เขารัง เป็นภูเขาเตี้ย ๆ รถยนต์สามารถขึ้นไปจนถึงยอดเขา เทศบาลจัดให้เป็นสวนสาธารณะ สวนสุขภาพและยังเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยงาม จากยอดเขาสามารถมองเห็นตัวเมืองภูเก็ต ท้องทะเลสีฟ้ากว้างใหญ่ และเกาะต่างๆ โดยรอบมีร้านอาหารอร่อยหลายร้านให้เลือกรับประทาน สะพานหิน เป็นสถานที่พักผ่อนภายในตัวเมือง อยู่สุดถนนภูเก็ต เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์หลัก ๖๐ ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมล์ ชาวออสเตรเลีย ผู้นำเรือขุดแร่ลำแรกมาใช้ขุดแร่ดีบุกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๒
ตึกโบราณ อาคารส่วนใหญ่ในตัวเมืองภูเก็ตมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ “ชิโน-โปรตุกีส” (Sino-Portuguese) คือ ตัวอาคารจะมีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้างและไม่สูงนัก มีอายุเกือบร้อยปี สร้างขึ้นเมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่ดีบุกเริ่มเจริญ สามารถหาชมได้บริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราช และถนนกระบี่ นอกจากนี้ ยังมีตึกโบราณที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ต และตึกบริเวณสี่แยกถนนภูเก็ต ตัดกับถนนพังงา เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ตั้งอยู่ที่ ๒๘ ถนนกระบี่ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ๘๓๐๐๐ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ ภายในอาคารจัดแสดงภาพถ่ายและวีดีทัศน์ที่สื่อถึงความเป็นมาของชาวจีนในภูเก็ต การทำเหมืองแร่ การแต่งกาย สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส อาหารพื้นเมือง และวัฒนธรรมประเพณีของชาวภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ถึงอารยธรรมของชาวภูเก็ต เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๑๒๒๔
บ้านชินประชา ตั้งอยู่ที่ ๙๘ ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ๘๓๐๐๐ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ หรือในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระพิทักษ์ชินประชา (ตันม่าเสียง) ท่านได้สร้างบ้านหลังนี้ตามแบบ “ชิโน-โปรตุกีส” เป็นหลังแรกของจังหวัดภูเก็ต หรือที่เรียกกันว่า “อังม่อเหลา” เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษเมืองจีน ส่วนวัสดุอื่นของบ้านนั้นนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น กระเบื้องปูพื้นจากอิตาลี เป็นต้น เพราะการค้าขายทางเรือผ่านเกาะปีนังมายังภูเก็ตในสมัยนั้นรุ่งเรือง บ้านชินประชาเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๓๐ น. โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๑๒๘๑ โทรสาร ๐ ๗๖๒๑ ๑๑๖๗
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ถนนเทพกระษัตรี เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของภูเก็ต เกี่ยวกับบ้านเรือน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ เมืองถลางยุคโบราณ นอกจากนั้นยังมีห้องสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย เปิดบริการ
ทุกวันเวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๑๙๕๙ ต่อ ๑๔๘
สวนผีเสื้อและโลกแมลงภูเก็ต อยู่ห่างจากตัวเมือง ๓ กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนเยาวราช ผ่านโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แล้วเลี้ยวซ้ายที่สามแยกหมู่บ้านสามกองและเลี้ยวขวาที่ซอยพะเนียง เป็นสถานที่
รวบรวมและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในเขตร้อนจากพวกผีเสื้อ และแมลงนานาชนิด โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับธรรมชาติ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. รายละเอียดติดต่อ โทร. ๐ ๗๖๒๑ ๐๘๖๑ โทรสาร ๐ ๗๖๒๑ ๕๖๑๖
สวนเฉลิมพระเกียรติ (สวนหลวง ร.๙) ในวโรกาสเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ในปี ๒๕๔๗ เทศบาลนครภูเก็ต ได้พิจารณาแผนงานโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างสวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้รับความเห็นชอบให้ก่อสร้างในที่ดินราชพัสดุ ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณพระราชทานนามสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า “สวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒พรรษา มหาราชินี พ.ศ.๒๕๔๗” และทางเทศบาลนครภูเก็ตได้จัดสร้างมังกรทะเลขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลของคนภูเก็ต “พญำมังกรทะเล หรือฮ่ำยเหล็งอ๋อง” สัตว์มงคลที่ยิ่งใหญ่ โดยสืบเนื่องมาจากครั้งที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดีเป็นข้าหลวงปกครองมณฑลภูเก็ต ได้มีซินแสท่านหนึ่งกล่าวว่า ภูมิศาสตร์และทำเลของเกาะภูเก็ตมีลักษณะที่ตั้งเป็น “ฮ่ำยเหล็งหรือมังกรทะเลแห่งมหำสมุทรอินเดีย” ที่มีความเชื่อมาจากตำนานเจ้าสมุทรทั้งสี่ที่ช่วยปกปักรักษามหาสมุทรตามบัญชาสวรรค์ โดยหัวใจมังกรอยู่ตรงกลางเมือง และในวโรกาสเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี เมื่อ วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ เพื่อประดิษฐานอยู่ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชินี ถนนถลาง ติดกับ ททท.สำนักงานภูเก็ต
เกาะสิเหร่ อยู่ห่างจากตัวเมือง ๔ กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนศรีสุทัศน์ มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐ ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต มีคลองท่าจีนคั่นระหว่างเกาะทั้งสอง แต่มีสะพานเชื่อมทำให้เดินทางได้โดยสะดวก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่บนยอดเขาที่วัดเกาะสิเหร่ บนเกาะมีชายหาดที่เป็นทรายปนโคลนไม่เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ แต่สามารถเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวบ้านบริเวณแหลมตุ๊กแกซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวเล หรือชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ ที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บนเกาะในมหาสมุทรอินเดีย
สวนสัตว์ภูเก็ต อยู่ระหว่างเส้นทางจากตัวเมืองไปอ่าวฉลอง เลี้ยวซ้ายที่ซอยป่าหล่าย ถนนเจ้าฟ้า ภายในสวนสัตว์ซึ่งนอกจากมีสัตว์ชนิดต่างๆ แล้ว ยังมีการแสดงช้างและจระเข้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๘.๐๐ น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๗๖๒๘ ๒๐๔๓, ๐ ๗๖๓๗ ๔๔๒๔ และ ๐๘ ๖๔๗๖ ๕๙๒๔
วัดฉลอง หรือ วัดไชยธาราราม อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต ๘ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๒๑ ผ่านสามแยกบริเวณสนามกีฬาสุระกุล เลี้ยวซ้ายไปทางห้าแยกฉลอง วัดฉลองจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกฉลองประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของภูเก็ต มีรูปหล่อของหลวงพ่อแช่ม และหลวงพ่อช่วง ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวภูเก็ต รวมทั้งรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งของพระอาจารย์อีกหลายท่านในเรือนไทยหลังใหญ่ อีกทั้งวัดฉลองยังเป็นที่ตั้งของ “พระธาตุจอมไทย บารมีประกาศ” บรรจุพระสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา ในทุกปีวัดฉลองจะจัดงานประจำปีขึ้นช่วงวันตรุษจีนเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน
สวนพฤกษชาติ ตั้งอยู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันตก ซอยถนนหลวงพ่อช่วง ใกล้วัดฉลอง อำเภอเมือง มีสวนไม้ต่างๆ เช่น สวนกล้วยไม้ สวนบัว สวนป่าร้อนชื้น สวนบาหลี สวนสมุนไพร สวนเฟิร์น และอีกมากมาย เปิดเวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดทุกวันพุธ รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๗๖๓๖ ๗๐๗๖, ๐ ๗๖๓๖ ๗๐๙๕