แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านปราสาทใต้ ตำบลธาร ปราสาท จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข ๒ (นครราชสีมา-ขอนแก่น) ถึงกิโลเมตรที่ ๔๔ มีทางแยกซ้ายเข้าไปอีก ๑ กิโลเมตร หากเดินทางโดยรถประจำทางจากกรุงเทพฯ หรือนครราชสีมา ให้นั่งรถสายที่จะไป ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย หรือ กาฬสินธุ์ ลงรถที่กิโลเมตร ๔๔ แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างจากปากทางเข้าหมู่บ้าน บ้านปราสาทนับเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งที่สองต่อจากบ้านเชียง ที่ได้จัดทำในลักษณะพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง จากหลักฐานที่ค้นพบสันนิษฐานว่า มีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์ มีหลักฐานของกลุ่มวัฒนธรรมแบบทวารวดีและแบบเขมรโบราณ ช่วงระหว่าง ๑,๕๐๐-๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว หลุมขุดค้นที่ตกแต่งและเปิดให้ชม มีทั้งหมด ๓ แห่ง คือ
– หลุมขุดค้นที่ ๑ มีโครงกระดูกฝังอยู่ในชั้นดินแต่ละสมัย แต่ละยุคมีลักษณะการฝังที่ต่างกันไป ยุค ๓,๐๐๐ ปี อยู่ในชั้นดินระดับล่างสุดลึก ๕.๕ เมตร โครงกระดูกจะหันหัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ยุค ๒,๕๐๐ ปี หันหัวไปทางทิศตะวันออก ยุค ๒,๐๐๐ ปีหันหัวไปทางทิศใต้ แต่คติในการฝังจะคล้ายกันคือจะนำเครื่องประดับ เช่น กำไลเปลือกหอย ลูกปัด แหวนสำริด กำไลสำริด เครื่องประดับศีรษะทำด้วยสำริดและภาชนะของผู้ตายฝังร่วมไปด้วยกับผู้ตาย ในช่วงสามระยะแรกนี้ เป็นภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง แบบลายเชือกทาบ ลักษณะหลักของภาชนะเป็นแบบคอแคบปากบาน แต่บางใบมีทรงสูงเหมือนคนโท บางชิ้นมีลักษณะเป็นทรงกลมสั้น ต่อมาในยุค ๑,๕๐๐ ปี นั้นลักษณะภาชนะจะเปลี่ยนเป็นแบบพิมายดำ คือ มีสีดำ ผิวขัดมัน เนื้อหยาบบาง – หลุมขุดค้นที่ ๒ ในดินชั้นบนพบร่องรอยของศาสนสถานในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๖ เรียกกันว่า “กู่ธารปราสาท” และพบเศียรพระพุทธรูปในสมัยเดียวกัน ศิลปะทวารวดีแบบท้องถิ่น นอกจากนี้ยังพบรูปปั้นดินเผาผู้หญิงครึ่งตัวเอามือกุมท้องลักษณะคล้ายตั้งครรภ์ และชิ้นส่วนลายปูนปั้นประดับปราสาท
– หลุมขุดค้นที่ ๓ พบโครงกระดูกในชั้นดินที่ ๕.๕ เมตร เป็นผู้หญิงทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่ากระดูกทุกโครงในหลุมนี้ไม่มีศีรษะ และภาชนะนั้นถูกทุบให้แตกก่อนที่จะนำลงไปฝังด้วยกัน นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตและนำศีรษะไปแห่ประจาน และได้พบส่วนกะโหลกอยู่รวมกันในอีกที่หนึ่ง ซึ่งห่างจากจุดเดิมเพียง ๕๐๐ เมตร ชาวบ้านปราสาทจะร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในวันที่ ๒๑ เมษายน ของทุกปี
โฮมสเตย์บ้านปราสาท (แหล่งพักชุมชนบ้านปราสาท) ตำบลปราสาท ประกอบด้วยหมู่บ้านปราสาทเหนือและหมู่บ้านปราสาทใต้ซึ่งอยู่ติดกัน แต่ชุมชนที่ทำโฮมสเตย์ คือ บ้านปราสาทใต้กิจกรรมนี้เริ่มจากการที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำชาวต่างชาติไปพักค้างแรมเป็นครั้งคราว และทำเป็นกิจกรรมต่อเนื่องอย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จนปัจจุบันบ้านปราสาทเป็นตัวอย่างสำหรับหมู่บ้านอื่นทั่วประเทศ นิยมมาศึกษาดูงานเพื่อนำไปปรับใช้กับหมู่บ้านของตนเป็นการเพิ่มรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ในชุมชน ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การมาพักคือระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งอากาศกำลังเย็นสบาย
ชาวบ้านปราสาทก็เหมือนกับหมู่บ้านอีสานทั่วไปที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา โดยทำนากันเพียงปีละครั้ง ยามว่างชาวบ้านมักประกอบอาชีพทำหัตถกรรมเสริมรายได้ บ้างสานเสื่อกก สานหมวก หรือสานรองเท้า กระเป๋า บางบ้านเลี้ยงไหมทอผ้า บ้างทำเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสาย มีทั้งซออู้และซอด้วง บรรยากาศโดยรอบของหมู่บ้านจะเป็นทุ่งนา มีธารปราสาทที่เชื่อว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่านแบ่งเขตแดนบ้านปราสาทเหนือและใต้ เป็น ๑ ในแม่น้ำ ๙ สายที่น้ำไปใช้ในพิธีกรรมในราชสำนัก แม่น้ำสายนี้จะไหลไปรวมกับแม่น้ำมูล ชาวบ้านได้อาศัยจับปลาจากแม่น้ำมาเป็นอาหาร
สนใจร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชนบทติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่เทียม ละอองกลาง โทร. ๐๘ ๙๓๘๑ ๗๘๗๐ ๐ ๔๔๓๖ ๗๐๗๕ หรือ อาจารย์จรัญ จอมกลาง โทร. ๐ ๔๔๓๖ ๗๐๖๒, ๐๘ ๑๗๒๕ ๐๗๙๑