมารวิชัย พระเจดีย์จำลอง ผอบทองคำบรรจุพระธาตุ เป็นต้น ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาสวนศรีสุริโยทัย สามารถใช้เส้นทางเดียวกับทางไปเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ตั้งอยู่ในเขตทหาร กองสรรพาวุธซ่อมยาง

วัดโลกยสุธา

สวนศรีสุริโยทัย จะอยู่ด้านหลังองค์การสุราเป็นผู้สร้างสวนนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายอดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ในที่ดินซึ่งเคยเป็นเขตพระราชฐานชั้นใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานชื่อ “สวนศรีสุริโยทัย” เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๒ และองค์การสุราได้ทูลเกล้าฯ ถวายสวนนี้แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๔ สวนนี้มีพื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ ประกอบด้วยศาลาอเนกประสงค์ พลับพลาสมเด็จพระสุริโยทัย อนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยแสดงเหตุการณ์ตอนสู้รบบนหลังช้าง ในสวนด้านหลังมีเนินเสมาหินอ่อนโบราณอายุกว่า ๔๐๐ ปีบรรจุชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่ชำรุดอัญเชิญมาจากวัดพุทไธสวรรย์ (พระตำหนักเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง) สวนนี้เปิดทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น.

วัดโลกยสุธา อยู่ใกล้กับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ใช้เส้นทางถนนหลังพลับพลาตรีมุขในบริเวณพระราชวังโบราณผ่านวัดวรโพธิ์และวัดวรเชษฐารามเข้าไปจนถึงพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ซึ่งตั้งอยู่กลางแจ้ง พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ก่อด้วยอิฐถือปูน ยาวประมาณ ๒๙ เมตร มีซากเสา ๖ เหลี่ยมตั้งอยู่ชิดกับองค์พระ หลงเหลือให้เห็นอยู่หลายต้น เข้าใจว่าอาจเคยเป็นซากพระอุโบสถ

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร อยู่นอกเกาะเมืองตรงข้ามกับเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถใช้เส้นทางเดียวกับสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ไปจนถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหาร จากนั้นเลี้ยวขวาตรงไปไม่ไกลนักก็จะถึงวัดนี้ วัดนี้เดิมชื่อ “วัดกษัตรา” หรือ “วัดกษัตราราม” เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยามีพระปรางค์ใหญ่เป็นประธานหลักของวัด และยังมีพระอุโบสถสมัยอยุธยาซึ่งมีลายดาวเพดานจำหลักไม้งดงามมาก ภายในวัดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นวัดที่มีความสวยงามมากวัดหนึ่ง

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร

วัดท่าการ้อง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นวัดเก่าแก่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาในประวัติศาสตร์กล่าวว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชสมัยอยุธยาตอนต้น อีกทั้งก่อนอยุธยาจะเสียกรุงบริเวณแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งค่ายของแม่ทัพใหญ่แห่งพม่าคือเนเมียวสีหบดี ปัจจุบันยังคงเหลือสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายแห่งได้แก่ ศาลาการเปรียญไม้สักริมแม่น้ำเจ้าพระยา พระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรัตนมงคลหรือหลวงพ่อยิ้ม นอกจากนี้วัดท่าการ้องยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทส้วมสะอาดจากกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย

ตลาดน้ำวัดท่าการ้อง เนื่องจากวัดท่าการ้องอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทางวัดจึงจัดภูมิทัศน์ด้านหน้าเป็นตลาดน้ำมีอาหารคาวหวานนานาชนิดให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อรับประทาน เปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ๐ ๓๕๓๒ ๓๐๘๘, ๐ ๓๕๒๑ ๑๐๗๔

ตลาดน้ำอยุธยาคลองสระบัว จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ท่ามกลางธรรมชาติริมน้ำอาหารพื้นบ้านหลากหลายชนิด พร้อมทั้งชมการแสดงทางวัฒนธรรม โดยมีรอบการแสดง เวลา ๑๒.๓๐ น./๑๔.๐๐ น./๑๕.๓๐ น. และ ๑๗.๐๐ น. ตลาดน้ำอยุธยาคลองสระบัว เปิดบริการ วันเสาร์และวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกนอกเกาะเมือง เป็นวัดที่พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาองค์ที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๑๗๓-๒๑๙๘) โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๑๗๓ ได้ชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามมากแห่งหนึ่ง ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ วัดนี้เป็นที่ฝังพระศพของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์(เจ้ำฟ้ำกุ้ง) กวีเอกสมัยอยุธยาตอนปลายกับเจ้าฟ้าสังวาลย์ซึ่งต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

วัดไชยวัฒนาราม

สิ่งที่น่าชมภายในวัดได้แก่ พระปรำงค์ศรีรัตนมหำธำตุ เป็นปรางค์ประธานของวัดตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสและที่มุมฐานมีปรางค์ทิศประจำอยู่ทั้งสี่มุม การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยอยุธยาตอนปลายทรงสร้างปรางค์ขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด เท่ากับเป็นการรื้อฟื้นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้นที่นิยมสร้างปรางค์เป็นประธานของวัด เช่น การสร้างปรางค์ที่วัดมหาธาตุและวัดราชบูรณะ เนื่องจากพระองค์ทรงได้เขมรมาอยู่ใต้อำนาจจึงมีการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเขมรเข้ามาใช้ในการก่อสร้างปรางค์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีพระระเบียงรอบปรำงค์ประธาน ภายใน พระระเบียงมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ผนังระเบียงก่อด้วยอิฐถือปูน มีลูกกรงหลอกเป็นรูปลายกุดั่น พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าของวัดภายในมีซากพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยหินทราย ใบเสมาของพระอุโบสถทำด้วยหินสีค่อนข้างเขียว จำหลักเป็นลายประจำยามและ ลายก้านขด และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ทางด้านหน้าพระอุโบสถมีเจดีย์ ๒ องค์ ฐานกว้าง ๑๒ เมตร สูง ๑๒ เมตร ซึ่งถือเป็นศิลปะที่เริ่มมีแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง วัดไชยวัฒนารามได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ และกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะตลอดมาจนปัจจุบันไม่มีสภาพรกร้างอยู่ในป่าอีกแล้ว และยังคงมองเห็นเค้าแห่งความสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา ซึ่งผู้ไปเยือนไม่ควรพลาดชมอย่างยิ่ง เปิดทุกวันเวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๒๐ บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดและโบราณสถานบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ได้ ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม

หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐-๒๑.๐๐  น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้หลายเส้นทาง ได้แก่

เรือ สามารถเช่าเหมาเรือหางยาวจากบริเวณหลังลานจอดรถฝั่ง ตรงข้ามพระราชวังจันทรเกษมด้านตะวันออกของเกาะเมือง เช่าจากท่าเรือด้านหน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร / เช่าได้จากท่าเรือตรงสามแยกถนนป่ามะพร้าว ล่องไปตามลำน้ำป่าสักลงไปทางใต้ ผ่านวิทยาลัยการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา วัดพนัญเชิงวรวิหาร วัดพุทไธสวรรย์ โบสถ์โปรตุเกส วัดไชยวัฒนาราม วัดกษัตราธิราชวรวิหาร และเจดีย์พระศรีสุริโยทัยอัน สง่างาม หากล่องเรือในเวลาพลบค่ำจะเห็นภาพบริเวณวัดไชยวัฒนาราม งดงามมาก รถยนต์ สามารถใช้เส้นทางเดียวกับวัดกษัตราธิราชวรวิหาร แต่พอ ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชไปแล้วให้เลี้ยวขวาแล้วตรงไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นวัดไชยวัฒนารามตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ทางด้านหน้า

อ่านต่อ: สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 5

 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Exit mobile version