ตลาดน้ำบางคูเวียง ตั้งอยู่ปากคลองบางคูเวียง ตำบลบางคูเวียง ตลาดจะมีช่วงเช้าระหว่างเวลา ๐๖.๐๐- ๐๘.๐๐ น. ชาวบ้านจะนำผลไม้ตามฤดูกาลบรรทุกเรือมาค้าขายกันที่นี่ นอกจากนี้ยังมีอาหารและสินค้าอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ทุกเช้าพระภิกษุจากวัดบริเวณใกล้เคียงจะออกบิณฑบาตโดยใช้เรือลำเล็ก ๆ เป็นพาหนะ นับเป็นภาพชีวิตแบบไทยที่นับวันจะหาดูได้ยาก
การเดินทาง
-โดยสารเรือจากท่าน้ำวัดชะลอ อำเภอบางกรวย ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที ค่าโดยสารคนละ ๕ บาท ออกทุกๆ ๑๕ นาที ระหว่าง ๐๕.๐๐-๒๐.๐๐ น.
-โดยสารเรือจากท่าน้ำนนทบุรี (ท่าพิบูลสงคราม ๒) ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที ค่าโดยสารคนละ ๕ บาท กรณีเช่าเรือเหมาลำใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ค่าเช่าประมาณ ๓๐๐ บาท
-เช่าเรือจากท่าช้าง กรุงเทพฯ ใช้เส้นทางคลองบางกอกน้อย-คลองอ้อม ตลาดน้ำ บางคูเวียงใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ค่าเช่าเรือประมาณ ๓๐๐ บาท
วัดชลอ ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดชลอ วัดนี้มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงเสด็จทางชลมารค มาตามลำน้ำเจ้าพระยาผ่านจังหวัดนนทบุรีเรื่อยมาทางคลอง “ลัด” ในปัจจุบันเรียกว่า “คลองบางกรวย” พระองค์ทรงเห็นว่า ที่ตรงนี้น่าจะมีการสร้างวัดขึ้นมาสักวัดหนึ่ง แต่เนื่องจากบริเวณนั้นในอดีตเคยมีเรือสำเภาจาก เมืองจีนล่มและจมลง มีลูกเรือล้มตายมาก มีความเชื่อว่าเป็นที่อาถรรพ์ ในระหว่างการก่อสร้างก็มีอุปสรรคนานัปการ จึงทรงเสี่ยงสัตยาธิษฐานกับเทพยดาและมีพระสุบินนิมิตไปว่า ชายจีนชรามากราบทูลว่า ต้องสร้างโบสถ์ เป็นรูปเรือสำเภาเพื่อการแก้เคล็ด จึงทรงสร้างโบสถ์เป็นรูปเรือสำเภา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงพระราชทานนามวัดดังกล่าวว่า “วัดชลอ” วัดชลอถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่ามาโดยตลอดเพิ่งจะมีพระภิกษุมาจำพรรษาในรัชกาลที่ ๓ หรือ รัชกาลที่ ๔ สิ่งที่น่าชมในวัดนี้คือ โบสถ์เรือหงส์ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มก่อสร้างในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ โดยหลวงพ่อวัดชลอหรือท่านพระครูนนทปัญญาวิมล ได้เล่าถึงนิมิตรเห็นเรือหงส์ลอยมาอยู่หน้าโบสถ์หลังเก่า (โบสถ์ที่มีลักษณะเหมือนเรือสำเภา) จึงได้เริ่มลงมือก่อสร้าง สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๔๔๗ ๕๑๒๑, ๐ ๒๘๘๓ ๙๒๗๗
วัดโพธิ์บางโอ ตั้งอยู่ในถนนเส้นบางกรวย-ไทรน้อยตำบลวัดชลอ หรือ หากไปทางน้ำต้องเดินจากท่าเรือเข้าไปประมาณ ๒๐๐ เมตร เป็นวัดเก่าในสมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยกรมหลวงเสนีบริรักษ์ (ต้นสกุล เสนีวงศ์) พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง
พระอุโบสถ ทำชายหลังคาของพาไลรอบพระอุโบสถแบบวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หน้าบันสลักไม้รูปนารายณ์ ทรงครุฑลายกนกขมวดเกี่ยวพันกัน เบื้องหลังมีเทพพนมและยักษ์พนม ซุ้มประตูทางเข้าวัดทำเป็นหัวเม็ด เป็นเสาสี่เหลี่ยมย่อมุม ๑๒ สูงขึ้นและเอนเข้าหากัน เพื่อเป็นการรับน้ำหนักของตัวอาคาร เสาใกล้จะถึงส่วนหลังกำแพงแก้วมีบัวหงาย รองรับอีกต่อหนึ่งแปลกตากว่าที่อื่น เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย ลักษณะศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย สังเกตได้จากซุ้มเสมาทรงกลมตลอด ฐานของซุ้มก็ทรงกลมตัวซุ้มแหวะ เป็นช่องหน้าต่างสามช่อง ทรงยอดโค้งคล้ายซุ้มจระนำ (ซุ้มคูหาเล็กๆที่มีหลังคาครอบ ทำยื่นออกมาจากอาคารติดผนังองค์เจดีย์หรือท้ายโบสถ์วิหาร เพื่อตั้งพระพุทธรูป) หันหลังชนกัน สามทิศ ข้างบนมียอดเล็กๆ ปั้นปูนลวดลายงดงาม รับกับบัวยอดซุ้มและแข้งสิงห์เบื้องล่าง ศิลปะรูปปั้นงามนี้เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายลักษณะลวดลายบ่งชัดว่าเป็นฝีมือช่างสมัยพระบรมโกศ ใบเสมาเป็นหินทรายทำรูปหัวนาคออกสองข้างเอวเสมาเหมือนกันแต่ทรงด้านบนอวบอ้วน ใบเสมาแบบนี้อายุเก่ากว่าใบเสมาสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ใบเสมาช่วงหลังจะทรงเพรียวกว่า มีเจดีย์ทิศล้อมรอบตัวพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน ซุ้มบันแถลงประดับกรอบประตูหน้าต่างทำจากปูนน้ำอ้อย บานประตูพระอุโบสถทั้งหน้าและหลังมีด้านละสองบาน ปั้นปูนซุ้มประตูเป็นรูปฤาษีพนมและบางซุ้มก็ทำรูปเทวดารำอยู่กลางซุ้ม เข้าใจว่าเป็นฝีมือปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ บานประตูเขียนลายทองรูปกนกใบเทศลายละเอียดมาก บนหน้าต่างก็เขียนลายทอง คือเป็นลายรดน้ำเช่นเดียวกับประตู ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมแป้งสาคูเปียกฝีมือช่างสกุลนนทบุรี
ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมไป แต่กรมศิลปากรกำลังบูรณะอยู่ ภาพระหว่างช่องหน้าต่างเขียนรูปปริศนาธรรม ผนังด้านซ้ายพระประธาน เขียนรูปพระปลงกัมมัฏฐานในลักษณะหลายแบบหลายวิธี ผนังด้านหน้าเขียนรูปพุทธประวัติแสดงถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ของพระพุทธองค์ พระพุทธรูปในพระอุโบสถ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่หน้าพระอุโบสถยังมีรูปสลักหินทำจากเมืองจีน คล้ายเป็นรูปยักษ์รักษาวัด ตนหนึ่งหน้าดุอีกตนหนึ่งหน้ายิ้ม มือถือกระบองด้วยกันทั้งคู่เป็นศิลปะอันงดงามเป็นของประจำ วัด ซึ่งตามวัดในอาณาบริเวณแถบนี้ไม่มีภาพสลักชนิดนี้ หอระฆังวัดโพธิ์บำงโอ หอระฆังที่วัดนี้เป็นสกุลช่างเมืองนนทบุรีทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชชนนีเป็นสกุลฝ่ายเมืองนนทบุรี จึงทรงอุปการะการสร้างวัดในเขตนนทบุรี แบบมณฑปยอดเจดีย์ผสมกันระหว่างหอสูงรูปสี่เหลี่ยมและเจดีย์ย่อมุม
การเดินทาง
รถยนต์ จากสะพานพระนั่งเกล้าถึงสี่แยกบางบัวทอง เลี้ยวซ้ายเข้าบางกรวย ๑๗ กิโลเมตร ผ่านวัดชลอ แยกขวาเข้าที่ว่าการอำเภอ ตรงไป ๕๐๐ เมตรจะพบวัดโพธิ์บางโอทางขวามือ หรือ จากสะพานพระราม ๗ ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เข้าเส้นบางกรวยไปจนถึงสี่แยกก่อนเข้าที่ว่าการอำเภอ จะเห็นป้ายวัดชลอเลี้ยวขวา ไปประมาณ ๑ กิโลเมตร
เรือ ลงเรือจากท่าช้าง สายท่าช้าง-บางกอกน้อย-บางใหญ่ ตั้งแต่เวลา ๐๖.๓๐-๒๓.๐๐ น. เรือออกทุกครึ่งชั่วโมง (หลัง ๑๑.๐๐ น. มีผู้โดยสารเต็มจึงออก) เวลาที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยว คือ ๐๘.๓๐-๑๕.๓๐ น. วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ มีป้ายชื่อวัดติดอยู่ที่ศาลาเห็นถนัดชัดเจน
วัดสักใหญ่ ใช้เส้นทางเดียวกับวัดโพธิ์บางโอ อยู่ห่างจากวัดโพธิ์บางโอประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นโดยพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมกับบรรพบุรุษในถิ่นนี้จัดสร้างวัดสักใหญ่ขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๗ วัดสักใหญ่ “หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ ภาพพุทธประวัติล้ำค่า อุทยานปลาน่าชม เดินทางสวนผลไม้และไม้ดอกงามตา”
หลวงพ่อสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่งามยิ่งองค์หนึ่งสันนิษฐานว่าสร้างประมาณ ปี พ.ศ. ๑๙๐๐-๒๐๐๐ เป็นพระพุทธรูปตอนปลาย ในสมัยพระมหาธรรมราชาพุทธลักษณะสวยงาม สมสัดส่วนกล่าวคือมีพระพักตร์คล้ายใบหน้าสตรี ประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัยองค์พระถูกห่อหุ้มด้วยปูน สันนิษฐานว่าเมื่อคราวพม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ประชาชนตลอดจนพระภิกษุช่วยกันพอกปูน เพื่อให้พม่าคิดว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นครั้นอยู่ต่อมาปูนที่ได้พอกพระพุทธรูปได้กระเทาะออก ส่งผลให้เห็นสัมฤทธิ์แก่ทอง อยู่ด้านใน จึงทำการกระเทาะปูนออกและลงรักปิดทองใหม่ พุทธศาสนิกชนนิยมมากราบไหว้ สรงน้ำ ปิดทองเป็นประจำทุกๆ ปีภายในอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ สร้างขึ้นมาพร้อมกับการสร้างวัดสักใหญ่และภาพพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเปิดโลกและพระบรมธาตุที่สำคัญของเมืองไทย
อุทยานปลาน้ำจืด ซึ่งอยู่ข้างๆ กับพระอุโบสถภายในบ่อ มีปลาหลายชนิดและมีปลาขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ย ๑๐-๒๐ กิโลกรัม โดยทางวัดมีอาหารจำหน่าย นอกจากนี้หลังวัดยังมีบ่อเต่าขนาดใหญ่ มีเต่าและตะพาบน้ำอาศัยอยู่มากมาย ชมสวนผลไม้และไม้ดอก ซึ่งอยู่ทางหลังวัดสักใหญ่ ซึ่งชาวบ้านปลูกกันไว้มีผลไม้มากมายหลายหลากชนิด เช่น ส้มโอ ขนุน มะม่วง มะพร้าวอ่อน ชมพู่และไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด นักท่องเที่ยวสามารถเลือกชมและเลือกซื้อได้
โบราณสถานวัดเพลง อยู่ข้างหลังวัดสักใหญ่ เป็นวัดร้างเหลืออยู่แต่อุโบสถซึ่งมีต้นไม้ปกคลุมอยู่มีหลวงพ่อดำเป็นพระประธานในอุโบสถ โดยมีสวนชาวบ้านล้อมรอบบริเวณวัดเพลงไว้ บริเวณวัดเพลงแห่งนี้จึงร่มรื่น เหมาะแก่การมากราบพระและชมธรรมชาติ
โบราณสถานวัดสักน้อย ตั้งอยู่ในบ้านเลขที่ ๒๐ หมู่ ๙ ตำบลวัดชลอ เดินทางจากวัดโพธิ์บางโอมาประมาณ ๗๐๐ เมตร เป็นวัดร้าง เหลือแต่วิหารเก่าชำรุด วิหารวัดสักน้อยมีอายุประมาณ ๑๐๐ กว่าปีก่ออิฐถือปูน หลังคาวัดพังหมดแล้ว สภาพปัจจุบันทรุดโทรมมากไม่มีรูปแบบศิลปกรรมหลงเหลือ มีต้นไทรเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมไปทั่ว เป็นที่ศาสนสมบัติวัดร้างของกรมศาสนา พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิท ได้ทรงนิพนธ์ถึงวัดสักน้อยไว้ในนิราศพระประธม พ.ศ. ๒๓๗๗
“ดลวัดสักน้อยน่างง อนาถใจ
น้อยศักดิ์จึงโศกใน อกอึ้ง
เจ็บรักจากจักไกล กลอยเสน่ห์มาแน่
โศกไม่น้อยหนักตรึง ตราตรึง ทรวงเสมอ”
วัดเพลง เป็นวัดร้างตั้งอยู่ตำบลบางขนุน ริมคลองวัดสักใหญ่ สามารถเข้าทางวัดสักใหญ่ สันนิษฐานตามลักษณะสถาปัตยกรรมและลายปูนบนพื้นที่เหลืออยู่ว่า สร้างขึ้นในสมัยพระนารายณ์มหาราชและอาจมีสภาพเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามระหว่างไทยกับพม่าเมื่อคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ โดยทัพพม่าจากทางใต้มีมังมหานรธา เป็นแม่ทัพนำทัพผ่านเมืองนนทบุรี ได้ตั้งค่ายรบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเขมาภิรตารามและทำการรบกับอังกฤษซึ่งอาสาไทยรบกับพม่า ผู้คนเกิดกลัว หนีพม่าไปจนทำให้วัดร้าง นางสาย เลี่ยมนุช ปัจจุบันอายุ ๙๐ ปี ผู้เช่าที่ดินของวัดจากกรมศาสนาทำ สวนมาตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๘๕ เล่าว่าได้ยินผู้คนในแถบนั้น เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมวัดเพลง มีชื่อวัดทองเพลง และมีคำกล่าวถึงวัดอยู่เสมอว่า “วัดทองเพลงต้มเหล้ากินเอง ปีหนึ่งรับกฐินสองไตร” หมายความว่าปีหนึ่งที่วัดเพลงแห่งนี้จะได้รับกฐินจากกรุงศรี (ชาวเมืองนนทบุรี เรียกกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นว่า เมืองบน) และจากชาวบ้านชุมชนรอบวัด นับเป็นวัดที่มีสิทธิพิเศษมาก ซึ่งปกติวัดแต่ละวัดจะได้รับกฐินเพียงครั้งเดียว
โบราณสถานที่สำคัญมีดังนี้ พระอุโบสถหลังใหญ่ สูงมาก ขนาด ๖ ห้อง ตรงมุมย่อมุมไม้สิบสองเสา ซุ้มประตูประดับลายปูนปั้นงดงาม คานไม้ตรงซุ้มประตูเป็นไม้มีลวดลายลงรักปิดทองกนกเปลวเพลิง ฝาผนังด้านในและพระประธาน ยังมีร่องรอยจิตรกรรม หลงเหลืออยู่รางๆ เป็นลายดอกไม้ร่วงบนพื้นสีแดง สภาพอุโบสถชำรุดมาก เหลือเพียงฝาผนังทั้งสี่ด้านไม่มีหลังคา บานประตูหน้าต่างมีต้นไทรปกคลุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รากไทรได้ยึดฝาผนังไว้ไม่ให้พังลงมามองดูคล้ายปราสาทของขอม
พระอุโบสถ ประดิษฐาน หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปสูง ปางมารวิชัย ทำ ด้วยหินทรายแดง หุ้มปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓ ใน ๔ ของความกว้างพระอุโบสถ พระพุทธลักษณะของพระพักตร์ พระโอษฐ์ และพระเกศ เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง มีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในชุมชน ในระหว่างพรรษาของทุกปีทางวัดแก้วฟ้า (ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน) ได้จัดพระสงฆ์ สามเณร ไปจุดธูปเทียนพรรษาบูชาอยู่เสมอ
ใบเสมา ทำจากหินทรายแดง ตั้งอยู่ตามมุมพระอุโบสถ เหลือเพียงแท่นฐานตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์โหย่ง ๔ ฐาน ส่วนใบเสมานั้น วัดสักใหญ่ได้มาขุดออกจากฐานนำไปเก็บไว้ที่วัดสักใหญ่ เพื่อใช้เป็นใบเสมา ตั้งรายรอบพระอุโบสถหลังใหม่ แต่ไม่สามารถตั้งขึ้นบนฐานที่สร้างวัดใหม่ จึงกองทิ้งไว้ในบริเวณวัดสักใหญ่ ใบเสมาบางอันยังมีสภาพสมบูรณ์เห็นลวดลายชัดเจนและอีกหลายอันแตกออกเป็นชิ้น
หอระฆัง เป็นหอระฆังเล็กๆ ตั้งอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ เดิมมียอดและบันได ปัจจุบันเหลือแต่เพียงซากปรักหักพัง
วัดบางขนุน ตั้งอยู่ที่บ้านบางขุนกอง ตำบลบางขนุนชม “หินบดยา” (ยา แพทย์แผนโบรำณ) ลักษณะหินบดยา ทำเป็น ๓ ชุด ชุดหนึ่งมีอุปกรณ์ ๓ ชิ้น คือ แท่งหินบด แท่นหินรองบด และไม้สำหรับวางแท่นหินบด แท่งหินบดทำมาจากทรายสีแดงเป็นก้อนสี่เหลี่ยมยาวประมาณ ๑ ฟุต หนา ๑ คืบ ไม้สำหรับวางแท่นหินบดรูปร่างคล้ายกับตั่งนั่ง เป็นไม้เนื้อแข็งสันนิษฐานว่าจะเป็นไม้สักเพราะมีน้ำหนักเบาตัวมอดไม่กิน ไม่ผุกร่อน ยังมีสภาพสมบูรณ์ใช้การได้ดีวิธีการบดใช้แรงงานคน เมื่อบดให้ละเอียดแล้วจึงนำไปผสมเป็นตัวยาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บตามที่ต้องการ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๑ เจ้าอาวาสบางขนุน (ปัจจุบันมรณภาพไปแล้ว) มีความรู้เรื่องยาแผนโบราณเพราะที่วัดมี “สมุดไทย”(สมุดข่อย) ที่เป็นตำาราแพทย์โบราณ ซึ่งที่วัดมีอยู่หลายฉบับ เช่น ตำราเจ็ดคัมภีร์ และภาพทศชาติ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ตำราแพทย์โบราณ ตำรากฎหมาย และตำราโหราศาสตร์สร้างขึ้นประมาณสมัยรัชกาลที่ ๖-๗ ปัจจุบันยังคงเหลือเป็นบางฉบับเท่านั้น และฉบับที่นับว่าสำคัญคือ ตำราเจ็ดคัมภีร์และภาพทศชาติ นอกจากนี้ที่วัดยังมี “ธรรมาสน์”(ที่นั่งเดี่ยวสำหรับพระสงฆ์นั่งเทศนา) สมัยอยุธยาตอนปลาย สีสันสวยงามแกะสลักลวดลายดอกไม้วิจิตร
วัดกระโจมทอง อยู่ที่ตำบลวัดชลอ ริมคลองบางกรวย วัดกระโจมทองสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๐ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง) สมัยอยุธยาตอนต้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ พระวิหารหลวงพ่ออู่ทอง วัดนี้เป็นวัดที่ร่วมสมัยกับวัดปรางค์หลวงที่อำเภอบางใหญ่ มีตำนานเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าอู่ทองเช่นเดียวกันเดิมเคยเป็นที่ตั้งกระโจมที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ลักษณะพระวิหารหลวงพ่ออู่ทอง คล้ายพระอุโบสถขนาดเล็กบรรจุพระสงฆ์ได้ประมาณ ๒๑ รูป ฝาผนังหนาประมาณ ๘๐ เซนติเมตร สภาพชำรุดเหลือผนังด้านข้างกับด้านหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอู่ทองยุคต้น จำนวน ๓ องค์ พระพุทธรูปองค์กลางมีขนาดใหญ่เรียกว่า หลวงพ่ออู่ทอง คนในชุมชนมีความศรัทธาและมีความผูกพันมาก ได้ร่วมกันสละทรัพย์ที่จะสร้างพระวิหารใหม่ครอบพระวิหารเก่าไว้เป็นมรดกชุมชนสืบไป แต่ยังมีปัญหากับทางวัดที่มีความคิดเห็นในเรื่องการก่อสร้างไม่ตรงกัน และคนในชุมชนต่างมีความคิดเห็นว่าเศียรของพระพุทธรูปทั้ง ๓ องค์ ได้ถูกขโมยตัดเศียรไปแล้ว โดยวิธีสับเปลี่ยนนำเศียรใหม่มาต่อไว้แทน (ทำจากวัสดุปูนปั้นปลาสเตอร์) เนื่องจากมีพุทธลักษณะเปลี่ยนไปไม่เหมือนกับของเดิมตามที่มีการบันทึกรูปภาพไว้
วัดแก้วฟ้า ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ตำบลบางขนุน วัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๐๙๕ สมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ชื่อ “วัดแก้วฟ้า” น่าจะเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน พระราชโอรสองค์ใหญ่ คือ พระแก้วฟ้าพระชนม์ได้ ๑๓ พรรษาได้รับการสถาปนาให้ขึ้นครองราชย์แทนได้ ๑ ปี ๒ เดือน ถูก ขุนวรวงศาธิราชประหารชีวิตแล้วขึ้นครองราชย์แทน ต่อมาขุนวรวงศาธิราช ถูกขุนพิเรนทรเทพจับฆ่าเอาศพเสียบประจาน แล้วสถาปนาพระเฑียรราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระไชยราชาธิราชขึ้นครองราชย์แทนเป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
โบราณสถานสำคัญภายในวัดแก้วฟ้า ได้แก่ พระประธาน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย ปางมารวิชัย เรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ มี อุโบสถหลังเก่า สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๑๑๔ เป็นอาคารเครื่องก่อแบบผนังรับน้ำหนักขนาด ๕ ห้อง ฐานแอ่นโค้งทรงเรือสำเภาด้านหน้ามีพาไล ฝาผนังหุ้มกลอง ก่ออิฐจรตอกไก่ มีประตูด้านหน้า ๒ บาน ด้านหลังเป็นผนังทึบ มีช่องเล็ก ๆ หลังพระประธาน ๑ ช่อง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๑๑ องค์ และพระอัครสาวก ๒ องค์ รอบอุโบสถมีใบเสมาหินทรายแดง ลวดลายจำหลักตั้งอยู่บนฐานขาสิงห์ มีซุ้มทรงกูบช้างทวิมุข
กำแพงแก้วลักษณะบัวหลังเจียด บริเวณทางเข้ากำแพงเป็นหัวเสาเม็ดทรง มัณฑ์อยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๑ ช่อง มุมกำแพงแก้วด้านละ ๔ มุม มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่นอกกำแพงแก้ว ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานสิงห์ยอดบัวตั้งอยู่ ๑ องค์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๔๔๗ ๕๔๔๖, ๐ ๒๘๗๙ ๙๙๗๑
วัดบางอ้อยช้าง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางสีทอง วัดนี้มีรอยพระพุทธบาทหล่อด้วยทองสำริด ขนาด ๕๔ นิ้ว กว้าง ๑๙ นิ้วครึ่ง เป็นโบราณวัตถุทางศาสนาที่มีอายุเก่าแก่กว่า ๒๐๐ ปี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านบางอ้อยช้าง รอยพระพุทธบาทวัดนี้สันนิษฐานว่าพระอธิธรรมทองอยู่ อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกท่านได้ธุดงค์ขึ้นไปทางภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลกเพื่อไปหาไม้มาสร้างวัดบางอ้อยช้าง และได้ไปพบรอยพระพุทธบาทและพระศรีรัตนศาสดาพร้อมกัน ท่านเห็นว่าโบราณวัตถุทั้ง ๒ อย่าง นี้เป็นสิ่งล้ำค่าและสวยงามมาก ทั้งขาดการบำรุงรักษาท่านจึงได้อาราธนาลงแพไม้มาและนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดบางอ้อยช้าง ในปีพ.ศ. ๒๕๓๕ พระมหาวิบูลย์ฉายา ธมมโชโต เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้จัดสร้างพระมณฑปเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท โดยได้รับความร่วมมือทั้งกำลังความคิด กำลังทรัพย์และกำลังกายจากประชาชน เป็นพระมณฑปที่ ตกแต่งด้วยศิลปวัฒนธรรมแบบไทยเดิมบรรจงสร้างอย่างสวยงามวิจิตรบรรจงเหมาะสำหรับเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอย่างภาคภูมิใจและสมเกียรติ
วัดศรีประวัติ ตั้งอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์หรือคลองขุด ตำบลปลายบาง เดิมประชาชนถิ่นนี้ เรียกว่า “วัดช่องลม” หรือ “วัดกลางทุ่ง” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดศรีประวัติ” ภายในวัดมีเจดีย์ทรงระฆังสูงเด่นและมีรูปปั้นหลวงพ่อโอภาสี ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ผู้มีเมตตาสูง สามารถเยี่ยมชมกราบนมัสการพระประธานพุทธศรีประวัติมงคลภายในพระอุโบสถอันสวยงาม ชมศาลเจ้าแม่กวนอิมให้เคารพสักการะอีกด้วย พร้อมทั้งมีโบราณสถานให้เยี่ยมชมอีกมากมาย และเที่ยวชมตลาดน้ำศรีประวัติซึ่งมีสินค้าซื้อขายมากมาย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๒๙๐๓ ๘๒๙๔, ๐ ๒๙๐๓ ๘๙๖๘
วัดบางไกรใน เดิมชื่อวัด “วัดนายไกร” ตั้งอยู่ริมคลองบางไกรนอก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายไกรทอง ผู้ปราบชาลวัล มีศาลไกรทองซึ่งเป็นที่สักการะของประชาชน ภายในพระอุโบสถมีภาพเขียนสีรูปทวารบาลถืออาวุธด้ามยาว ฉากหลังเขียนภาพช่อดอกพุดตานใบเทศ โทร. ๐ ๒๙๒๔ ๗๙๗๕