วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ ตั้งอยู่เลขที่ ๗๕ หมู่ ๔ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย ตำบลโสนลอย วัดแห่งนี้เดิมเป็นเพียงโรงเจขนาดเล็ก ต่อมาเจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ร่วมกับพุทธบริษัทไทย-จีน ได้พัฒนาเป็นวัดที่สมบูรณ์สวยงามในเนื้อที่รวม ๑๒ ไร่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง ๑๒ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯแทนพระองค์ ประกอบพิธีสมโภชเปิดวัดบรมราชากาญจนภิเษกอนุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมใน ยุคหมิง-ชิง โดยจำลองมาจากพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง มีความสง่างามและมีรายละเอียดการตกแต่งที่ประณีตยิ่ง โดยทางวัดได้เชิญช่างฝีมือชั้นครูจากประเทศจีนมาดำเนินการก่อสร้างโดยตรง วิหารแต่ละหลัง ประดับด้วยลวดลายภาพเขียนสีพุทธศิลป์แบบจีนใช้สีน้ำเงิน แดงและทองเป็นหลัก ตามผนังและเพดานมีคาถา โอม มา นี ปะ หมี่ ฮง เป็นตัวอักษรสีทอง ที่เชื่อว่าขับไล่สิ่งชั่วร้ายต่างๆ ได้ หลังคาวิหารมุงด้วยกระเบื้องเผาแบบจีน สีเหลืองเข้ม ที่ตรงมุมหลังคาทั้ง ๔ มุมประดับด้วยรูปสัตว์มงคล ได้แก่ เทวดาขี่หงส์ มังกร สิงโต ม้าน้ำ ม้าเทวดา แพะเทวดาเขาเดียว กระทิงเทวดา ปลาเทวดาและนกเค้าแมว นอกจากนี้รายรอบพระวิหาร ประดับด้วยหินแกะสลักต่างๆ มากมายซึ่งล้วนนำมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเหมาะอย่างยิ่งแก่การศึกษาพุทธศิลป์ของจีน
ภายในวัดประกอบด้วยอาคารหลัก ได้แก่
วิหารท้าวจตุโลกบาล เป็นที่ประดิษฐานของพระโพธิสัตว์และเทพต่างๆ ที่พิทักษ์ปกปักษ์พระพุทธศาสนา ด้านข้างวิหารเป็นหอกลอง และหอระฆัง พระอุโบสถ เป็นอาคารหลังใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ประดิษฐานพระประธาน ๓ องค์ คือ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระอมิตาภพุทธเจ้า และ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้าซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอดีต แต่ละองค์มีความสูง ๔.๓๐ เมตร นับเป็นพระประธานแบบจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพุทธลักษณะที่เด่นเป็นสง่า พระพักตร์มีเมตตากรุณา ด้านข้างของพระประธานทั้งสองด้าน เป็นเสาขนาดใหญ่ มีกลอนอักษรจีน ตามผนังประดับด้วยแผ่นไม้สักแกะสลัก ๗ ชิ้นเป็นเรื่องราวพระพุทธเจ้าในอดีต พระอรหันต์ และจตุมหาบรรพตหรือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ๔ แห่ง ส่วนด้านนอกของพระอุโบสถมีเสมาเป็นศิลปะแบบจีนอยู่ทั้งสองด้าน วิหารอวโลกิเตศวรสหัสกรสหัสเนตรมหาโพธิสัตว์และวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ เป็นอาคารสองชั้นอยู่ด้านหลังถัดจากพระอุโบสถ ด้านล่างเป็นวิหาร อวโลกิเตศวรสหัสกรสหัสเนตรมหาโพธิสัตว์ เมื่อขึ้นบันไดไปด้านบนจะเป็นวิหารสุขาวดีหมื่นพุทธ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระอมิตาภพุทธเจ้า พระอวโลกิเตศวร และพระมหาสถานปราบต์โพธิสัตว์ ตามผนังวิหารด้านในรายล้อมพระพุทธรูปเล็ก ๆ หนึ่งหมื่นพระองค์ วิหารแห่งนี้เปรียบเสมือนดินแดนสุขาวดี ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของโลกมนุษย์ เชื่อกันว่าผู้ที่บำเพ็ญภาวนา จะได้ไปเกิด ณ ดินแดนสุขาวดีซึ่งมีแต่ความสุข
นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่นๆ อาทิ หอธรรม วิหารบูรพาจารย์และโรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดเปิดให้เข้าชม วันจันทร์-ศุกร์เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดที่ โทร. ๐ ๒๕๗๑ ๑๑๕๕, ๐ ๒๙๒๐ ๒๑๓๑ โทรสาร ๐ ๒๕๗๑ ๑๑๕๕ หรือ www.watboromracha.org
การเดินทาง จากตัวเมืองนนทบุรี ไปตามถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามสะพานพระนั่งเกล้าฯ ถึงสี่แยกบางพลู เลี้ยวขวาไปยังอำเภอบางบัวทอง ทางเข้าวัดจะอยู่ด้านซ้ายมือก่อนถึงโรงเรียนเทศบาลวัดละหาร หรือ หากเดินทางจากกรุงเทพฯ มาตามถนนกาญจนาภิเษก (ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี) กลับรถเลี้ยวเข้าตามเส้นทางไปโรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ ผ่านศูนย์เยาวชน
เทศบาลไปยังวัดได้เช่นกัน
วัดบางไผ่ เป็นวัดพระอารามหลวง มีเนื้อที่ ๓๘ ไร่ ก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๙ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดยแม่ทัพนายกองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมทีบริเวณนี้เต็มไปด้วยดงกอไผ่ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เสด็จเป็นประธานวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันจันทร์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ เวลา ๑๕.๑๙ น. และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก. ติดที่หน้าพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๔
ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริม เหล็กกว้าง ๑๐.๗๐ เมตร ยาว ๒๘.๙๐ เมตร พื้นปูด้วยหินอ่อน บานหน้าต่างและประตูเป็นลวดลายไทยปิดทอง ประดับกระจก ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศรีนพรัตนมุนี ซึ่งเป็นองค์พระประธาน พระพุทธรังสีมงคล พระพุทธรัตนมงคล สมเด็จพระโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานผ้าทิพย์ประดับพระนามาภิไธยย่อ ม.ว.ก. หน้าพระประธาน นอกจากนี้ยังมีพระพุทธชิรญานมงคลพระแก้วมรกตทรงเครื่องฤดูร้อน จำลองพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ผนังภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในส่วนของประตูและหน้าต่างประดับด้วยลวดลายแกะสลักอย่างงดงาม บริเวณข้างพระอุโบสถมีศาลารายล้อมรอบทั้งสี่มุม ภายในศาลารายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทุกศาลา ลักษณะเด่นของวัดที่เห็นได้ชัดเจนในระยะไกลนั่นก็คือ “กำแพงวัด” ที่มีลักษณะสร้างเลียนแบบป้อมปราการของทหาร มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๓ ป้อม
หลวงพ่อทองคำ พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่า เป็นพระพุทธรูปโบราณอายุหลายร้อยปี เชื่อกันว่ากรุงศรีอยุธยาเป็นผู้จัดสร้างขึ้นแล้วนำล่องเรือมาเพื่อหลบหนีจากภัยสงครามพม่า มาประดิษฐานไว้ที่วัดบางไผ่แห่งนี้ ซึ่งไม่มีใครทราบมาก่อนว่าภายในองค์พระเป็นเนื้อทองคำขนาดหน้าตัก ๒๔ นิ้ว ปัจจุบันยังประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหลังเก่า
พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าศิลปะสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง ๓๖ นิ้ว เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในชุมชนบางไผ่และชุมชนใกล้เคียง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลังคามุงกระเบื้อง ภายในประดิษฐานพระแก้วมรกตทรงเครื่องหน้าฝน พระประจำวันเกิด ถาวรวัตถุอื่นๆ หอพิพิธภัณฑ์ ศาลาราย เจดีย์ หอระฆัง หอกลอง มณฑปเป็นต้น http://watbangpai.weebly.com