อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ธรรมชาติแห่งอันดามัน (ตอนที่ 1 )

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ธรรมชาติแห่งอันดามัน  (ตอนที่  1 )
อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ธรรมชาติแห่งอันดามัน (ตอนที่ 1 )

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ธรรมชาติแห่งอันดามัน  (ตอนที่  1 )

เมื่อนึกถึงฤดูร้อน สำหรับคนรักการเดินทางท่องเที่ยว ย่อมที่จะต้องนึกถึงท้องฟ้าสีฟ้าสดใสที่ตัดกับสีครามของน้ำทะเล ใช่แล้ว ฤดูร้อนเหมาะกับทะเลที่สุด อากาศร้อนที่มาพร้อมกับแสงแดดและกลิ่นอายทะเล เป็นสิ่งที่นึกถึงเมื่อไหร่ก็ยิ่งอยากสัมผัสทุกครั้งไป ทว่าจะมีทะเลแห่งไหนที่สวย อุดมไปด้วยธรรมชาติที่มหัศจรรย์ และเป็นที่ไฝ่ฝันของผมหรือใครหลายคน ผมได้เอาโจทย์มาตรึกตรองเพื่อหาที่เอนกายสำหรับฤดูร้อนนี้ จนในที่สุดคำตอบทั้งหมดของผมได้ตกผลึกลงมาที่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ดินแดนหมู่เกาะใต้สุดแห่งอันดามัน เสน่แห่งธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวทางทะเลในฤดูร้อนนี้

หลังจากกำหนดเป้าหมายสำหรับทริปฤดูร้อนให้กับตัวเองแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือเช็ค ตารางเวลาการเดินทาง เพราะถ้าจะเที่ยวให้สนุก หรือถ้าอยากเก็บเกี่ยวบรรยากาศแห่งท้องทะเลอย่างเต็มที่ คุณควรมีเวลาสำหรับทริปนี้ไม่ต่ำกว่า 5 วัน และควรเช็คสภาพอากาศก่อนออกเดินทางให้ดี เพราะทะเลกับลมฟ้าอากาศเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้แม้ในฤดูร้อนก็ตาม ผลลัพธ์จากการเช็คสภาพอากาศในทริปนี้นั้น พยากรณ์ว่าอาจจะมีเมฆมาก ทำให้ผมชั่งใจอยู่นานว่าจะไปหรือไม่ไปดี แต่โอกาสดีๆ สำหรับการท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องที่หากันได้ง่ายๆ ผมจึงตัดสินใจที่จะไปจากนั้นจึงค้นหาที่พักและจองล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากช่วงฤดูร้อนถือเป็นไฮซีซั่นสำหรับสถานที่เที่ยวทางทะเล เรื่องที่จะไปหาที่พักเอาดาบหน้านั้นคงเป็นไปไม่ได้แน่นอน

สำหรับที่พักภายในอุทยานแห่งชาติตะรุเตามีให้เลือกทั้งที่พักของอุทยาน โดยจะตั้งอยู่ที่เกาะตะรุเตาและเกาะอาดัง และที่พักของเอกชนซึ่งรวมตัวกันอยู่บนเกาะหลีเป๊ะ ทั้ง 2 แบบสามารถสั่งจอองได้ทางโทรศัพท์และเว็บไซต์ แต่โชคไม่ดีที่การเสาะหาที่พักของผมเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากที่พักส่วนใหญ่เต็มหมดแล้ว เหลือว่างแต่ลานกางเต็นท์ของอุทยานฯ โอเค ไม่เป็นไร ก่อนหน้านี้เคยแต่กางเต็นท์ตามป่าภูดอย ครั้งนี้เปลี่ยนบรรยากาศมากางเต็นท์ริมทะเลสักครั้งจะเป็นไรไป

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 โดดเด่นด้วยชื่อเสียงด้านธรรมชาติที่สวยงามและสมบูรณ์ทั้งบนบกและในน้ำ รวมทั้งมีความน่าสนใจทางด้านประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ห่างจากตัวเมืองสตูลไปทางทิศตะวันตก 40 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือปากบารา 22 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยจำนวน 51 เกาะ เนื้อที่ที่เป็นเกาะ 230 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ทางทะเล 1,2560 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ที่เป็นเกาะ 230 ตารางกิโลเมตร มีเกาะใหญ่สำคัญคือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก  และเกาะกลาง

สำหรับการเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติตะรุเตา สามารถมาได้ทั้งเส้นทางเครื่องบิน รถโดยสาร และรถยนต์ส่วนตัว โดยต้องมาขึ้นเรือที่ท่าเรือปากบาราแล้วต่อเรือสปีดโบ๊ทหรือเฟอร์รี่เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาะตะรุเตาหรือเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมีผู้ให้บริการอยู่หลายเจ้า โดยสามารถเลือการเดินทางแบบตรงไปยังเกาะหลีเป๊ะ หรือแวะเที่ยวเกาะตะรุเตาและเกาะไข่ ทั้งนี้สามารถสอบถามรายละเอียดจากผู้ให้บริการ

สำหรับทริปการเดินทางในครั้งนี้ ผมเลือกเดินทางโดยเครื่องบินโดยมีจุดหมายปลายทางที่สนามบินหาดใหญ่เพื่อเป็นการประหยัดเวลา จากนั้นจึงต่อรถโดยสารมาที่ท่าเรือปากบารา และเลือกบริการเรือสปีดโบ๊ทแบบแวะเกาะตะรุเตาและเกาะไข่ ก่อนที่จะไปถึงที่หมายบนเกาะหลีเป๊ะ

เพียงระยะเวลาไม่นานที่เรือสปีดโบ๊ทวิ่งฝ่าคลื่นสีเขียวครามก็มาถึงจุดหมายแรก นั่นคือเกาะตะรุเตา ผมรวมถึงผู้โดยสารคนอื่นๆ มีเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงในการเก็บเกี่ยวบรรยากาศของเกาะ จึงไม่รอช้า รีบขึ้นไปยังท่าเรือพร้อมกับควักกระเป๋าจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าเกาะทันที สำหรับ ตะรุเตา เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า ตะโละเตรา ในภาษามลายู แปลว่า มีอ่าวมาก

ผมได้เดินเข้าไปถึงบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งไกล้กันนั้นมีหาดพันเตมะละกา ซึ่งเป็นหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาะ หาดทรายที่มีสีขาวละเอียดเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตาประกอบกับทิวสนเลียบไปตามชายหาด เป็นภาพที่สบายตายิ่งนัก มีที่พักของอุทยาน รวมถึงสามารถกางเต็นท์ แคมปิ้ง พักแรกได้โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ศุนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านค้าของอุทยาน เป็นต้น สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจที่สามารถทำได้ในบริเวณเกาะตะรุเตามีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเล่นน้ำ ชมพระอาทิตย์ตกดิน พายเรือคายัคชมป่าชายเลนและถ้ำจระเข้ เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ปั้นจักรยานเสือภูเขาเที่ยวรอบเกาะ สักการะเจ้าพ่อเกาะตะรุเตา หรือศึกษาประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของเกาะ เช่น ชมพิพิธภัณฑ์คุกที่เคยใช้คุมขังนักโทษสมัยอดีต โรงฝึกอาชีพนักโทษ หรือสุสานนักโทษที่อยู่บริเวณอ่าวตะโละวาว

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ธรรมชาติแห่งอันดามัน (ตอนที่ 1 )

ผมใช้เวลาครึ่งชั่วโมงที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าด้วยการสูดกลิ่นอายแห่งท้องทะเลและธรรมชาติเข้าไปเต็มปอด พร้อมเก็บภาพประทับใจบริเวณหาดพันเตมะละกาอย่างเต็มที่ ก่อนจะกลับลงเรือเพื่อมุ่งหน้าไปยังที่หมายต่อไปนั้นคือเกาะไข่ ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาทีจากเกาะตะรุเตา

เกาะไข่ เกาะเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ที่ยากจะลืม มีความงดงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ไว้อย่างมหัศจรรย์ ชวนเชิญให้ใครต่อใครเข้ามาสัมผัส นั่นคือ ซุ้มประตูหินทรายธรรมชาติ หรือที่ตั้งชื่อเรียกกันอย่างเก๋ไก๋ว่า ซุ้มประตูรักนิรันดร์ สัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทันทีที่เรือจอดเทียบชายหาด เหล่าผู้คนบนเรือต่างวิ่งกรูกันไปยังซุ้มประตูหินธรรมชาติเพื่อหามุมที่สวยที่สุดให้กับตัวเองพร้อมยกกล้องในมือขึ้นมาถ่าย บันทึกภาพความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติปรุงแต่งให้เป็นหนึ่งใน Unseen in Thailand หนุ่มสาวหลายคู่จับมือกันเดินลอดซุ้มประตูอย่างสนุกสนาน ด้วยมีความเชื่อว่าจะเป็นการเพิ่มพูนความรักให้ยืนยาว

ผมเดินชักภาพซุ้มประตูหินอย่างเพลิดเพลินไปกับความอัศจรรย์ของธรรมชาติ มุมนั้นบ้างมุมนี้บ้าง จนพนักงานประจำเรือต้องมาเรียกทุกคนกลับขึ้นเรือท่ามกลางความรู้สึกเสียดายว่าอยากจะอยู่ต่อให้นานกว่านี้อีกสักหน่อย ผมกลับขึ้นเรือและทอดสายตามองไปยังเกาะไข่ที่ค่อยๆ ไกลออกกไปๆ ด้วยความหวังที่อยากจะกลับมาเยือนอีกสักครั้งหนึ่งหากมีโอกาส  ก่อนจะหันกลับไปนั่งประจำที่ของตัวเองพร้อมหลับตาและเข้าสู่ภวังค์เพื่อเก็บแรงไว้สำหรับจุดหมายที่เกาะหลีเป๊ะ

เพียงระยะเวลาชั่วอึดใจจากเกาะไข่ ความนิ่งของลมหลังจากที่เรือเที่ยบท่าโป๊ะกลางอ่าวทำให้ผมลืมตาขึ้นจากภวังค์ และภาพที่อยู่เบื้องหน้านั้นคือหาดทรายที่ทอดยาวเป็นเส้นโค้งขนาบข้างด้วยภูเขาสีเขียว หน้าหาดเต็มไปด้วยเรือรับจ้างลอยลำรอนักท่องเที่ยว ใช่แล้วที่นี่คือเกาะหลีเป๊ะ ชุมทางเรือโดยสารของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ผมจัดแจงเก็บสัมภาระจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าเกาะ และร่วมขบวนไปกับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ในการว่าจ้างเรือไปยังหน้าหาด ซึ่งที่นั่นคือหาดพัทยา ชายหาดชื่อดังของเกาะหลีเป๊ะที่มีชื่อเหมือนกันกับชายหาดชื่อดังของจังหวัดชลบุรี

ก้าวแรกที่เท้าสัมผัสกับทรายบนหาด ผมรู้สึกถึงอณูละเอียดของเม็ดทรายที่ปะทะผิวฝ่าเท้า แสงแดดสุท้อนทรายเนื้อละเอียดสีขาวนวลทำให้ผมแสบตาจนต้องหยิบแว่นกันแดดขึ้นมาสวมเมื่อมองไปรอบด้าน ผมพบเจอกับนักท่องเที่ยวมากชาติหลายภาษาจากทั่วโลกคลาคล่ำกันอยู่บนหาด ต่างคนต่างทำกิจกรรมของตัวเองกันอย่างคึกคัก บ้างเล่านน้ำทะเล บ้างปูผ้าอาบแดดกันเป็นทิวแถว เด็กตัวน้อยสนุกสนานกับการเล่นก่อกองทราย บางคนก็เล่นขว้างจาน ตีปิงปองเล่นวอลเลย์บอลชายหาด เป็นบรรยากาศที่ครึกครื้นยิ่งนัก

ลึกเข้าไปหลังหาดทรายสีขาวจะเห็นรีสอร์ทและร้านอาหารที่เรียงรายรับนักท่องเที่ยว ผมเดินไปยังส่วนใจกลางของหาดซึ่งเป็นทางเข้าถนนคนเดินภายในเกาะ ที่สามารถทะลุไปยังหาดต่างๆ รอบเกาะได้ ภายในถนนคนเดินนี้ประกอบด้วยรีสอร์ทที่พักและร้านรวงต่างๆ มากมายอาทิ ร้านขายของที่ระลึก ร้านขายอาหาร เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ร้านเช่าจักรยาน รวมถึงร้านค้าตัวแทนนำเที่ยวรูปแบบต่างๆ เช่น แล่นเรือชมความงามรอบเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดังราวี ทริปดำน้ำชมปะการังสุดตื่นเต้น รวมถึงจัดทริปตกปลากลางทะเล เป็นต้น ทั้งหมดสามารถหาได้ในถนนคนเดินแห่งนี้

ผมใช้เวลาพักใหญ่สำหรับการเดินชมและเก็บภาพบริเวณโดยรอบของเกาะ พลันนึกในใจว่าทุกวันนี้เกาะหลีเป๊ะได้พัฒนาไปจากวันวานมากทีเดียว จากที่เป็นเพียงแค่เกาะของชุมชนชาวประมงเล็กๆ กลับกลายเป็นเกาะที่มีสีสัน สร้างสิ่งละอันพันละน้อยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก ภาพชุมชนท้องถิ่นถูกเร้นหลบให้เหลือเพียงชุมชนเล็กๆ บนพื้นที่หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังรีสอร์ทหรูและร้านรวงริมหาด สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปคงเป็นสิ่งดีที่จะทำให้พวกเขามีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเที่ยวอย่างเต็มที่ แต่สำหรับผมคงไม่ใช่ เพราะการมาเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาในครั้งนี้ ผมต้องการสัมผัสบรรยากาศของธรรมชาติในหมู่เกาะที่ได้ชื่อว่าเป็นอุทยานทางทะเลที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย เกาะหลีเป๊ะจึงไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยวอย่างผมสักเท่าไหร่นัก ที่พักที่เหมาะกับผมจึงเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ตรงข้าม นั่นคือเกาะอาดัง อันเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ผมต้องไปกางเต็นท์ สูดกลิ่นอายบรรยากาศธรรมชาติของป่าเขาและทะเลที่นั่น และเมื่อได้เวลาที่เหมาะสม ผมจึงเรียกเรือเล็กโดยสารไปยังเกาะอาดัง จัดแจงหาเต็นท์ของทางอุทยานสักหลัง และพักผ่อนเอาแรงเพื่อตะลุยเที่ยวในวันถัดไป

อ่านต่อตอนที่ 2 คลิก

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Exit mobile version