น้ำทะเลสีหมึกน้ำเงินเข้มทอดยาวไปสุดสายตา เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ R44 ขนาด 4 ที่นั่ง ยังคงบินไปอย่างมั่นคงที่ความสูง 1,000 ฟุต เหนือน้ำทะเล มองลงไปด้านล่างเห้นเรือประมงเป็นเพียงจุดเล็กๆ ท่ามกลางน้ำทะเลสีเข้ม ยอดคลื่นสีขาวไหลเคลื่อนเป็นทิวตามแรงของมหาสมุทร และในบางช่วงผมเห็นนักบินปีกบางแห่งธรรมชาติอย่างผีเสื้อกำลังกระพือปีกสู้กับสายลม โดยที่ผมได้แค่เพียงเอาใจช่วยให้ไปถึงฝั่งของการเดินทาง เพราะไม่รู้ว่าสัตว์เล็กๆ เหล่านี้ต้องการไปหนแห่งใด ซึ่งคงเป็นเช่นเดียวกับเราที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะไปสิ้นสุดที่ใด
ไม่นานนักบินก็แจ้งผ่านวิทยุว่าเรากำลังเข้าใกล้ เกาะหนึ่ง ของ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ให้เตรียมตัวและอุปกรณ์ถ่ายภาพให้พร้อม เพื่อบันทึกภาพความงดงามของเกาะหูยง ซึ่งปกติไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นบนชายหาดอย่างเด็ดขาด เพราะหวงห้ามไว้สำหรับเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เท่านั้น
ภาพของเกาะปรากฏขึ้นต่อหน้า น้ำทะเลค่อยๆ เปลี่ยนจากน้ำเงินเข้มไล่โทนไปเป็นสีคราม และสีฟ้าอ่อนสดใส เมื่อเข้าใกล้ชายฝั่งเบื้องล่างเป็นผืนทรายขาวละเอียด และเข้าสู่หาดทรายยาวเหยียดที่มีฉากหลังเป็นผืนป่าสีเขียวเข้มดูงดงามยิ่งนัก ในความงดงามเหล่านี้หลายคนก็อยากมาเห็นและสัมผัส ทว่าที่นี่มีเต่าทะเลขี้นมาวางไข่ทุกปี จนปี พ.ศ. 2538 กองทัพเรือจึงได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (กรมป่าไม้เดิม) จัดตั้งโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้นที่เกาะหนึ่ง เพื่อฟื้นฟูปริมาณเต่าทะเลให้อยู่คู่ท้องทะเลอันดามัน
โดยทางกองทัพเรือ ภาค 3 เป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล ซึ่งในทุกวันจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูชายหาดตลอดเวลา เมื่อมีเต่าขึ้นมาวางไข่ จะมีการเก็บไข่เต่าไปอนุบาลที่ฐานทัพเรือทับละมุ จังหวัดพังงา จนกระทั่งลูกเต่าฟักและมีอายุได้ราว 6 เดือน ก็ดำเนินการปล่อยสู่ท้องทะเล ในแต่ละปีสามารถปล่อยลูกเต่าได้ประมาณ 18,000 ตัว
สาเหตุที่ต้องมีการอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้น ก็เนื่องจากปัจจุบันแหล่งวางไข่กำลังถูกรุกรานจากหลายๆ สาเหตุ รวมไปถึงศัตรูทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างมากมาย และหากปล่อยไว้ให้มีการฟักไข่เองโดยธรรมชาติจะมีจำนวนลูกเต่ารอดเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้โครงการอนุรักษ์เต่าทะเลมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะเพิ่มจำนวนประชากรเต่าทะเลหลายๆ ชนิดให้มีโอกาสเติบโตในมหาสมุทรแห่งชีวิต