วัดสิงห์ ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลสามโคก การเดินทาง ใช้ถนนสายปทุมธานี – สามโคก ประมาณ ๓ กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าวัด เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งยังปรากฏเจดีย์ โบสถ์ วิหารเก่าแก่ ควรค่าแก่การศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี พระพุทธรูปสำคัญของวัดคือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยา พระพุทธไสยาสน์ (หลวงพ่อเพชร) นอกจากนี้ยังมีโกศบรรจุอัฐิหลวงพ่อพญากราย ซึ่งเป็นพระมอญธุดงค์มาจำพรรษาที่วัดสิงห์ บนกุฏิของวัดมีพิพิธภัณฑ์เก็บรักษาของเก่า ได้แก่ ตุ่มสามโคก แท่นบรรทมของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสามโคก ใบลานอักษรมอญ ตู้พระธรรม และพระพุทธรูป การเข้าชมต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน
ด้านหน้าวัดสิงห์มีการขุดค้นพบโบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ซึ่งถือเป็นหลักฐานของการตั้งชุมชนมอญในสมัยแรกในบริเวณนี้นับแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตุ่มสามโคกเป็นภาชนะบรรจุที่ใหญ่ที่สุดซึ่งผลิตจากเตาแหล่งนี้ ต่อมาภายหลังชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไปโดยย้ายการผลิตไปที่เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ซึ่งได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค ก่อนที่จะถูกแทนที่ด้วยโอ่งลายมังกรจากราชบุรี ลักษณะตุ่มสามโคกมีเนื้อดินสีแดงส้มเหมือนสีอิฐหรือสีมันปู เนื้อภาชนะค่อนข้างหนา รูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ ตรงกลางตุ่มป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ปัจจุบันหาดูตุ่มสามโคกของเก่า ได้ที่วัดสิงห์ วัดสามโคกและตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ พระนครที่กรุงเทพฯ
วัดสะแก ตั้งอยู่ที่ตำบลสามโคก ห่างจากจังหวัดปทุมธานีประมาณ ๖ กิโลเมตร ภายในวัดมีกุฏิสงฆ์ อาคารทรงไทยแบบรามัญ เป็นอาคารเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองและเจดีย์แบบอื่น มีโบสถ์และหอระฆังเก่าสมัยอยุธยา
วัดตำหนัก ตั้งอยู่ที่ตำบลสามโคก ห่างจากจังหวัดปทุมธานีประมาณ ๘ กิโลเมตร วัดนี้มีอุโบสถลักษณะฐานเป็นรูปท้องเรือสำเภาพระประธาน ในอุโบสถสร้างด้วยศิลาแลง และเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
วัดท้ายเกาะ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก หมู่ที่ ๓ ตำบล ท้ายเกาะ ตั้งอยู่ท้ายเกาะใหญ่มีเจดีย์มอญที่ใหญ่ที่สุด กุฏิลายจำหลักไม้สวยงาม สามารถชมศาลาสองหลังต่อกันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ ซึ่งพระองค์เสด็จประทับ ณ ศาลาหลังนี้ และชมจระเข้สต็าฟ แต่ก่อนนั้นจระเข้บริเวณนี้ชุกชุมมาก มอญเรียกว่า “เวียงจาม” เป็นวัดที่อยู่สุดเขตจังหวัดปทุมธานีต่อกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดเมตารางค์ อยู่ในเขตตำบลเชียงรากน้อย ภายในมีเจดีย์แบบชะเวดากองเป็นรูปแปดเหลี่ยม ยอดเจดีย์มีฉัตรทำด้วยทองเหลืองเป็นลายเทพนม อายุ ๑๕๐ ปี หอสวดมนต์เป็นพื้นไม้สักเสาไม้แก่นกลม ศาลาการเปรียญมีเสาหงส์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดมอญ มีรูปหงส์อยู่บนยอดเสา
วัดพลับสุธาวาส ตั้งอยู่ที่ตำบลเชียงรากน้อย วัดมีสิ่งสำคัญคือ พระพุทธรูป สร้างด้วยโลหะเงินปางสะดุ้งมาร ธรรมาสน์ทำด้วยไม้สักฉลุสีแดงลายทอง และเจดีย์มอญอายุกว่า ๑๐๐ ปี มีฐานเป็นสิงห์ องค์สถูปชั้นยอดเจดีย์เป็นดอกบัว ๙ ชั้น ลักษณะเจดีย์เป็นทรงสี่เหลี่ยม
วัดศาลาแดงเหนือ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลเชียงรากน้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ธรรมาสน์ลายจำหลักไม้ ศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิหอไตร และเครื่องกรองน้ำสมัยโบราณที่หาชมได้ยาก นอกจากนี้มีการสวดมนต์ด้วยภาษามอญทุกวัน เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. บริเวณวัดนี้มีการรักษาความสะอาดของหมู่บ้านได้อย่างดีเยี่ยม จนเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาดีเด่นของกระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. ๒๕๔๑ และยังมีการปลูกบ้านเรือนไทยผสมผสานแบบมอญที่หาชมได้ยากยิ่ง
วัดจันทน์กะพ้อ ตั้งอยู่ที่ตำบลบางเตย ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ ๖ กิโลเมตร สร้างโดยชาวมอญ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ชื่อว่า “วัดโกว๊ะ” แปลว่า “จันทน์กะพ้อ” ซึ่งชาวมอญ ถือว่าเป็นไม้มงคลเหมือนต้นราชพฤกษ์ ภายในวัดมีหอวัฒนธรรมซึ่งเก็บรวบรวมศิลปวัตถุมอญ และยังมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลาหน้าวัด นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่ใช้เป็นที่ประกอบพิธีสำคัญของชาวปทุมธานี เช่น พิธี “ออก ฮ้อยปะจุ๊” แข่งธงตะขาบ งานตักบาตรพระร้อย เป็นต้น
วัดเจดีย์ทอง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองควาย การเดินทางใช้เส้นทางสายปทุมธานี – สามโคก ประมาณ ๘ กิโลเมตรและแยกขวาเข้าวัดอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ในวัดนี้มีเจดีย์ทรงรามัญ สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์โดยชาวมอญ เป็นสถาปัตยกรรมมอญที่เลียนแบบมาจากเจดีย์จิตตะกองของพม่า และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นด้วยหยกขาว เป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยรามัญ
วัดบางนา ตั้งอยู่ตำบลบางโพธิเหนือ เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐ โดยมีครอบครัวคนไทยอพยพหนีภัยสงครามมาจากกรุงศรีอยุธยา และได้จัดสร้างวัดนี้ขึ้นซึ่งแต่เดิมอยู่ในคลอง ไม่สะดวกต่อการคมนาคม จึงได้ย้ายมา อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในบริเวณวัดมีพระป่าเลไลย์ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ๒ องค์ เสาหงส์และกุฏิตึกโบราณ นอกจากนี้ยังขุดค้นพบกระเบื้องดินเผาตัวผู้ ตัวเมียสำหรับมุงหลังคาโบสถ์อายุกว่า ๑๐๐ ปี ประชาชนมักแวะมาสักการะหลวงปู่เส็งซึ่งมรณภาพแล้วแต่สรีระไม่เน่าเปื่อยและยกหินศักดิ์สิทธิ์เสี่ยงทาย
วัดไผ่ล้อม ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือของจังหวัดปทุมธานี ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๓๓๐๙ (ถนนสายเชียงรากน้อย ซึ่งเป็นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา) เป็นแหล่งดูนกปากห่าง ที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอันมาก ได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งรวมพื้นที่ของวัดไผ่ล้อม และวัดอัมพุวรารามในเนื้อที่ ๗๔ ไร่ บริเวณวัดมีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นที่อาศัยของนกปากห่างมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว
นกปากห่างเป็นนกในวงศ์นกกระสา มีลักษณะเฉพาะคือ จะงอยปากปิดไม่สนิท มีร่องโค้งตรงกลางปาก ซึ่งมีประโยชน์ต่อนกในการจับหอยโข่งกินเป็นอาหาร นกปากห่างมีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม อพยพมาหาพื้นที่เหมาะสมในไทยเพื่อผสมพันธุ์ สร้างรังและวางไข่ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์นี้จะเห็นถึงสายสัมพันธ์ของครอบครัวนกในการสร้างรังด้วยกิ่งไม้ ผลัดกันหาอาหารและดูแลลูกน้อย มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และหอดูนก รายละเอียดติดต่อที่สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวัดไผ่ล้อม และวัดอัมพุวราราม โทร. ๐ ๒๙๗๙ ๘๖๗๗
การเดินทาง ไปวัดไผ่ล้อมสามารถโดยสารรถสองแถวจากตัวเมืองสายปทุมธานี – เชียงราก ลงรถหน้าวัดหรือนั่งรถสองแถวสายปทุมธานี -สามโคก ลงรถที่วัดดอน (วัดสุราษฎร์รังสรรค์) หรือ วัดสามัคคิยาราม แล้วต่อเรือข้าม แม่น้ำเจ้าพระยามายังวัด ค่าโดยสารเรือคนละ ๑๐ บาท นอกจากนี้ยังมีรถสายหมอชิต -อำเภอเสนา และรถสายนนทบุรี – อำเภอเสนา ลงรถที่วัดดอนแล้วนั่งเรือข้ามฟากมายังวัดไผ่ล้อม นอกจากนี้ยังมีบริการนำเที่ยวทางเรือ กรุงเทพฯ – วัดไผ่ล้อม – ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จัดโดย บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยาจำกัด ไปเช้า – เย็นกลับ ทุกวันอาทิตย์ สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๖๒๓ ๖๐๐๑-๓ หรือ www.chaophrayaboat.co.th
วัดศาลาแดงเหนือ ตั้งอยู่หมู่ ๒ ตำบลเชียงรากน้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก มีศาลาการเปรียญซึ่งสร้างเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๑๗เดิมเป็นโรงโขนหลวงที่กรุงเทพฯ บนศาลามีตู้พระพุทธรูปดัดแปลงจาก ธรรมาสน์ลายจำหลักไม้ และยังมีการสวดมนต์ภาษามอญทุกวันเวลา ๑๖.๐๐ น. บนกุฏิมีเครื่องกรองน้ำสมัยโบราณ ที่เกิดจากภูมิปัญญา ชาวบ้านซึ่งหาชมได้ยาก ชุมชนรอบวัดศาลาแดงเป็นชุมชนเล็กๆ ริมน้ำเจ้าพระยาที่มีการรักษาความสะอาดของหมู่บ้านได้อย่างดีเยี่ยมจนเป็นหมู่บ้านที่ชนะเลิศการประกวดหมู่บ้านอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยาดีเด่นของ กระทรวงสาธารณสุขปี พ.ศ. ๒๕๔๑
วัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือวัดไผ่ล้อม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๒ องค์ประดิษฐานอยู่ ริมแม่น้ำ คือ หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปศิลา ศิลปะอู่ทองปางมารวิชัย และหลวงพ่อพลอย เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองจำหลักด้วยศิลา แต่ถูกขโมยไป ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นมาใหม่ เป็นที่เคารพนับถือของชาวเรือ และประชาชนทั่วไป