หาดบ่อนอก ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อนอก หาดทรายขาวมีความยาว ๗ กิโลเมตร น้ำทะเลสะอาด บริเวณชายหาดน้ำไม่ลึก สามารถลงเล่นน้ำได้ มีถนนเลียบขนานไปกับชายหาด ตลอดแนวชายหาดเป็นสวนมะพร้าวและฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกกุ้ง ตามแนวชายหาดมีเรือและเพิงพักชาวประมงพื้นบ้านอยู่เป็นระยะ นับเป็นบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาเหมาะสำหรับผู้ชอบเดินชมชายหาด โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นจากท้องทะเลตอนเช้าจะมีความงดงามมากกว่าช่วงอื่นๆ นอกจากนี้ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม บริเวณหาดบ่อนอกมักมีปลาวาฬลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ให้เห็นบ่อยครั้ง ครั้งละประมาณ ๓ ชั่วโมง ซึ่งหากมองจากฝั่งต้องใช้กล้องส่องทางไกล หรือ จะเหมาเรือประมงของชาวบ้านออกไปชมใกล้ๆ ก็ได้ ปลาวาฬที่พบเป็นปลาวาฬพันธุ์บลูด้า ลำตัวสีดำกว้างประมาณ ๔ เมตร ยาว ๑๐-๑๒ เมตร ปากแหลม ใต้คางและท้องสีขาว อารมณ์ดี และคุ้นเคยกับคนมาก มักว่ายน้ำเคียงคู่ไปกับเรือประมงของชาวบ้านที่ผ่านมาพบฝูงของมัน ปลาวาฬชนิดนี้หากินในเขตร้อน เช่น สหภาพเมียนมาร์ อินเดียและประเทศไทย ในท้องทะเลอ่าวไทยเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี การที่ปลาวาฬบลูด้ามาหากินบริเวณนี้ อาจกล่าวได้ว่า ทะเลบ่อนอกเป็นทะเลที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์มากอีกแห่งหนึ่งของอ่าวไทย
ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ถนนสละชีพ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด เป็นศิลปะแบบลพบุรี สร้างขึ้นในสมัย ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดศาลหลักเมืองนี้ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นหลักชัยคู่บ้านคู่เมือง
วัดอ่าวน้อย (ถ้ำพระนอน) ตั้งอยู่ตำบลอ่าวน้อย เชิงเขาบริเวณอ่าวน้อย ก่อนถึงตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีทางเข้าแยกจากถนน เพชรเกษม กิโลเมตรที่ ๓๑๔ เป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตร ในบริเวณวัดมีถ้ำขนาดเล็กประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ในอดีตถ้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งชาวเรือมักเข้ามาอาศัยหลบพายุฝน
อ่าวน้อย อ่าวประจวบคีรีขันธ์ อยู่หน้าเมืองประจวบฯมีทิวทัศน์ สวยงามเหมาะต่อการออกกำลังกายเช่น วิ่ง ขี่จักรยานเลียบชายทะเล โดยอ่าวน้อยและอ่าวประจวบฯมีถนนเลียบชายหาดเชื่อมโยงถึงกัน อ่าวน้อย มีทิวสนขนานไปกับถนน อ่าวประจวบฯ มีบาทวิถีให้เดินชมท้องทะเลได้อย่างใกล้ชิด และมีร้านอาหารทะเลให้เลือกสรรรับประทานหลายแห่ง
เขาช่องกระจก เป็นภูเขาขนาดเล็กมีลิงเสนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ทางขึ้นอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด มีบันได ๓๙๖ ขั้น ขึ้นไปจนถึงยอดเขาซึ่งมีความสูง ๒๔๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล และเป็นที่ตั้งของวัดเขาช่องกระจก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองและพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงประกอบพิธีบรรจุเมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๐๑ และทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีงานฉลองเป็นประจำวันที่ ๑๒ มิถุนายน ของทุกปี ด้านทิศเหนือของภูเขามีช่องโปร่งทะลุดูคล้ายกับกรอบของกระจกอันเป็นที่มาของชื่อ จากยอดเขาสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมือง อ่าวทั้งสามและหมู่เกาะต่างๆ ได้อย่างสวยงาม มีศาลานั่งพักผ่อนหย่อนใจ
การเดินทาง รถยนต์ จากทางหลวงหมายเลข ๔ (ถนนเพชรเกษม) กิโลเมตรที่ ๓๒๐ เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมือง ข้ามทางรถไฟไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ผ่านสนามกีฬาจังหวัดตรงไปอีก ๕๐๐ เมตร ถึงวัดธรรมิการาม มีทางขึ้นเขาช่องกระจกอยู่ด้านขวาของวัด
รถโดยสารประจำทาง ลงรถที่ท่ารถ แล้วนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้าง
รถไฟ ลงรถที่สถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์ แล้วต่อรถสามล้อหรือมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง
อ่าวมะนาว อยู่ในเขตกองบิน ๕ กองทัพอากาศ เป็นหาดสะอาด ธรรมชาติสวยงาม เหมาะแก่การเล่นน้ำตรงข้ามกับหาดเป็นเขาล้อมหมวก ยามน้ำลดจะปรากฏสันทรายทอดยาวให้เดินไปเที่ยวชมได้ บนยอดเขาล้อมหมวกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เชิงเขามีศาลเจ้าพ่อเขาล้อมหมวกและเป็นที่ตั้งของเขตอนุรักษ์พันธุ์ค่างแว่น อ่าวมะนาวเคยเป็นยุทธภูมิในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่างกองทัพไทยและกองทัพญี่ปุ่น ปัจจุบันภายในกองบินจะเห็น อนุสาวรีย์วีรชน รูปทหารอากาศในชุดนักบินยืนอยู่บนใบพัดเครื่องบินถือธงหันหน้าออกทะเลและยังมี อุทยานประวัติศาสตร์กองบิน ๕ โดยจะเห็นแท่งหินขนาดใหญ่แกะสลักจำลองฉากการต่อสู้ระหว่างกองทัพไทยกับญี่ปุ่น บริเวณอ่าวมะนาว ทุกปี มีการจัดงานวันรำลึกวีรกรรม ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ นักท่องเที่ยวสามารถ เข้าไปพักผ่อนเล่นน้ำที่ชายหาด มีร้านอาหาร สโมสรและบริการบ้านพักหลายแบบ ทั้งแบบทาวเฮาส์ คอนโดมิเนียม สอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองบิน ๕ โทร. ๐ ๓๒๖๖ ๑๐๘๗-๘, ๐ ๓๒๖๑ ๑๐๑๗ ต่อ ๖๐๔๖๔ ห้องปรับอากาศ, ๖๐๔๖๑ www.wing5.rtaf.mi.th ห้องพัดลม (จองล่วงหน้า ๑ เดือน) ในกรณีที่เข้าพักเป็นหมู่คณะควรทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า
การเดินทาง รถยนต์ จากเทศบาลเมืองประจวบฯ ไปทางทิศใต้ตามถนน สละชีพ ถึงสามแยกเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๑๖๗ ผ่านสนามบินกองบิน ๕ ถึงอ่าวมะนาว ระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร หรือ จากอ่าวประจวบใช้ถนนเลียบหาด
รถโดยสารประจำทาง ลงรถที่ท่ารถประจวบคีรีขันธ์ แล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้าง
รถไฟ ลงรถที่สถานีรถไฟประจวบคีรีขันธ์แล้วต่อรถจักรยานยนต์ รับจ้าง
อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของวงการวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงคำนวณไว้ล่วงหน้าถึง ๒ ปี ว่าจะมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอแห่งนี้และได้เสด็จมาทอดพระเนตรพร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์และทูตานุทูตชาวต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๒ ให้ดำเนินโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ พระจอมเกล้าฯ และในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าเจ้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งเป็นสถานศึกษา สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๖
ภายในบริเวณอุทยานวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย อาคารดาราศาสตร์ เป็นอาคาร ๓ หลังเชื่อมต่อกัน คือ อาคารพันทิวาทิต พันพินิจจันทรา ดาราทัศนีย์ มีฐานการเรียนรู้ ๑๑ ฐาน ได้แก่ บันทึกเกียรติยศ, โลกอนาคต, เทคโนโลยีเพื่ออาชีพ, โลกของเด็ก, ฟากฟ้า ณ หว้ากอ, พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย, มนุษย์กับดวงดาว, พระมหากษัตริย์ราชวงศ์ไทยกับดาราศาสตร์, รวมใจชาวประจวบ, ความเป็นไปในจักรวาล และเทคโนโลยีอากาศและเอกภพ
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหว้ากอ เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีทั้งปลาทะเล ปลาน้ำจืดและปลาน้ำกร่อย และยังมีอุโมงค์ปลาใต้น้ำ ซึ่งทำให้เราได้เรียนรู้และเห็นถึงความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตในแต่ละระดับความลึกของน้ำราวกับอยู่ใต้ท้องทะเลลึก
สวนผีเสื้อ บรรยากาศร่มรื่นของผีเสื้อพันธุ์พื้นเมืองกว่า ๒๐ ชนิด ได้รับความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของผีเสื้อ และยังมีตัวอย่างของผีเสื้อที่เก็บรักษาไว้ให้ได้ศึกษา
สำหรับผู้สนใจกิจกรรมค่ายพักแรมทางอุทยานมีการจัดกิจกรรม ค่ายหว้ากอ เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายสิ่งแวดล้อม ค่ายสอนน้อง ดูดาว ค่ายปักษี ค่ายสำหรับเด็กพิการ ค่ายอนุรักษ์พลังงาน มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ดูนก ดูดาว Walk Rally กิจกรรมชายหาด กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ รวมทั้งยังมีที่พักรองรับได้ประมาณ ๑๒๐-๒๐๐ คน และเต็นท์พักแรมไว้คอยบริการ โดยผู้ที่สนใจสามารถจองค่ายและสอบถามรายละเอียดได้ที่ งานการตลาด โทร.๐ ๓๒๖๖ ๑๐๙๘, ๐ ๓๒๖๖ ๑๗๒๖, ๐ ๓๒๖๖ ๑๑๐๓ ในวันและเวลาราชการ หรือ http://www.nfe.go.th/waghor/, E-mail:[email protected] อุทยานวิทยาศาสตร์หว้ากอเปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. เข้าชมเป็นหมู่คณะโปรดทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๓๒๖๖ ๑๐๙๘, ๐ ๓๒๖๖ ๑๗๒๖-๗ ต่อ ๒๔๗ โทรสาร ๐ ๓๒๖๖ ๑๗๒๗
การเดินทาง จากตัวเมืองเดินทางมาทางทิศใต้ ๑๒ กิโลเมตร ตามถนนเพชรเกษมถึงกิโลเมตรที่ ๓๓๕-๓๓๖ จะมีทางแยกเข้าหว้ากอทางด้านซ้ายมือ