งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จัดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีต่อเมืองลพบุรีและประเทศชาติ เนื่องจากเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่ง ที่สองในสมัยนั้นที่พระองค์ทรงโปรดปรานประทับอยู่ที่นี่นานเกือบตลอดปี เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้นจึงจะเสด็จไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยา ในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การแสดงแสงและเสียง การสาธิต วิถีชีวิตไทย งานราตรีวังนารายณ์ การละเล่นของเด็กไทย (จุก แกละ โก๊ะ เปีย) การละเล่นพื้นเมือง มหรสพ และการออกร้านจำหน่ายสินค้า พื้นเมือง
ประเพณีกำฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวน ซึ่งมีอยู่หลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองลพบุรีและอำเภอบ้านหมี่ จัดขึ้นเพื่อขอพรจาก เทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล มักจะถือ เอาวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันสุกดิบ และวันรุ่งขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันกำฟ้า โดยชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญใส่บาตรด้วยข้าวหลามและ ข้าวจี่ ช่วงบ่ายมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น มอญซ่อนผ้า ช่วงชัย หม่าเบี้ย และหมากันห่าน
ประเพณีแห่พระศรีอาริย์ วัดไลย์ หรือ ประเพณีแห่พระศรีอาริย์ จัดในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ทางวัดจะจัดให้มีการอัญเชิญพระศรีอาริย์ มาประดิษฐานบนแท่นตะเฆ่ แล้วให้ประชาชนร่วมกันชักพระไปทางทิศ เหนือ เริ่มจากวัดไลย์ไปสุดทางที่วัดท้องคุ้ง แล้วชักกลับมายังวัดไลย์ ระหว่างทางจะมีผู้เข้าร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก มีการหยุดขบวนในแต่ละจุด เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้สรงน้ำและนมัสการ ตลอดระยะทางจะมีผู้ตั้งโรงทาน สำหรับเลี้ยงอาหารฟรีแก่ผู้เข้าร่วมขบวนแห่นับสิบแห่ง
ประเพณีใส่กระจาด หรือ ประเพณีเสื่อกระจาด ตามภาษาพวน เรียกว่า “เส่อกระจาด” เป็นประเพณีของชาวไทยพวนซึ่งปฏิบัติกันในเขตอำเภอ บ้านหมี่ จัดให้มีขึ้นในงานเทศกาลเทศมหาชาติ ในช่วงเทศกาลออกพรรษา (เดือน ๑๑) ข้างแรม ก่อนถึงวันใส่กระจาด ๑ วัน ชาวบ้านจะช่วยกัน ทำขนมห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น รุ่งขึ้นจะเป็นวันใส่กระจาดโดยจะนำสิ่งของ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม ธูปเทียน หรืออื่น ๆ มาใส่กระจาดตามบ้านของคนรู้จัก เจ้าของบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาเลี้ยงรับรองแขก เมื่อแขกกลับ เจ้าของบ้านจะนำข้าวต้มมัดฝากไปให้ เรียกว่า “คืนกระจาด” ในวันรุ่งขึ้น เป็นวันเทศน์มหาชาติ เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี
งานประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยน (เทโวโรหณะ) จัดขึ้นในวันออกพรรษาของทุกปี ประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนวัดเขาพระงาม (วัดจันทร นิมิตวรวิหาร) เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ในอดีต แต่ไม่มีการบันทึกไว้อย่าง เป็นทางการ อีกทั้งเป็นการนมัสการพระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล (หลวงพ่อใหญ่) พระพุทธรูปเก่าแก่องค์ใหญ่ที่ประดิษฐานบนเทือกเขา พระงาม ที่คนในท้องถิ่นให้ความเคารพบูชา ประเพณีดังกล่าวควรค่าแก่การ อนุรักษ์ และสืบสานให้คงอยู่สืบไป
งานเลี้ยงโต๊ะจีนลิง จัดขึ้นในวันอาทิตย์ สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ณ พระปรางค์สามยอด ใกล้กับศาลพระกาฬ บริเวณนี้มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็น จำนวนมาก จึงมีการเลี้ยงอาหารที่ตกแต่งอย่างสวยงามเป็นพิเศษสำหรับ ลิง และยังมีการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ
งานทุ่งทานตะวันบานที่ลพบุรี จัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ดอกทานตะวันบาน ปัจจุบันจังหวัดลพบุรีมีพื้นที่ปลูก ทานตะวันนับแสนไร่ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต ดอกทานตะวันจะบาน เหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามของจังหวัด ลพบุรี ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การถ่ายภาพท่ามกลางบรรยากาศ ของทุ่งทานตะวันที่บานสะพรั่ง นั่งรถ ขี่ช้าง ขี่ม้าชมทุ่งทานตะวัน เลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน และสินค้า OTOP มากมาย
ประเพณีลอยกระทงย้อนยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม จัดขึ้นในวันลอยกระทง ณ บริเวณวงเวียนศรีสุริโยทัย (วงเวียนสระแก้ว) งานประเพณีลอยกระทง “ย้อนยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม” จัดขึ้นเพื่อเป็นการสืบสานประเพณี ให้คงไว้ด้วยเอกลักษณ์ของกิจกรรมการลอยกระทง โดยภายในงาน ลอยกระทง ย้อนยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การแต่งการย้อนยุคสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม การประกวดกระทง การประกวดนางนพมาศ การแสดงแสง สี เสียง ชมขบวนแห่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเพณีลอยกระทง การจุดพลุประดับไฟที่สวยงาม และกิจกรรมอื่นๆ