วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟลพบุรี สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดจะพบร่องรอยของศาลา เปลื้องเครื่อง ซึ่งใช้เป็นที่สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเปลื้องเครื่องทรงก่อนที่จะ เข้าพิธีทางศาสนาในพระวิหารหรือพระอุโบสถ ปัจจุบันศาลาเปลื้องเครื่อง คงเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น ถัดไปเป็นวิหารหลวงซึ่งสร้างในสมัย สมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารขนาดใหญ่มาก ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิคของฝรั่งเศส ภายในสร้างฐานชุกชีประดิษฐาน พระพุทธรูป ทางทิศใต้ของวิหารหลวงเป็นพระอุโบสถขนาดย่อม ประตูหน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งหมด ห่างไปทางทิศตะวันตกของวิหารหลวง เป็นพระปรางค์องค์ใหญ่ สร้างเป็นพุทธเจดีย์ องค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาแลง โบกปูน มีเครื่องประดับลวดลายเป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติ ที่ลายปูนปั้นหน้าบันพระปรางค์แสดงถึงอิทธิพลของพุทธศาสนานิกาย มหายาน และซุ้มโคปุระของปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะละโว้ มีลายปูนปั้น ที่งดงามมาก สันนิษฐานว่าคงจะสร้างในสมัยขอมเรืองอำนาจแต่ได้รับการ ซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ลวดลายจึงปะปนกันหลายสมัย ปรางค์องค์นี้ บรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก ที่ขึ้นชื่อคือ พระเครื่องสมัยลพบุรี เช่น พระหูยาน และพระร่วง
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ ปรางค์รายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้นเป็นรูปเทพนมหันออกรอบทิศพระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ลักษณะเป็นศิลปะแบบอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ เป็นศิลปะที่มีความงามแปลกตาหาชมได้ยาก
เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา ๐๗.๐๐-๑๗.๐๐ น. เว้นวันจันทร์-อังคาร อัตราเข้าชม คนไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๕๐ บาท เด็กไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือ สามารถซื้อบัตรรวมชาวไทย ๓๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๑๕๐ บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระที่นั่งไกรสรสีหราช พระปรางค์สามยอดและบ้านหลวงวิชาเยนทร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สำนักงานศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี โทร. ๐ ๓๖๔๑ ๒๕๑๐, ๐ ๓๖๔๑ ๓๗๗๙
โรงเรียนพระนารายณ์ ตั้งอยู่ด้านข้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยท่านพระครูลพบุรีคณาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียน แทนตึกโคโรซาน ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดเสาธงทอง เป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัด ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ย้ายโรงเรียนไปอยู่ที่โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน อาคารไม้ ๒ ชั้นหลังนี้จึงอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๗
พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๙ เพื่อใช้เป็นที่ประทับ ณ เมืองลพบุรีแบ่งเป็นเขตพระราชฐานชั้นนอก เขตพระราชฐานชั้นกลาง และเขตพระราชฐานชั้นใน กำแพง พระราชวังก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพงมีซุ้มประตูทั้งหมด ๑๑ ประตู ประตูทางเข้าเป็นทรงจัตุรมุขมีช่องทางโค้งแหลม ตรงจั่วซุ้มประตูตกแต่งลายกระจังปูนปั้นที่วิวัฒนาการมาจากดอกบัว ที่ซุ้มประตูและกำแพง พระราชฐานชั้นกลางและชั้นในมีช่องเล็กๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลมคล้ายบัว เรียงเป็นแถวสำาหรับวางตะเกียง ประมาณ ๒,๐๐๐ ช่อง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ เพื่อให้เป็นราชธานีชั้นในและพระราชทานชื่อว่า “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” สิ่งก่อสร้างภายในพระราชวังแบ่งตามยุคสมัยเป็น ๒ กลุ่มคือ
สิ่งก่อสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งศิลปกรรมแบบไทยและฝรั่งเศสผสมกัน เดิมเป็นท้องพระโรงมียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสีหบัญชร ซึ่งเป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารกับผู้เข้าเฝ้า ประตูและหน้าต่างท้องพระโรงซึ่งอยู่ด้านหน้า ทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทำประตูหน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ในจดหมายเหตุทูตฝรั่งเศส กล่าวพรรณนาพระที่นั่งว่า “ตามผนังประดับด้วยกระจกเงา ซึ่งนำมาจาก ฝรั่งเศส เพดานแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสสี่ช่อง ประดับด้วยลายดอกไม้ทองคำ และแก้วผลึกที่ได้มาจากเมืองจีนงดงามมาก” ผนังด้านนอกพระที่นั่งตรงมณฑปชั้นล่างเจาะเป็นช่องโค้งแหลมไว้สำหรับวางตะเกียง ซึ่งจะเห็นได้อีกเป็นจำนวนมาก ตามซุ้มประตูและกำแพงของพระราชวังสมเด็จพระนารายณ์ฯ เคยเสด็จออกรับคณะราชทูตฝรั่งเศส เชอวาลิเยร์เดอ โชมองต์ ที่พระที่นั่งองค์นี้ในปีพ.ศ. ๒๒๒๘
พระที่นั่งจันทรพิศาล สร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๒๒๐๘ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ที่สร้างทับลงไปบนรากฐานเดิมของพระที่นั่งซึ่งพระราเมศวรโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าอู่ทองได้ทรงสร้างเมื่อครั้งครองเมืองลพบุรี พระที่นั่งองค์นี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยแท้ ด้านหน้ามีมุขเด็จ ภายหลังเมื่อได้สร้างพระที่นั่งสุทธาสวรรค์ขึ้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงย้ายไปประทับที่พระที่นั่งองค์ใหม่และโปรดให้ใช้พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นที่ออกขุนนาง ซึ่งตรงกับบันทึกของชาวฝรั่งเศสว่า “เป็นหอประชุมองคมนตรี” ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงบูรณะพระที่นั่งองค์นี้ตามแบบของเดิม ปัจจุบันใช้จัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช งานประณีตศิลป์สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์
พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง ที่มุมทั้งสี่ มีสระน้ำาใหญ่สี่สระ เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน” สมเด็จ พระนารายณ์ฯ สวรรคต ณ พระที่นั่งองค์นี้เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑
ตึกพระเจ้าเหา ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของเขตพระราชฐานชั้นนอก ตึกหลังนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ อย่างชัดเจนมาก เป็นตึกที่สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ยกพื้นสูงขึ้นไป ๑ เมตร ตัวตึกเป็นรูปทรงไทย ฐานก่อด้วยอิฐ ศิลาแลงและจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ประตูหน้าต่าง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ ปัจจุบันคงปรากฏลายให้เห็นอยู่ ด้วยเหตุว่า ภายในตึกมีฐานชุกชีปรากฏให้เห็นอยู่และชาวฝรั่งเศสได้ระบุว่าเป็นวัดจึง สันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำาราชวัง ตึกพระเจ้าเหาหรือ “พระเจ้าหาว” (หาวเป็นภาษาไทยโบราณหมายถึงท้องฟ้า) ในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จ พระนารายณ์ฯ พระเพทราชาและขุนหลวงสรศักดิ์ ใช้ตึกพระเจ้าเหาเป็นที่ นัดแนะประชุมขุนนางและทหารเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ขณะที่สมเด็จ พระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวรหนัก
ตึกรับรองแขกเมือง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ใกล้กับตึกหมู่สิบสองท้องพระคลังเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสบันทึกของชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า “ตึกหลังนี้อยู่กลางอุทยานซึ่งแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสรอบตึก มีคูน้ำาล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงรายเป็นระยะอยู่ ๒๐ แห่ง” จาก เค้าโครงที่เหลืออยู่ทำให้ทราบว่าในสมัยก่อนคงจะสวยงามมาก ทางด้าน หน้าตึกเลี้ยงรับรองมีรากฐานเป็นอิฐแสดงให้เห็นว่าตึกหลังเล็กๆ คงจะ เป็นโรงมหรสพ ซึ่งมีการแสดงให้แขกเมืองชมภายหลังการเลี้ยงอาหาร สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานเลี้ยงแก่คณะทูตจากประเทศ ฝรั่งเศส ณ สถานที่นี้ เมื่อพ.ศ. ๒๒๒๘ และพ.ศ. ๒๒๓๐
พระคลังศุภรัตน์ (หมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง) เป็นหมู่ตึกตั้งอยู่ระหว่างอ่างเก็บน้ำประปาและตึกซึ่งใช้เป็นสถานที่พระราชทานเลี้ยงแก่ ชาวต่างประเทศ สร้างขึ้นอย่างมีระเบียบด้วยอิฐสองแถวเรียงติดกัน อาคาร มีลักษณะค่อนข้างทึบมีถนนผ่ากลาง จำนวน ๑๒ หลัง เข้าใจว่าเป็นคลัง เพื่อเก็บสินค้าหรือเก็บสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ
อ่างเก็บน้ำ หรือ ถังเก็บน้ำประปา ก่อด้วยอิฐยกขอบเป็นกำแพงสูงหนาเป็นพิเศษตรงพื้นที่มีท่อดินเผาฝังอยู่เพื่อจ่ายน้ำไปใช้ตามตึกพระที่นั่งต่างๆ โดยท่อดินเผาจากทะเลชุบศรและอ่างซับเหล็ก ตามบันทึกกล่าวว่า ระบบการจ่ายทดน้ำเป็นผลงานของชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียน
โรงช้างหลวง ตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงเขตพระราชฐานชั้นนอกด้านในสุด โรงช้างส่วนใหญ่ปรักหักพังเหลือแต่ฐานปรากฏให้เห็น ประมาณ ๑๐ โรง โรงในพระราชวังคงเป็นช้างหลวงหรือช้างสำคัญสำหรับ ใช้เป็นพาหนะของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่
สิ่งก่อสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ และอาคารต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน ใช้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๐๕ เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์ เมื่อครั้งเสด็จบูรณะเมืองลพบุรี ประกอบด้วยพระที่นั่ง ๔ องค์ คือ พระที่ นั่งพิมานมงกุฎเป็นที่ประทับ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นท้องพระโรงเสด็จ ออกว่าราชการแผ่นดิน พระที่นั่งไชยศาสตรากรเป็นที่เก็บอาวุธ พระที่นั่งอักษรศาสตราคมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงพระราชทานให้เป็นศาลากลาง จังหวัด ต่อมาเมื่อศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่ใหม่ พระที่นั่งหมู่นี้จึงรวมกับ พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์
หมู่ตึกพระประเทียบ ตั้งอยู่บริเวณหลังพระที่นั่งพิมานมงกุฎ ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานฝ่ายใน เป็นตึกชั้นเดียว ๒ หลังก่อด้วยอิฐหรือปูนสูง ๒ ชั้น เรียงรายอยู่ ๘ หลัง สร้างขึ้นเป็นที่พักของข้าราชการฝ่ายในที่ตาม เสด็จรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองลพบุรี
ทิมดาบ หรือที่พักของทหารรักษาการณ์ เมื่อเดินผ่านประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นกลางข้างประตูทั้ง ๒ ด้านตรงบริเวณสนามหญ้าจะเห็นศาลา โถงข้างละหลัง คือตึกซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักของทหารรักษาการณ์ในเขต พระราชวัง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ แบ่งอาคารจัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุเป็น ๔ อาคาร
พระที่นั่งพิมานมงกุฎ จัดแสดงหลักฐานโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาค กลางของประเทศไทยและแหล่งโบราณคดี จังหวัดลพบุรี โครงกระดูกมนุษย์ ภาชนะดินเผา เตาดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากโลหะ ภาชนะสัมฤทธิ์ เครื่องประดับทำจากหินและเปลือกหอย เป็นต้น ภายในพระที่นั่งแบ่งเป็นห้องต่างๆ ได้แก่
ห้องภาคกลางประเทศไทย พ.ศ. ๘๐๐-๑๕๐๐ รับอิทธิพลของวัฒนธรรมอินเดียที่เรียกว่า สมัยทวาราวดี จัดแสดงเรื่องการเมือง การตั้งถิ่นฐาน เทคโนโลยีและการดำเนินชีวิต อักษร ภาษา ศาสนสถาน ศาสนาและความเชื่อถือ หลักฐานที่จัดแสดง ได้แก่ พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา เหรียญตราประทับดินเผา จารึกภาษาบาลี สันสกฤต และรูปเคารพต่างๆ
ห้องอิทธิพลศิลปะเขมร-ลพบุรี จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ โบราณคดีสมัยชนชาติขอมแผ่อิทธิพลเข้าปกครองเมืองลพบุรี และบริเวณภาคกลางของประเทศไทย ได้แก่ ทับหลังพระพุทธรูปปางนาคปรก พระพุทธรูปปางประทานอภัย เป็นต้น
ห้องประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จัดแสดงศิลปกรรมที่พบตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๘ ได้แก่ ศิลปะแบบหริภุญไชย ศิลปะล้านนา ศิลปะสมัยลพบุรี เช่น พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร พระพิมพ์ และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยต่างๆ
ห้องประวัติศาสตร์ศิลปกรรมสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๔ ได้แก่ พระพุทธรูป เครื่องถ้วย เงินตรา อาวุธ เครื่องเงิน เครื่องทอง และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมปูนปั้นและไม้แกะสลักต่างๆ
ห้องศิลปะร่วมสมัย จัดแสดงภาพเขียนและภาพพิมพ์ศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทย
ห้องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและพระราชประวัติของสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ซึ่งโปรดฯ ให้สร้างพระราชวัง ณ เมืองลพบุรีเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๙ ได้แก่ ภาพพระบรม สาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ เครื่องใช้ แท่นพระบรรทม เหรียญทอง และจานชามมีรูปมงกุฎซึ่งเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ เป็นต้น
พระที่นั่งจันทรพิศาล เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และพระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และห้องด้านหลังจัดแสดงงานประณีตศิลป์สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
หมู่ตึกพระประเทียบ (อาคารชีวิตไทยภาคกลาง) เป็นอาคารลักษณะสถาปัตยกรรมผสมแบบตะวันตก จัดแสดงเรื่องชีวิตไทยภาคกลาง การดำรงชีวิต ที่อยู่อาศัย เครื่องมือ เครื่องใช้ประกอบอาชีพประมง การเกษตร และศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของคนไทยภาคกลาง โดยเฉพาะจังหวัดลพบุรี ที่ใช้ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ จัดแสดงหนังใหญ่ เรื่องรามเกียรติ์ซึ่งมาจากวัดตะเคียน ตำบลท้ายตลาด อำเภอเมืองลพบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำาปี ๒๕๔๕ รางวัลดีเด่นประเภทแหล่ง ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐- ๑๖.๓๐ น. ปิดวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าเข้าชม ชาไทย ๓๐ บาท ชาวต่าประเทศ ๑๕๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๓๖๔๑ ๑๔๕๘
วัดเสาธงทอง ตั้งอยู่บนถนนฝรั่งเศสซึ่งตัดเชื่อมระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ กับบ้านหลวงรับราชทูต เป็นวัดเก่าแก่ แยกเป็นสองวัดคือ วัดรวก และวัดเสาธงทอง พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เตชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ได้รายงานกราบทูลเสนอความคิดต่อ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณ วโรรส เมื่อคราวเสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลอยุธยาว่า “วัดรวกมีโบสถ์ วัดเสาธงทองมีวิหาร สมควรจะรวมเป็นวัดเดียวกัน” ทรงดำริเห็นชอบให้รวมกันและให้เรียก ชื่อว่า “วัดเสาธงทอง”
ภายในวัดมีโบราณสถานที่ควรชมคือ พระวิหาร ซึ่งแต่เดิมคงสร้างขึ้นเพื่อ เป็นศาสนสถานของศาสนาอื่น เพราะจากแผนที่ของช่างชาวฝรั่งทำไว้ ระบุว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่พำนักของชาวเปอร์เซีย พระวิหารหลังนี้อาจเป็น ที่ประกอบพิธีทางศาสนาอิสลามของชาวเปอร์เซีย นอกจากนั้นยังมีตึก ปิจู ตึกคชสารหรือตึกโคระส่านเป็นตึกเก่าสันนิษฐานว่าใช้เป็นที่พำนักของแขกเมืองและราชทูตชาวเปอร์เซีย
บ้านหลวงรับราชทูต หรือ บ้านหลวงวิชาเยนทร์ ตั้งอยู่บนถนนวิชาเยนทร์ ห่างจากปรางค์แขก ๓๐๐ เมตร ทางทิศเหนือของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ใช้เป็นที่รับรองราชทูตที่มาเฝ้าฯ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสชุดแรกที่เข้ามาเมื่อปีพ.ศ. ๒๒๒๘ ได้ พำนัก ณ ที่แห่งนี้ ต่อมา Constantine Phaulkon (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ซึ่งเป็นชาวกรีกได้เข้ามารับราชการได้รับความดี ความชอบ และได้รับ การแต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาวิชาเยนทร์” และได้รับพระราชทานที่พักอาศัยทางทิศตะวันตกของบ้านหลวงรับราชทูต เจ้าพระยาวิชาเยนทร์มีภริยาชื่อ มารี เดอร์ กีมาร์ หรือคนไทยรู้จักในชื่อ “ท้าวทองกีบม้า” ต้นตำรับขนม ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง พื้นที่ในบริเวณบ้านหลวงรับราชทูตแบ่ง ออกเป็น ๓ ส่วน คือ
ส่วนทิศตะวันตก เป็นที่พักอาศัยของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ลักษณะเป็นตึก สองชั้นหลังใหญ่ก่อด้วยอิฐและอาคารชั้นเดียวแคบยาว ซุ้มประตูทางเข้าเป็น รูปโค้งครึ่งวงกลม
ส่วนกลางมีอาคารที่สำาคัญ คือ ฐานของสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นหอระฆัง และโบสถ์คริสต์ศาสนา ซึ่งอยู่ทางด้านหลังซุ้มประตูทางเข้าเป็นรูปจั่ว ส่วนทิศตะวันออก เป็นอาคารที่พักอาศัยของคณะทูต ได้แก่ กลุ่มอาคารใหญ่ ๒ ชั้น มีบันไดขึ้น ทางด้านหน้าเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ซุ้มประตูทางเข้ามี ลักษณะเช่นเดียวกับทางทิศตะวันตก
ลักษณะของสถาปัตยกรรมในบ้านหลวงรับราชทูตบางหลังเป็นแบบยุโรป อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอาคารใหญ่ทางทิศตะวันออกก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น หน้าต่างและซุ้มประตูแสดงให้เห็นถึงศิลปะตะวันตกแบบเรอเนสซองส์ ซึ่งแพร่หลายในสมัยนั้น และที่สำคัญ อาคารที่เป็นโบสถ์คริสต์ศาสนา ผังและแบบของโบสถ์เป็นแบบยุโรป มีซุ้มหน้าต่างเป็นซุ้มเรือนแก้ว มีเสา ปลายเป็นรูปกลีบบัวยาวซึ่งเป็นศิลปะไทย โบสถ์เหล่านี้นับว่าเป็นโบสถ์ คริสต์หลังแรกในโลกที่ตกแต่งด้วยรูปแบบของโบสถ์ทางพระพุทธศาสนา สามารถเข้าชมได้ระหว่างเวลา ๐๗.๐๐-๑๗.๐๐ น. ปิดวันจันทร์-อังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๕๐ บาท หรือ สามารถซื้อบัตรรวมชาวไทย ๓๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๑๕๐ บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระที่นั่งไกรสรสีหราช พระปรางค์สามยอดและบ้านหลวงวิชาเยนทร์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงานศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี โทร. ๐ ๓๖๔๑ ๒๕๑๐, ๐ ๓๖๔๑ ๓๗๗๙
ศาลหลักเมือง หรือ ศาลลูกศร ตั้งอยู่ถนนสายริมน้ำหลังวัดปืนใหญ่ ใกล้กับบ้านวิชาเยนทร์ ตัวศาลาเป็นตึกเล็กๆ มีเนื้อที่ ๑๒ ตารางเมตร มีแท่งหินแท่งหนึ่งโผล่ เหนือระดับพื้นดินขึ้นมาประมาณ ๑ เมตร เป็น ศาลเจ้าหลักเมืองโบราณที่เรียกว่า “ศาลลูกศร” สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับศาลลูกศรไว้ในตำนาน เมืองลพบุรีว่า “หลักเมืองลพบุรี อยู่ทางตลาดข้างเหนือวัง เรียกกันว่า ศรพระราม จะมีมาแต่ก่อนสมัยขอมฤาเมื่อครั้งขอมทราบไม่ได้แน่ ที่เรียก กันว่าศรพระรามนั้นเกิดแต่เอาเรื่องรามเกียรติ์ สมมติฐานเป็นตำนาน ของเมืองนี้ คือ เมื่อเสร็จศึกทศกัณฑ์ พระรามกลับไปครองเมืองอโยธยาแล้ว จะสร้างเมืองประทานตรงนั้น ลูกศรพระรามไปตกบนภูเขาบันดาลให้ ยอดเขานั้นราบลง หนุมานตามไปถึงจึงเอาหางกวาดดิน เป็นกำแพงเมือง หมายไว้เป็นสำคัญ แล้วพระวิษณุกรรมลงมาสร้างเมือง ครั้นเสร็จแล้ว พระรามจึงประทานนามว่า “เมืองลพบุรี” ด้วยเหตุนี้จึงอ้างกันมาก่อนว่า หลักเมืองนั้นคือลูกศรพระรามที่กลายเป็นหิน และเนินดินตามกำแพงเมือง ที่ยังปรากฏอยู่เป็นของหนุมานที่เอาหางกวาดทำไว้”
อ่านต่อ สถานที่เที่ยว แหล่งท่องเที่ยวอำเภอเมืองลพบุรี ตอนที่ 2