สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
อยู่ห่างจากอำเภอเมืองตาก ๘๖ กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๔๑ เดิมชื่อพระหน่อเก่ ตัวอำเภออยู่ในที่ราบระหว่างภูเขา ส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาในฝั่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งเป็นเทือกเขาฝั่งสหภาพพม่า อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ ประมาณ ๒,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร ประชากรมีทั้งชาวเขา และคนที่อพยพจากทางภาคเหนือ และอำเภอเมืองตากเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ รวมทั้งชาวไทยใหญ่ที่มีภรรยาและบุตรเป็นคนไทยด้วยประวัติความเป็นมาของอำเภอแม่สอดนั้นยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจะเป็นเมืองฉอดของขุนสามชนที่เคยยกทัพไปตีกรุงสุโขทัยหรือไม่ยังไม่มีผู้ใดพิสูจน์ได้ เมื่อดูตามสภาพบ้านเมืองของอำเภอแม่สอดนั้น ไม่พบว่ามีสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่มีอายุอยู่ในยุคของสุโขทัยได้เลย ฉะนั้นจึงน่า เชื่อได้ว่า ไม่ใช่เมืองเดียวกัน ขณะนี้ได้มีนักโบราณคดีพบซากเมืองโบราณอยู่ในป่าทึบ ในท้องที่อำเภอแม่ระมาด อาจจะเป็นเมืองฉอดตามศิลาจารึกกรุงสุโขทัยก็ได้
ศาลเจ้าพ่อพะวอ ตั้งอยู่บนเนินดินเชิงเขาพะวอ ถนนสายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ ๖๒-๖๓ ศาลนี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองตาก และชาวอำเภอแม่สอดมาก เล่ากันว่าท่านเป็นนักรบชาวกะเหรี่ยง ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เป็นนายด่านที่ด่านแม่ละเมา เพื่อคอยเฝ้าป้องกันข้าศึกมิให้ข้ามเขามาถึงเมืองตากได้และได้ต่อสู้กับพม่าที่รุกรานเข้ามาทางด่านแม่ละเมาเพื่อปกป้องเอกราชของชาติจนตัวเองต้องเสียชีวิตในสนามรบแห่งนี้ มีผู้เล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่า คราวใดที่บ้านเมืองมีเภทภัยร้ายแรง ชาวเมืองแม่สอดจะได้ยินเสียงฝีเท้าม้าของพะวอยํ่าตะลุยไปรอบๆ เมือง และหากผู้ใดเข้าไปล่าสัตว์ในบริเวณเทือกเขาพะวอ มักจะเกิดเหตุต่างๆ เช่น รถเสีย เจ็บป่วย หรือหลงทาง และเหตุเพราะ เจ้าพ่อพะวอท่านเป็น นักรบ จึงชอบเสียงปืน เพื่อแสดงความเคารพผู้ที่เดินทางผ่านไปมา มักจะสักการะท่านด้วยการบีบแตรรถ ยิงปืน หรือจุดประทัดถวาย
เนินพิศวง อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ ๖๘ สายตาก-แม่สอด มีลักษณะเป็นทางขึ้นเนินที่แปลก คือเมื่อนำรถไปจอดไว้ตรงบริเวณทางขึ้นเขาโดยไม่ได้ติดเครื่องรถจะไหลขึ้นเนินไปเอง ได้มีนักวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น จึงสรุปได้ว่าที่เรามองเห็นนั้นเป็นภาพลวงตา เนื่องจากได้มีการตรวจวัดระดับความสูงของเนินลูกนี้แล้วปรากฎว่าช่วงที่มองเห็นเป็นทางขึ้นเขานั้น มีระดับความสูงตํ่ากว่าช่วงที่เห็นเป็นทางลงเนิน ดังนั้นรถที่เรามองเห็นไหลขึ้นนั้น ที่จริงรถไหลลงสู่ที่ตํ่ากว่า แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถตอบได้ว่าเหตุใดจึงมองเห็นเป็นภาพลวงตาเช่นนั้นได้
วัดโพธิคุณ หรือ วัดห้วยเตย ตำบลแม่ปะ ริมทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ สายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ ๖๙ เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) สิ่งที่น่าสนใจ คือ พระอุโบสถที่สร้างและออกแบบ โดยคุณศมประสงค์ ชาวนาไร่ ที่ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจของเขากับการก่อสร้างพระอุโบสถหลังนี้นานถึง ๑๘ ปี จึงเสร็จสมบูรณ์ โดยไม่ขอรับค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว ตัวพระอุโบสถคล้ายเรือลำใหญ่สร้างเป็นสามชั้น ชั้นล่างไม่มีการตกแต่งใดๆ ชั้นที่สองมีการตกแต่งผนัง เพดาน และหัวเสา ชั้นที่สามเป็น พระอุโบสถใช้ประกอบศาสนพิธีต่างๆ ที่ตกแต่งอย่างละเอียดประณีตทั้งในส่วนของผนัง เสา และเพดาน ในลักษณะของประติมากรรมนูนตํ่า ผสมผสานกับการระบายสี ประดับกระจกและปิดทอง มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่เป็นพระประธาน ภายนอกตัวพระอุโบสถประดับด้วยลวดลายชั้นบรมครูที่มีความละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน ประณีตงดงาม ที่แสดงให้ เห็นว่าผู้สร้างได้อาศัยรูปแบบของศิลปตามแนวประเพณีมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ตามจินตนาการได้อย่างมีชีวิตชีวา
วัดมณีไพรสณฑ์ ตั้งอยู่ในตลาดแม่สอด ภายในวัดมีเจดีย์วิหารสัมพุทเธมีลักษณะแปลกคือ บนองค์เจดีย์มีเจดีย์เล็กๆ ล้อมรอบถึง ๒๓๓ องค์ และพระพุทธรูปบรรจุอยู่ถึง ๕๑๒,๐๒๘ องค์ มีโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า ๒๐๐ ปี ที่บริเวณหน้าบัน และหลังคาโบสถ์มีลายไม้ฉลุสวยงาม บริเวณโดยรอบวัดมีซุ้ม และศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น หลวงพ่อสังกัจจายพระพุทธรูปปูนปั้นปางพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
วัดชุมพลคีรี ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลแม่สอด เป็นวัดเก่าแก่มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระพุทธรูปประธานปางมารวิชัย ส่วนในวิหารเป็นที่เก็บกลองโบราณมีอายุกว่า ๒๐๐ ปี
นํ้าตกแม่กาษา ตำบลแม่กาษา เป็นนํ้าตกขนาดเล็ก มีทางเดินเท้าขึ้นไปชมด้านบนของนํ้าตกซึ่งเป็นหน้าผาสูง มีถํ้า และธารนํ้ากว้างประมาณ ๕ เมตรลักษณะเป็นนํ้าตกเขาหินปูน
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ สายแม่สอด-แม่ระมาด กิโลเมตรที่ ๑๓-๑๔ จะพบป้าย บ้านแม่กื๊ดสามท่า จากปากทางเข้าไปประมาณ ๔ กิโลเมตร จะพบทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
บ่อนํ้าร้อนแม่กาษา ตำบลแม่กาษา บ่อนํ้าร้อนนี้อยู่ในตัวหมู่บ้าน มีความกว้างประมาณ ๒ เมตร เป็นธารนํ้าร้อนไหลมาพบกับธารนํ้าเย็น เมื่อผ่านเข้าไปในบริเวณหมู่บ้านจะได้กลิ่นกำมะถันกรุ่นอยู่ทั่วไป และมีไอนํ้าจางๆลอยขึ้นเหนือพื้นดินเล็กน้อย เมื่อเข้าไปดูที่ปากบ่อจะเห็นนํ้าเดือดชัดเจนอุณหภูมิของนํ้าสูงพอสมควร และมีห้องอาบนํ้าแร่ไว้บริการ บริเวณโดยรอบมีธรรมชาติที่สวยงามล้อมรอบด้วยเขาสูง และไร่นา
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ สายแม่สอด-แม่ระมาดตรงกิโลเมตรที่ ๑๓-๑๔ เส้นทางเดียวกับนํ้าตกแม่กาษา เข้าไปประมาณ ๗ กิโลเมตร ผ่านเข้าไปในหมู่บ้านถึงบ่อนํ้าร้อนแม่กาษา
วัดไทยวัฒนาราม เดิมชื่อ วัดแม่ตาวเงี้ยว หรือ วัดไทยใหญ่ หมู่ ๑ ตำบลท่าสายลวด เป็นวัดในพระพุทธศาสนานิกายมหายานของชาวไทยใหญ่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ ได้รับอิทธิพลมาจากสหภาพพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ โดยนายมุ้ง เป็นชาวพม่ารัฐฉาน ที่อพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สอด และเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านแม่ตาว ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า หมื่นอาจคำแหงหาญ ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้เป็นวัดพระพุทธศาสนาสังกัดกรมศาสนา ภายในวัดประดิษฐานพระพุทธมหามุณี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่จำลองมาจากพระพุทธมหามุณีอันศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองมัณฑเลย์ สหภาพพม่า เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดตาก ศรัทธาเลื่อมใสกันมาก
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ สายตาก-แม่สอด บริเวณกิโลเมตรที่ ๘๔ ก่อนถึงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ห่างจากตัวอำเภอแม่สอดไปประมาณ ๕ กิโลเมตร
สะพานมิตรภาพไทย–พม่า ตำบลท่าสายลวด เป็นสะพานที่สร้างข้ามแม่นํ้าเมย ระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับเมืองเมียวดี สหภาพพม่ามีความยาว ๔๒๐ เมตร กว้าง ๑๓ เมตร สำหรับประชาชนชาวไทย และผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอแม่สอด สามารถเดินทาง หรือนำรถยนต์ข้ามไปได้ โดยทำบัตรผ่านแดนชั่วคราวได้ที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอดโดยเสียค่าธรรมเนียมทั้งในฝั่งประเทศไทย และฝั่งประเทศพม่า และเสียค่าประกันภัยรถยนต์ตามที่กำหนด สอบถามข้อมูลก่อนเดินทางได้ที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอด โทร. ๐ ๕๕๕๖ ๓๐๐๒, ๐ ๕๕๕๖ ๓๐๐๐
หมายเหตุ นักท่องเที่ยวชาวไทย ควรสอบถามรายละเอียดที่ ด่านตรวจคนเข้าเมืองอำเภอแม่สอดก่อนเดินทาง เนื่องจากระเบียบการอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางข้ามไปสหภาพพม่า ต้องนำหนังสือเดินทาง มาแสดงที่ด่นตรวจคนเข้าเมืองฝั่งไทยเพื่อประทับตราผ่านแดนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับฝั่งสหภาพพม่าเสียค่าธรรมเนียมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองพม่า คนละ ๑๐ ดอลล่าร์ (อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้) เพื่อท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ ได้ตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐-๑๘.๐๐ น. และจากด่านตรวจคนเข้าเมืองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สามารถเดินทางเข้าไปได้ไม่เกิน ๒ กิโลเมตร สอบถามด่านตรวจคนเข้าเมืองแม่สอดโทร. ๐ ๕๕๕๖ ๓๐๐๐, ๐ ๕๕๕๖ ๓๐๐๒
ตลาดริมเมย เป็นชุมชนบริเวณริมฝั่งแม่นํ้าเมย ตรงข้ามกับอำเภอเมียวดีของสหภาพพม่า เป็นตลาดค้าขายสินค้าพื้นเมืองมากมายทั้งของไทย และสหภาพพม่า เช่น ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลัก อาหารทะเลสด หน่อไม้แห้งปลาแห้ง ปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม ถั่ว เครื่องหนัง ผ้าซาติน ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดการค้าอัญมณี เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีที่มาจากสหภาพพม่า การเดินทาง สามารถขึ้นรถสองแถวจากตลาดอำเภอแม่สอดไปตลาดริมเมยทุกวัน โดยลงที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-พม่า อัตราค่าโดยสารคนละ ๑๐ บาท
แม่นํ้าเมย (พม่าเรียกว่าแม่นํ้าต่องยิน) เป็นเส้นกั้นเขตแดนประเทศไทยกับสหภาพพม่า มีความยาวประมาณ ๓๒๗ กิโลเมตร แม่นํ้าสายนี้ไหลขึ้นไปทางทิศเหนือไม่ได้ไหลลงทิศใต้เหมือนเช่นแม่นํ้าทั่วๆ ไป ต้นกำเนิดของแม่นํ้าเมย อยู่ที่บ้านมอเกอ ตำบลพบพระ อำเภอพบพระ ไหลผ่านอำเภอแม่สอด แม่ระมาด และท่าสองยาง ถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวินแล้ว ไหลลงสู่อ่าวมะตะบันในเขตสหภาพพม่า
การเดินทาง จากอำเภอแม่สอดใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ ไปประมาณ ๑๐ กิโลเมตรสุดเขตแดนไทยที่แม่นํ้าเมย
วัดมาตานุสรณ์ บ้านแม่กื้ดหลวง พระครูสิริรัตนาภรณ์ (หลวงพ่อครูบากัญไชย) พระครูสิริรัตนาภรณ์ (ครูบากัญไชย กาญจโน) มีนามเดิมว่า เด็กชายดวงคำ พลายสาร เกิดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๘ จันทรคติคํ่า ปีเถาะที่บ้านศรีบุญเรือง ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอเมืองน่าน หลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ ๕ ในบรรดาพี่น้องชายหญิง ๙ คน บิดาชื่อนายยศ มารดาชื่อ นางต่อม พลายสาร และเรียนหนังสือล้านนาไทยพื้นเมืองเหนือกับเจ้าอธิการขัติยศจนแตกฉาน เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี หลวงพ่อมีความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะขออุทิศตนเป็นพุทธสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับเมตตาอุปการะจากพระอธิการกัญจนะวงศ์ เจ้าอาวาสวัดม่วงตึ๊ดเป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อบรรพชาแล้ว พระอธิการกัญจนะวงศ์จึงเปลี่ยนชื่อให้ท่านใหม่ว่า กัญไชย ตลอดระยะเวลากว่า ๕ ปีที่เป็นสามเณรกัญไชย ได้อุทิศตนบำเพ็ญเป็นพุทธสาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเคร่งครัดผิดแผก แตกต่างไปจากสามเณรคนอื่นๆ ทั่วไปคือมีความจำที่ดีเยี่ยมท่านพยายามเรียนรู้เพิ่มเติมโดย ศึกษาอักษรพื้นเมือง สามารถอ่านเขียนได้คล่องแคล่วรวดเร็วสวยงาม หลวงพ่อได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๘ ณ พัทธสีมาวัดม่วงตึ๊ด จังหวัดน่านโดยมีพระครูนันทสมณาจารย์เจ้าคณะจังหวัดน่าน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูธรรมสิริสุนทร เจ้าอาวาสวัดภูมินทร์ เป็นพระกรรมวาจารย์พระครูสสิริธรรมกิต เจ้าอาวาสวัดอภัย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า กัญไชย กาญจโน เทพเจ้านักบุญแห่งลุ่มแม่นํ้าเมย (ครูบากัญไชย กาญจโน) ฉายานี้ท่านได้มาก็เพราะว่าท่านเป็นพระภิกษุเถระผู้ทรงวิทยาคุณมีพลังจิตตานุภาพสูง และเป็นผู้มีคาถาอาคมขลังแก่กล้า ท่านจึงเป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้ในยามยาก เป็นผู้สร้างขวัญกำลังใจที่ดีที่สุดของชาวบ้านทั่วๆ ไป เพราะกว่ท่านได้มอบวัตถุมงคลให้กับลูกศิษย์ลูกหา ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปเป็นจำนวนนับแสนๆ คนปรากฏว่า ยังไม่เคยมีผู้ใดประสบกับภัยอันตรายถึงแก่ชีวิต ก็เพราะหลวงพ่อท่านมีคาถาอาคมอันแก่กล้า มีวัตถุมงคลอันลือชื่อ มีนํ้ามนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีเมตตามหานิยม และคงกระพันชาตรีหลวงพ่อท่านได้ละสังขารไปแล้ว แต่ด้วยบุญบารมีของหลวงพ่อ ร่างกายของท่านจึงไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา เหมือนหลวงพ่อยังนอนหลับอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถเดินทางไปกราบนมัสการขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลได้ทุกวัน
พระธาตุหินกิ่วที่ดอยดินจี่ หมู่ ๔ บ้านวังตะเคียน ตำบลท่าสายลวดตัวเจดีย์พระธาตุตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ที่ก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนชะง่อนผาโดยมีฐานคอดกิ่วเหมือนจะขาดออกจากกัน โดยมีเจดีย์ทรงมอญสร้างไว้มีขนาดพอดีกับความกว้างของก้อนหิน ชาวบ้านเรียกหินมหัศจรรย์นี้ว่า “เจดีย์หินพระอินทร์แขวน” ซึ่งภายในสถูปเจดีย์มีพระธาตุประดิษฐานอยู่ จึงเป็นที่เคารพของชาวจังหวัดตาก และจังหวัดใกล้เคียง ทุกๆ ปี ในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีงานเทศกาลนมัสการพระธาตุหินกิ่วการเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ ตรงไปตลาดริมเมย แยกขวามือผ่านหมู่บ้านทางอาจ และหมู่บ้านวังตะเคียน ถึงพระธาตุระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร
โบราณสถานคอกช้างเผือก (เพนียดช้าง) บ้านท่าอาจ ตำบลท่าสายลวดบริเวณริมฝั่งแม่นํ้าเมย การเดินทางใช้ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ ก่อนถึงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ประมาณ ๑ กิโลเมตร แยกขวามือผ่านหน้าวัดไทยวัฒนาราม ตามถนนลาดยางประมาณ ๒ กิโลเมตร จะพบป้ายโบราณสถานคอกช้างเผือกด้านซ้ายมือ คอกช้างเผือก หรือ พะเนียดช้าง ลักษณะทำเป็นกำแพงก่ออิฐมอญสูงประมาณ ๑ เมตร กว้างประมาณ ๒๕ เมตรเป็นรูปสอบขนานกันยาวประมาณ ๘๐ เมตร
ตามพงศาวดารกล่าวว่า เมือครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช มะกะโท (คนเลี้ยงช้าง) ซึ่งเป็นหนุ่มชาวมอญได้เข้ารับราชการเป็นขุนวัง และมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับนางสร้อยดาว พระธิดาของพ่อขุนรามคำแหงฯ ต่อมาเมื่อครั้งพ่อขุนรามคำแหงฯ ยกทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช มะกะโท จึงลักพาตัวพระราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหงฯ หนีไปอยู่กรุงหงสาวดี และมีหนังสือแจ้งพ่อขุนรามคำแหงฯ ถึงเรื่องราวทั้งหมด ต่อมา มะกะโท ได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ และสร้างเมืองเมาะตะมะขึ้นเป็นราชธานี พ่อขุนรามคำแหงฯ จึงพระราชทานนามให้ว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว เมืองตากในสมัยนั้นถือเป็นชานเมืองของกรุงสุโขทัย ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งออกอาละวาด พ่อขุนรามคำแหงฯทรงทราบ พระองค์จึงได้ประกอบพิธีเสี่ยงสัตย์อธิษฐานว่า หากช้างเผือกเชือกนี้เป็นช้างคู่บุญบารมีของกษัตริย์นครใด ก็ขอให้ช้างเผือกบ่ายหน้าไปในทิศทางนั้น เมื่อสิ้นคำอธิฐานช้างเผือกจึงชูงวงเป็นทักษิณาวรรต เปล่งเสียงร้อง ๓ ครั้ง แล้วเดินบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกถึงชายแดนเมืองตาก พ่อขุนรามคำแหงฯ ทรงแน่พระทัยว่า ช้างเผือกนี้คงเป็นช้างเผือกคู่บารมีของพระเจ้าฟ้ารั่ว จึงแจ้งให้พระเจ้าฟ้ารั่วมารับช้างเผือก ครั้นเมื่อเดินมาถึงเชิงเขาแห่งนี้มีแม่นํ้าขวางกั้นทหารที่ติดตามมาจึงสร้างพะเนียดล้อมช้างเผือกไว้ พ่อขุนรามคำแหงมฯ จึงได้ทำพิธีมอบช้างเชือกให้กับพระเจ้าฟ้ารั่ว ณ ที่บริเวณนี้ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๕ ตอนที่ ๘๘ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ หน้า ๒๑
สวนป่าแม่ละเมา องค์การอุตศาหกรรมป่าไม้ในบรรยกาศธรรมชาติล้อม
รอบด้วยขุนเขา ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ สายแม่สอด–ตาก สวน
ป่าแม่ละเมาเป็นจุดหมายแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการผจญภัย
และต้องการมาสัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ท่ามกลางขุนเขา และลำห้วย
มีบ้านพัก ๑๐ หลัง ราคา ๖๐๐ บาท
กิจกรรมในสวนป่าแม่ละเมา ชมความงามทะเลหมอกยามเช้า เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ล่องแก่งเรือยางชมความงามของธรรมชาติสองฝั่งลำห้วยแม่ละเมา ปั่นจักรยานเสือภูเขา เยี่ยชมวิถีชีวิตชาวเขา “ปากะญอ” บ้านห้วยระพริ้ง และทดสอบความกล้าด้วยการกระโดดหอโรยตัว ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การอุตศาหกรรมป่าไม้ โทร. ๐ ๕๕๕๐ ๐๐๘๓, ๐ ๕๕๕๗ ๗๓๐๙, ๐๘ ๑๙๕๓ ๕๑๓๖ ล่องแก่งเรือยางลำนํ้าแม่ละเมา ลำนํ้าแม่ละเมา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในอำเภอพบพระและอำเภออุ้มผางกระแสนํ้าไหลขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านบ้านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด ไปบรรจบกับแม่นํ้าเมยที่บ้านวังผา อำเภอแม่ระมาด การล่องเรือยางเริ่มต้นที่หลักกิโลเมตรที่ ๕๐ ทางหลวงหมายเลข ๑๐๕ สายตาก-แม่สอด ใช้เวลาประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง ลัดเลาะไปตามเกาะแก่งต่างๆ ผ่านผืนป่าท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิดและพันธุ์ไม้นํ้า อีกทั้งนกนานาชนิดให้ศึกษา