พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือที่เรียกกันว่า “พระสี่มุมเมือง” เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ และปูชนียวัตถุคู่เมืองของพัทลุง ประดิษฐาน อยู่ภายในศาลาจตุรมุข บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัดกับศาล จังหวัดพัทลุง เป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ปางสมาธิ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
วัดคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่เชิงเขาคูหาสวรรค์ ใกล้ๆ ตัวตลาดพัทลุง เป็นโบราณสถาน ที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษ ที่ ๑๓-๑๕ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่พระเจดีย์ พระพุทธรูป และยังพบพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย บริเวณหน้าถ้ำมีจารึกพระปรมาภิไธย ย่อของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมี ถ้ำนางคลอด ซึ่งภายในถ้ำตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นเกี่ยวกับเรื่องราวพื้นบ้าน อีกด้วย
หอโพนมงคล หอโพนมงคล ๙ ลูก ได้ติดตั้งตามจุดสำคัญๆ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง เพื่อจะสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษชาวพัทลุง ประกอบด้วย
จุดที่ ๑ วัดอินทราวาส (วัดท่ามิหรา) ถนนราเมศวร์ โพนก้องฟ้า
จุดที่ ๒ สวนกาญจนาภิเษก ถนนราเมศวร์ โพนพสุธาสนั่น
จุดที่ ๓ หน้าพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ ถนนราเมศวร์ โพนขวัญเมือง
จุดที่ ๔ สวนสาธารณเฉลิมพระเกียรติ ๘o พรรษา ถนนคูหาสวรรค์โพนเรืองเดชา
จุดที่ ๕ ลานหน้าเขาวังเนียง ถนนทัณฑ์บำรุง โพนมหามงคล
จุดที่ ๖ ศูนย์ภูมิปัญญาผู้สูงอายุ ถนนวีรศักดิ์ราษฎร์พัฒนา โพนมนต์เทวัญ
จุดที่ ๗ สวนเฉลิมพระเกียรติ ร. ๙ ถนนราเมศวร์ โพนอนันตชัย
จุดที่ ๘ ถ้ำมาลัยเทพนิมิต โพนพิธิตไพรี
และจุดที่ ๙ หาดแสนสุขลำปำ
ถนนอภัยบริรักษ์ โพนศรีไพศาล การตีโพนแต่ละลูกในแต่ละจุดนั้นต่างมีความหมายเฉพาะอันหลากหลาย ทว่ามีจุดร่วมที่สำคัญเหมือนกันคือเป็นนัยสื่อถึงความเป็นสิริมงคลต่อผู้ตีด้วย
เขาอกทะลุ จากวัดคูหาสวรรค์ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ จะพบเขาอกทะลุ ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านตะวันออกของสถานีรถไฟ เขาอกทะลุ เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง มีความสูงประมาณ ๒๕๐ เมตร มีบันไดสำหรับขึ้นยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุงได้ ลักษณะพิเศษของ ภูเขาลูกนี้คือ มีโพรงทะลุมองเห็นอีกด้านหนึ่ง อยู่บริเวณเกือบตอนปลายของยอดเขา
วัดวัง อยู่ตำบลลำปํา ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ ประมาณ ๖ กิโลเมตร (ใช้เส้นทางเดียวกับเขาอกทะลุ) เป็นปูชนียสถานที่ สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง เดิมเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาได้สร้างขึ้นใหม่โดยพระยาพัทลุง (ทองขาว) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และเคยเป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาเมื่อย้ายเมืองพัทลุงไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ วัดวัง ก็ชำรุดทรุดโทรมลง และได้มีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ สิ่งสำคัญ ของวัดวังคือ พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา ด้านหน้ามีมุขเด็จยื่นออกมาภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่น สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ กล่าวกันว่าเป็นฝีมือช่างคณะเดียวกับที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังใน พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และเทพชุมนุม บริเวณระเบียงคดโดยรอบมีพระพุทธรูปปูนปั้น ๑๐๘ องค์ นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ วิหารและธรรมาสน์ลายทองสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับพระอุโบสถ เหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมไทย
วังเจ้าเมืองพัทลุง (วังเก่า – วังใหม่) ตั้งอยู่ใกล้กับวัดวัง เดิมเป็นที่ว่าราชการ และเป็นที่พักอาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันยังเหลืออยู่ส่วนหนึ่งคือ วังเก่า สร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจวงศ์) เป็นผู้ว่าราชการ ต่อมาวังได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตามะระ บุตรีของหลวงศรีวรฉัตร ส่วนวังใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิต พิพิธภักดี (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของพระยาพัทลุงซึ่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันทายาทตระกูล “จันทโรจวงศ์” ได้มอบวังนี้ให้เป็นสมบัติของชาติและกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน วังเก่า เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และวังใหม่ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ – วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. และ ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เสียค่าเข้าชมคนไทย ๕ บาท ชาวต่างประเทศ ๓๐ บาท
หาดแสนสุขลำปำ อยู่เลยวัดวังไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๔๗ อีกประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่มีทิวสนร่มรื่นริมฝั่งทะเลสาบสงขลา มีศาลากลางน้ำ ชื่อ “ศาลาลำปำที่รัก” สำหรับชมทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบ และจากบริเวณชายหาดมีสะพานเชื่อมไปยังเกาะลอย ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของตะกอนปากน้ำลำปำ
อนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ (ช่วย) ประดิษฐานอยู่ที่สามแยกท่ามิหรำ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ตามประวัติกล่าวว่าพระยาทุกขราษฎร์ เดิมเป็นพระชื่อพระมหาช่วย จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นเกิดสงคราม ๙ ทัพ พระมหาช่วยได้ช่วยพระยาพัทลุงนำชาวบ้านเข้าต่อต้านกองทัพพม่าจนแตกพ่าย ต่อมาจึงลาสิกขาบทแล้วได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทำราชการเมืองพัทลุง มีตำแหน่ง “พระยา” เทียบเท่าเจ้าเมือง
ศูนย์รวมหัตถกรรมกะลามะพร้าว เมืองพัทลุง อยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลชัยบุรี ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางที่แยกไสยวน ประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลาที่มีชื่อเสียง จนได้ชื่อว่า “หมู่บ้านกะลาเงินล้าน” จากแนวความคิดของนายปลื้ม ชูคง ผู้นำชุมชนเป็นผู้ริเริ่มโดยมีการนำกะลามะพร้าวมาออกแบบเป็นภาชนะสำหรับใช้ในครัวเรือนเครื่องประดับ เช่น ช้อน ถ้วยกาแฟ ถ้วยน้ำ กระบวยตักน้ำ ทัพพี โคมไฟและเครื่องประดับ ซึ่งจะส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนใจชมวิถีชีวิตชาวบ้าน และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อ นายปลื้ม ชูคง โทร. ๐ ๗๔๖๑ ๔๕๑๒, ๐๘ ๖๒๘๗ ๒๕๔๒