ปราสาทนครหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักฝั่งทิศตะวันออก ในเขตตำบล นครหลวง เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีและเป็นที่ประทับแรมในระหว่างเสด็จไปลพบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แต่มาสร้างเป็นที่ประทับก่ออิฐถือปูนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อพ.ศ.๒๑๗๔ พระองค์โปรดให้ช่างถ่ายแบบมาจากปราสาทศิลาที่เรียกว่า“พระนครหลวง” ในประเทศกัมพูชา นำมาสร้างใกล้กับวัดเทพจันทร์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีก แต่สร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ด้วยประการใดไม่ปรากฏ องค์ปราสาทสีเหลืองงดงาม ต่อมาจึงมีผู้สร้างมณฑปและพระพุทธบาทสี่รอยขึ้นบนปราสาทนี้ ส่วนตำหนักที่สร้างอยู่ข้างปราสาทนี้ได้ปรักหักพังไปหมดแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรง ประกอบพิธีฯเปิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘
วัดใหม่ประชุมพล ตั้งอยู่ที่ ตำบลนครหลวง ริมแม่น้ำป่าสัก สร้างโดย สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระองค์ได้เสด็จทางชลมารคและทรงแวะค้างคืนที่อำเภอนครหลวง จึงได้มีการสร้างวัดนี้ขึ้น เพราะเป็นสถานที่ชุมนุมพล ภายในวิหารตึกเล็กๆ ที่ตั้งระหว่างศาลาการเปรียญใหญ่สองหลังประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องพระนามว่า “พระเจ้าทรงธรรม” บางท่านก็กล่าวว่าสมเด็จพระทรงธรรมเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น และบางคนก็กล่าวว่าพระพุทธรูปทรงเครื่ององค์นี้สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากรูปเขียนที่งามหนักหนานั้น เป็นของสมัยพระเจ้าปราสาททอง ส่วนข้างบนของผนังด้านข้างประดับด้วยรูปเทวดานั่งชุมนุมเรียงรายอยู่
หมู่บ้านหัตถกรรมมีดอรัญญิก
ประวัติความเป็นมา บ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนอง เป็นหมู่บ้านที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาเเน่น ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ และ ๗ ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งสองหมู่บ้านมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว เพราะเป็นเเหล่งผลิตมีดที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสันมาเกือบสองร้อยปี
กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวบ้านต้นโพธิ์และชาวบ้านไผ่หนอง รกรากถิ่นฐานเป็นชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยประมาณช่วงต้น กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพทางช่าง มีช่างทำทองกับช่างตีเหล็ก คือ คนไหนเเข็งเเรงก็ได้ตีเหล็ก คนไหนอ่อนแอมีความละเอียดให้ตีทองคำ เครื่องอาภรณ์ประดับกาย การทำมาหากิน ในสมัยนั้นอาชีพทั้งสองทำกันเป็นล่ำเป็นสันตลอดมา ครั้นต่อมาในราว พ.ศ.๒๓๖๕ อาชีพช่างทองก็ได้เลิกลาสลายตัวไป คงเหลือเเต่อาชีพตีมีดประเภทเดียว ชาวบ้านจึงยึดอาชีพตีมีดเป็นอาชีพหลัก ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นปะปนเลย ข้อสังเกตุที่เป็นหลักฐานว่าชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้มีอาชีพช่างทองคือ ถ้าเรานำดินที่ชุมชนเเห่งนี้ลงร่อนในน้ำก็จะพบเศษทองและขี้ตะไบทองอยู่ทั่วไป
ความเป็นมาการตั้งถิ่นฐาน เหตุที่ชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยจะโดยถูกกวาดต้อนมาในสมัยเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกคราวยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์หรือจะเป็นการอพยพมาเองนั้น ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนเเต่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าเข้ามาโดยมีนายเทาเป็นผู้นำ (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนนราบริรักษ์”) ได้เดินทางมาพบภูมิประเทศเเห่งนี้ เป็นที่เหมาะสมเเก่การประกอบอาชีพคือ เดิมเป็นดงไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่หนาเเน่น มีหนองน้ำและแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน สมัยนั้นไม่มีถนนหนทางเหมือนปัจจุบันนี้ ต้องอาศัยทางน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการคมนาคมโดยเฉพาะ ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่สำคัญมากสำหรับช่างตีมีด เพราะไม้ไผ่มีประโยชน์อยู่ในตัวของมันนานับประการ เช่น นำมาเผาถ่านใช้เผาเหล็ก เพราะถ่านไม้ไผ่ให้ความร้อนสูงกว่าไม้ชนิดอื่น ต้น ลำ ใช้ทำ บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ทำด้ามพะเนิน ด้ามค้อนเเละด้ามมีด ซึ่งช่างตีเหล็ก ต้องใช้อยู่เป็นประจำ จึงเห็นว่าภูมิประเทศเเห่งนี้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำเเหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์จึงพร้อมใจกันลงหลักปักฐานเเละได้ประชุมหารือกันตั้งชื่อบ้านของตนว่า “บ้านไผ่หนอง” ให้เป็นการเหมาะสมกับภูมิ ประเทศเเต่ก่อนนั้น สำหรับบ้านต้นโพธิ์ คนเก่าคนเเก่เล่าว่า เมื่อมาถึงทำเล นี้มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่กลางหมู่บ้านจึงตั้งชื่อว่า “บ้านต้นโพธิ์” ครั้นกาลเวลาล่วงมาบ้านเมืองเจริญขึ้นสภาพของหมู่บ้านก็ได้เปลี่ยนเเปลงไป ดงไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นก็โล่งเตียนกลายเป็นท้องไร่ท้องนา หนองน้ำก็ตื้นเขินไปหมดเเล้ว
เกียรติประวัติของชุมชน
สมัยรัชกาลที่ 3 เเผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อราวพ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เสด็จมาถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มาขอให้ชาวเวียงจันทน์กลับประเทศ เเต่ชาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ไม่ยอมกลับขออยู่ใต้ร่มโพธิสมภาร เพราะพระองค์ให้ความผาสุขร่มเย็น พสกนิกรของพระองค์ตลอดมาก็มีความเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ ชื่อเสียงการตีมีดก็เลื่องลือไปทั่วสารทิศ ชาวบ้านจึงมีฐานะที่มั่นคง มีการอยู่ดีกินดี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าล้นกระหม่อม
สมัยรัชกาลที่ ๕ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงทราบว่าบ้านต้นโพธิ์ บ้านไผ่หนองเป็นหมู่บ้านตีมีด พระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ได้เสด็จทอดพระเนตรการตีมีดของชาวเวียงจันทน์ กลุ่มนี้ จึงได้ปลูกพลับพลาที่ประทับอย่างสมพระเกียรติ เเละได้เกณฑ์ชาวบ้านมาทำการตีมีดให้พระองค์ทรงทอดพระเนตร พระองค์ท่านสนพระทัยเเละทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก
ในสมัยรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงทอดพระเนตรการทำมีดอรัญญิก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ .๒๕๑๙ เเละเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จนำนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ มาทอดพระเนตรการตีมีดเเละเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ทรงนำครอบครัวมาทัศนศึกษาการตีมีดที่ชุมชนเเห่งนี้เช่นกัน
ที่มาของคำว่ามีดอรัญญิก ในสมัยก่อนมีตลาดร้านค้า มีโรงบ่อน อยู่ที่ บ้านอรัญญิก ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านต้นโพธิ์เเละหมู่บ้านไผ่หนองมากนัก ระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร มีผู้คนนำสินค้ามาซื้อขายเเลกเปลี่ยนกันมากในยุคนั้นชาวบ้านก็นำเอามีดไปขาย เมื่อคนที่ซื้อไปใช้เห็นว่าคุณภาพดีจึงบอกต่อๆกันไปว่ามีดคุณภาพต้องมีดอรัญญิก เลยเรียกติดปากไปหาซื้อมีดต้องไปที่อรัญญิก ที่จริงเเล้วทำที่หมู่บ้านต้นโพธิ์ หมู่บ้านไผ่หนองเเละหมู่บ้านอื่นๆ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “มีดอรัญญิก”
ลักษณะทั่วไปของผลิตภัณฑ์มีดอรัญญิก มีอยู่ด้วยกัน ๔ ตระกูล ได้แก่มีดตระกูลเกษตรกรรม มีดตระกูลคหกรรม มีดตระกูลอาวุธ และมีดตระกูลอื่นๆ แต่ละตระกูลสามารถจำแนกตามการใช้งานได้อีก ๑๒ ประเภท ซึ่งในแต่ละประเภทประกอบไปด้วยชนิดของมีดต่างๆ อีกมากมาย หลากหลายไปตามขนาดและความแตกต่างของวัสดุที่ใช้ในการผลิตของชิ้นส่วนและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งจากการศึกษาปรากฏว่ามีถึง ๒๗๔ ชนิด
ประเพณีเเละวัฒนธรรม มีประเพณีเเละวัฒนธรรมที่ได้ถือปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันมาตั้งเเต่สมัยบรรพบุรุษ คือ งานมาฆบูชา บุญวิสาขบูชา บุญเข้าพรรษา บุญกฐิน บุญตักบาตรดอกไม้ บุญสงกรานต์ บุญเข้าสลาก บุญออกพรรษา บุญมหาชาติ เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีเเละวัฒนธรรมของชนชาติไทยทั่วไปที่ปฏิบัติกันมาเป็นประจำ เเต่ยังมีประเพณีหนึ่งที่ขาดไม่ได้เป็นประเพณีที่น่าประทับใจของชุมชนฯ เเละถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากคือ การไหว้ครู หรือไหว้ครูบูชาเตา ซึ่งปกติเเล้วจะทำกันทุกหมู่บ้าน เมื่อทำบุญบำเพ็ญกุศล ตรุษเเละสงกรานต์ ผู้ใหญ่จะประชุมหารือกำหนด วันไหว้ครู ส่วนมากกำหนดวันข้างขึ้นเดือนหกตรงกับวันพฤหัสบดีเมื่อหารือกันดีเเล้วทุกบ้านจะลงมือซ่อมเเซมเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆให้เรียบร้อยก่อนกำหนดหนึ่งหรือสองวันเเละทำความสะอาดเครื่องมือเเล้วนำมาวางไว้ในที่อันสมควร เตาเผาเหล็กจะต้องปั้นขึ้นใหม่ เเละจัดเตรียมเครื่องสังเวยไหว้ครูอย่างครบครัน มีเครื่องบูชาพระพุทธเเต่งเป็นขันห้า พอรุ่งอรุณของวันพฤหัสบดี เขาจะนำเครื่องบูชาเเละอาหารคาวหวานเป็นเครื่องบูชา บูชาพระภูมิ เเม่ธรณี ส่วนเครื่องสังเวยต่างๆที่ได้ตระเตรียมไว้จะต้องนำมาวาง ไว้ที่เครื่องมือ เเล้วจัดทำพิธีสวดโองการเชิญเทพเจ้ามาเป็นศิริมงคล เเล้วผู้ใหญ่ในเรือนนั้นจะเรียกลูกหลานมาบูชากราบไหว้ ขอพรอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นศิริมงคลเเก่ทุกคน สำหรับในวันนั้นทุกบ้านจะต้อนรับทุกคนที่มาเยือน ชุมชนเเห่งนี้ยังรักษาประเพณีนี้ไว้ นับเป็นประเพณีอันดีงาม ในวันนั้นเขาถือว่าเป็นมงคล เรื่องอัปมงคลจะไม่เกิดขึ้นเลย
การเดินทาง ปัจจุบันการเดินทางสะดวกมาก มีรถยนต์วิ่งถึงหมู่บ้านโดยจะต้องเดินทางเข้าสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะมีรถประจำทางจอดอยู่ที่ตลาดเจ้าพรหม จะเห็นป้ายติดหน้ารถว่า “อยุธยำถึงท่ำเรือ” รถจะออกจาก ตัวเมืองไปทางถนนสายเอเชีย (ทางหลวงเเผ่นดินหมายเลข ๓๒) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเอเชียไปทางจังหวัดนครสวรรค์ เลยโรงพยาบาลสมเด็จ พระสังฆราชฯไปประมาณ ๑๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายลอดใต้สะพานที่จะข้าม เเม่น้ำป่าสัก เข้าถนนสายอำเภอนครหลวง ตลอดทางมีป้ายบอกที่ตั้งชุมชนฯ ทั้งสองเป็นระยะ หรือถ้าต้องการจะเดินทางไปโดยทางน้ำจะต้องลงเรือในตัวจังหวัดที่หน้าวังจันทรเกษม ย้อนขึ้นไปตามเเม่น้ำป่าสัก ผ่านโรงงานวัตถุระเบิดช่างเเสง (ของกรมสรรพวุธทหารบก) เเละ อำเภอนครหลวงตามลำดับ การเดินทางใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ก็จะถึงชุมชนฯ เมื่อได้เเวะไปชมก็จะได้รับการต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีจากชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้านเป็นอย่างดี