สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว อำเภอเมืองปทุมธานี

วัดหงษ์ปทุมาวาส (วัดมอญ)
วัดหงษ์ปทุมาวาส (วัดมอญ)

พิพิธภัณฑ์หินแปลก ตั้งอยู่ที่ ๒๙/๒ หมู่ ๑ ถนนสายรังสิต-ท่าน้ำปทุมธานี ตำบลบ้านกลาง ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเก็บรักษาและสะสมหินจำนวนมาก เช่น หินแปลก หินหยก หินฟอสซิล หินธรรมชาติ หินงอก หินย้อย หินแร่ จากที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากหิน แล้วยังมีรูปภาพ, แสตมป์, หน้าไม้ขีด, ที่เขี่ยบุหรี่เก่า, ภาพวาด, ภาพเขียน พิพิธภัณฑ์หินแปลกตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของหินแปลก รวมทั้งของสะสมเก่าแก่ที่สามารถสะท้อนศิลปวัฒนธรรมไทยได้และยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไป พิพิธภัณฑ์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ ๔๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท

สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๕๘๑ ๔๘๓๕, ๐๘ ๗๕๕๐ ๐๘๐๓, ๐๘ ๗๐๑๕ ๖๖๒๙ โทรสาร ๐ ๒๙๗๕ ๖๙๔๓ หรือ www.rarestonemuseum.com อีเมลล์: rarestonemuseum@gmail.com

ศาลหลักเมือง เป็นที่เคารพสักการะของชาวจังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าศาลากลางจังหวัด เป็นศาลาแบบจัตุรมุขยอดปรางค์ ประดิษฐานเสาหลักเมืองซึ่งมีลักษณะคล้ายก้านดอกบัวหลวงทำจากไม้ชัยพฤกษ์ และมีรูปหล่อพระนารายณ์สี่กรทรงเหนือหลังนกฮูก และพระวิษณุหล่อด้วยสัมฤทธิ์ ด้านหลังของมณฑปบรรจุพระยอดธงวัดไก่เตี้ย อีกทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มากมายประกอบด้วยเครื่องรางของขลังที่รวบรวมมาจากวัดต่างๆ ในจังหวัดปทุมธานี

ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี (หลังเก่า) ตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นเรือนปั้นหยา ด้านหน้าก่อปูน เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป มีลวดลายตกแต่งด้านหน้าที่สวยงาม ซึ่งทาง กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ

วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เดินทางโดยข้ามสะพานปทุมธานีไปฝั่งตะวันออกจะมีทางแยกซ้ายไปกลับรถใต้สะพานเพื่อไปยังวัดซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน วัดโบสถ์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๔ โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ชื่อวัดโบสถ์ มาจากชื่อหมู่บ้านที่ชาวมอญอพยพมาจากเมืองมอญ เช่นเดียวกับวัดอีกหลายวัดในปทุมธานี เช่น วัดหงษ์ วัดบางตะไนย์ ประชาชนมักมาที่วัดเพื่อสักการะหลวงพ่อสามพี่น้องในพระอุโบสถและรูปหล่อหลวงปู่เทียน (พระครูบวรธรรมกิจ) พระเถระผู้ทรงคุณวิทยา ส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับชาวปทุม วัดนี้ยังคงมีวิหารเก่าเหลืออยู่ ๑ หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จากรามัญ คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ และยังเก็บรักษาสิ่งสำคัญคือ ช้างสี่เศียรและบุษบกสัมฤทธิ์สำหรับประดับเสาหงส์ และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองปทุมธานี

วัดชินวราราม

วัดหงษ์ปทุมาวาส (วัดมอญ) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตำบล บางปรอก ใกล้กับตลาดสดเทศบาล เป็นวัดที่สร้างโดยชาวมอญที่อพยพหนีพม่ามาไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมีสัญลักษณ์ของวัดมอญ คือ เสาหงส์ ลักษณะบนยอดเสาเป็นตัวหงส์ หมายถึง เมืองหงสาวดี เมืองหลวงของชาวมอญ ปูชนียวัตถุสำคัญของวัด คือ พระพุทธชินราชจำลองปางมาร- วิชัย เจดีย์มอญจำลองแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองในเมืองหงสาวดี วิหารจำลองแบบมาจากกรุงหงสาวดีหลังคาเป็นชั้นๆมีลวดลายที่สวยงามมาก อุโบสถเป็นอุโบสถสร้างใหม่ตามสถาปัตยกรรมของไทยมองเห็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ได้แต่ไกล ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติและยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย รูปหล่อหลวงปู่เฒ่าที่ชาวบ้านนับถือและมีศาลาการเปรียญประดับด้วยไม้แกะสลักสวยงาม วัดแห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา หน้าวัดมีพันธุ์ปลาต่างๆ มากมายที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่น ปลาสวาย ปลาเทโพ ว่ายมาชุมนุมกันอยู่เนืองแน่นเพื่อรอรับอาหารจากผู้มาทำบุญไหว้พระที่วัด

วัดชินวราราม ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของตัวเมือง ตามทางไปสะพานนนทบุรี (สะพานนวลฉวี) ก่อนถึงสะพาน ๑ กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปวัดอีก ๑ กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ และเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดมะขามใต้” ในพระอุโบสถ มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติชาดกที่งดงาม วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหลวงชินวรสิริวัฒนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๗

ห้องสมุดเรือและชุมชนบางปรอก ชุมชนบางปรอก ตั้งอยู่ติดกับวัดหงส์ ปทุมาวาส เป็นชุมชนชาวมอญที่เข้มแข็งในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม ได้ร่วมกันสร้างห้องสมุดเรือที่ทำจากเรือเก่าไว้บริเวณใต้ร่มไทรที่มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมให้เยาวชนในชุมชนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ มีการสอนคอมพิวเตอร์ เรียนรำไทย กลองยาว ดนตรีไทย เป็นสถานที่ผลิต จำหน่ายสินค้าชุมชน สนามเด็กเล่น และเป็นศูนย์ต้อนรับคณะผู้มาเยือนโดยจัดกิจกรรมต้อนรับ เช่น การแสดงดนตรี -รำมอญ อาหารพื้นบ้านชาวมอญ เช่น ข้าวแช่ กวนกะละแม แสดงวัฒนธรรมชาวมอญ เช่น ประเพณีแห่หางหงษ์ – ธงตะขาบ ชมศูนย์แพทย์แผนไทย การทำปุ๋ยชีวภาพ การผลิตของที่ระลึกจากวัสดุเหลือใช้ สอบถามข้อมูลได้ที่ คุณฉลวย กะเหว่า – นาค ประธานชุมชน โทร. ๐ ๒๕๘๑ ๑๒๕๒, ๐๘ ๖๓๕๕ ๘๓๐๖

วัดบางหลวง

วัดฉาง ตั้งอยู่ที่บ้านฉาง ภายในวัดมีสิ่งสำคัญคือพระวิหารเก่า มีจิตรกรรม ปรากฏอยู่ที่หน้าบันพระวิหาร และพระพุทธรูปปางสมาธิที่สร้างจาก สตางค์แดงทั้งองค์ ซึ่งประชาชนเลื่อมใสมานมัสการอยู่มิได้ขาด นอกจากนี้ ยังมีศาลาท่าน้ำที่มีความงดงามอยู่ที่ลวดลายแกะสลักที่ชายคาวัดนี้ ชาวบ้านใช้ประกอบศาสนพิธีตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ จนถึงปัจจุบัน

วัดโคก ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบ้านฉาง ภายในวัดมีพระประธานปางสมาธิ เจดีย์มอญก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ธรรมมาสน์เก่าทำด้วยไม้มะเกลือฝังมุขอายุกว่าร้อยปีและศาลาการเปรียญ ก่อสร้างด้วยไม้สัก เสาเป็นไม้แดง มีอายุ ๑๐๐ ปีเศษ

วัดบางหลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางหลวง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓ กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระอุโบสถทรงไทยโบราณ ภายในมีพระประธาน ปางมารวิชัยและภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์มอญ ๒ องค์ คือ ทรงชเวดากอง และทรงมูเตา ซึ่งทางวัดใช้ประกอบ ศาสนพิธีของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงปัจจุบัน

วัดน้ำวน ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเดื่อ ห่างจากจังหวัดประมาณ ๔ กิโลเมตร ในวัดมีเจดีย์ทรงรามัญ (ย่างกุ้ง) อุโบสถมีหงส์หน้าอุโบสถ หน้าวัดเป็นแหล่งอาศัยของพันธุ์ปลาต่างๆ มากมาย เป็นวัดที่ประชาชนจากที่ต่างๆ นิยมมาเที่ยวชมกัน

วัดป่ากลางทุ่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางขะแยง ภายในอุโบสถผนังด้านหลังพระประธาน ปรากฏภาพเขียนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งอดีตประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในซุ้มเรืองแก้วอันวิจิตร ด้านซ้ายขวามีสาวกบนฐานดอกบัวบาน ประนมมือด้วยดอกบัว ๓ ดอก น้อมกายไปข้างหน้าอย่างอ่อนช้อยเต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาพื้นผนังสีแดงชาด เขียนภาพดอกไม้ร่วงโปรยลงมาเป็นระยะ จึงเป็นผลงานในอดีตอันทรงคุณค่าของเมืองปทุมธานี

วัดเจตวงศ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางขะแยง ด้านหน้าพระอุโบสถมีโบราณสถานขนาดเล็ก ผนังก่ออิฐมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ด้านหน้ามีชายคาปีกนกยื่นมากันฝน มีช่องประตูเดียว มีหน้าต่างข้างๆ ๓ ช่อง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชีปางมารวิชัย ลดหลั่นลงมาเป็นพระอันดับซ้ายขวา ๒ องค์ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่งดงามที่ควรค่าแก่การศึกษา

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Exit mobile version