อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๓๐ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๒ จังหวัดคือ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอน้ำขุ่น และอำาเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๘๓ ของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ สภาพภูมิประเทศทั่วไปส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาตามแนวทิวเขาพนมดงรักกั้นชายแดนไทย – กัมพูชา พื้นที่ปกคลุมด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยหาอาหารข้ามไปมาในผืนป่าระหว่างสองประเทศ ได้แก่ หมูป่า กวาง เก้ง กระต่าย กระรอก ชะนี ชะมด เป็นต้น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารยังมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
ผามออีแดง ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย – กัมพูชา เป็นหน้าผาหินสีแดงที่มีทัศนียภาพกว้างไกลสุดตา และจากจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นปราสาทเขาพระวิหารได้ นับเป็นจุดชมวิวในมุมสูงที่สวยงาม แห่งหนึ่งในภาคอีสาน
ภาพสลักนูนต่ำ อยู่ทางทิศใต้ของผามออีแดง มีบันไดให้ลงไปชมได้สะดวก เป็นภาพเทพสามองค์ เชื่อว่าเป็นที่ซ้อมมือของช่างในการแกะสลักก่อนเริ่มการแกะสลักจริงที่ปราสาทเขาพระวิหาร
สถูปคู่ ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของผามออีแดง ตัวสถูปทำจากหินทรายตัดเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านบนกลมมนตั้งอยู่คู่กัน ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของสมัยนั้น
ปราสาทโดนตวล อยู่บริเวณบ้านภูมิซรอล ตำบลบึงมะลู ห่างจากหน้าผาชายแดนไทย – กัมพูชา ๓๐๐ เมตร สร้างราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ เป็นปราสาทหินแบบขอม มีตำนานเล่าว่านางนมใหญ่ (เนียง ด็อฮฺ ธม) ได้แวะพักที่แห่งนี้ในขณะที่เดินทางไปเฝ้ากษัตริย์พระองค์หนึ่ง
การเดินทาง ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔๓ กิโลเมตรที่ ๙๑ เข้าไป ๔ กิโลเมตร
สระตราว หรือ ห้วยตราว เป็นธารน้ำอยู่ตรงบริเวณลานหินเชิงเขาพระวิหาร มีสายน้ำไหลผ่านถ้ำใต้เพิงหินลงสู่บริเวณที่ลุ่มต่ำ ซึ่งมีแนวหินซ้อนกั้นสายน้ำให้ไหลไปตามต้องการ สันนิษฐานว่าที่ลุ่มดังกล่าวคือ บารายหรือแหล่งเก็บน้ำของขอม ปัจจุบันได้มีการบูรณะ และทำความสะอาดบริเวณสระตราวสำหรับเก็บกักน้ำ และนำมาใช้อุปโภค
น้ำตกและถ้ำขุนศรี น้ำตกอยู่เหนือถ้ำขุนศรีสูง ๓ ชั้น ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของสระตราว ใกล้เส้นทางเดินขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร ส่วนถ้ำขุนศรีภายในมีขนาดกว้างเชื่อกันว่าเป็นที่พักของขุนศรี ขณะมาควบคุมการตัดหินบริเวณสระตราวเพื่อใช้สร้างปราสาทเขาพระวิหาร
เขื่อนห้วยขนุน เป็นอ่างเก็บน้ำชลประทานและเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยาน ฯ เขื่อนห้วยขนุน ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ๒๕ กิโลเมตร มีทิวทัศน์สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนเที่ยวชมธรรมชาติ และเข้าค่ายกางเต็นท์พักแรม
ช่องอานม้า เป็นจุดผ่อนปรนในการค้าขายและผ่านแดนระหว่างไทย – กัมพูชา อยู่ที่ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเฉพาะวันอังคารและวันพฤหัสบดี
การเดินทาง จากกรุงเทพมหานครใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข ๒ (มิตรภาพ) ก่อนถึงอำเภอสีคิ้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๔ ผ่านอำเภอปักธงชัย อำเภอสังขะ และอำเภอขุขันธ์ ถึงสี่แยกตัดกับทางหลวงหมายเลข ๒๒๑ เลี้ยวขวาเข้าสู่อำเภอกันทรลักษ์ แล้วต่อไปยังที่ทำาการอุทยานฯ
จากจังหวัดอุบลราชธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๗๘ และ ๒๒๑ ผ่านอำเภอวารินชำราบ อำเภอสำโรง อำเภอเบญจลักษ์ และอำเภอกันทรลักษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พักและสถานที่
กางเต็นท์ได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร โทร. ๐ ๔๕๘๑ ๘๐๒๑, ๐ ๔๕๘๑ ๘๐๒๕ หรือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ www.dnp.go.th
ปราสาทเขาพระวิหาร อยู่ห่างจากอำเภอกันทรลักษ์ ๓๕ กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรักในเขตราชอาณาจักรกัมพูชา บริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย ตัวปราสาทหันหน้ามาทางด้านที่ติดกับประเทศไทย ปราสาทเขาพระวิหารเดิมอยู่ในความดูแลของไทย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๓ แต่หลังจากการตัดสินของศาลโลก ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นต้นมาได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การดูแลของราชอาณาจักรกัมพูชา จนถึงปัจจุบัน สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดให้เข้าชมปราสาทเขาพระวิหารได้ที่ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ โทร. ๐ ๔๕๖๖ ๑๔๒๒ และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ ๒๓ โทร. ๐ ๔๕๖๖ ๑๔๔๓
เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่น้ำตกภูละออ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก ตำบลเสาธงชัย การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๒๑ (กันทรลักษ์ – ผามออีแดง) ระยะทาง ๒๓ กิโลเมตร ถึงบ้านภูมิซรอล – น้ำตกสำโรงเกียรติ์ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายสู่น้ำตกภูละอออีก ๒.๕ กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย
น้ำตกภูละออ เป็นน้ำตกขนาดเล็กจะสวยงามในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ทางเดินเท้าจากบริเวณลานจอดรถถึงน้ำตกระยะทางไป-กลับ ๔ กิโลเมตร ได้รับการพัฒนาให้เป็นเส้นทางที่ให้ความรู้เรื่องพืชพันธุ์และสภาพภูมิประเทศ ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยวในลักษณะเดินป่าศึกษาธรรมชาติ