หอเกียรติภูมิรถไฟ ตั้งอยู่ด้านเหนือของสวนจตุจักรใกล้บริเวณลานจอดรถเอนกประสงค์ประตู ๒ (ตรงข้ามสวนรถไฟ) ถนนกำาแพงเพชร ๓ เป็นอาคารเก่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ๓๐ ปีมาแล้วเพื่อใช้เป็นที่เก็บขบวนรถไฟพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และหัวรถจักรประวัติศาสตร์บางคัน ต่อมาได้ถูกปิดไประยะหนึ่ง ภายหลังได้รับการปรับปรุง และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นสถานที่รวบรวมและให้ความรู้เกี่ยวกับการรถไฟ มีการจัดแสดงรถจักรไอน้ำ รถจักรจำลอง ขบวนรถไฟเล็กขนาดต่างๆ ภาพถ่าย และภาพวาดเกี่ยวกับเกียรติภูมิของการรถไฟโลก รวมทั้งสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ อีกมากมาย เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๐๐-๑๕.๐๐ น. ปิดวันจันทร์-ศุกร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียดได้ที่ “ชมรมเรารักรถไฟ” คุณจุลศิริ วิรยศิริ ผู้อำนวย การหอเกียรติภูมิรถไฟ โทร. ๐๘ ๑๖๑๕ ๕๗๗๖
พิพิธภัณฑ์เด็ก กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ บนพื้นที่ ๕ ไร่ เป็นโครงการที่สืบเนื่องจากพระราชปรารภในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลินของเด็กไทย และจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัวของชาวกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครจึงได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการ ๓ หลัง พร้อมลานกิจกรรมกลางแจ้ง ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา
พิพิธภัณฑ์เด็กแห่งนี้ได้นำเสนอและจัดการเรียนรู้บนแนวความคิดหลักที่ว่า “เอกภาพบนความหลากหลาย” (HARMONY IN DIVERSITY) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เด็กจะได้เห็นว่า “สรรพสิ่งล้วน ๑. แตกต่างหลากหลาย (DIVERSITY) ไม่มีสิ่งใดเหมือนกันทุกอย่าง แม้แต่มนุษย์ก็ไม่เหมือนกัน ๒. สัมพันธ์พึ่งพากัน (INTERDEPENDENCE) สรรพสิ่งนั้นสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน องค์ความรู้แต่ละด้านไม่ได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ด้วยตัวเอง หากแต่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน เป็นเหตุปัจจัยของกัน และพึ่งพาอาศัยกัน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะดนตรี การแต่งกาย การสร้างบ้านเรือน ซึ่งเชื่อมโยงกับสภาพภูมิประเทศ หรือน้ำกับต้นไม้ สัตว์กับคนที่ต้องพึ่งพากัน ๓. แปรเปลี่ยน พัฒนา ไม่หยุดนิ่ง (DYNAMIC) ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและเสื่อมสลายตลอดเวลา”
ภายในมีนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ น. วันเสาร์-อาทิตย์ ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. ปิดวันจันทร์ ค่าเข้าชม เด็ก ๕๐ บาท ผู้ใหญ่ ๗๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๖๑๕ ๗๓๓๓ ต่อ ๑๐๒, ๑๓๔, ๑๔๘
อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถนนกำแพงเพชร ๓ มีพื้นที่ประมาณ ๖ ไร่ บริเวณอุทยานประกอบด้วย ๔ ส่วนหลัก คือ ๑. ส่วนแนะนำเกี่ยวกับอุทยานผีเสื้อและแมลงด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ระบบสัมผัส ๒. ห้องมินิเธียเตอร์จัดฉายวิดีทัศน์เรื่องแมลงกับระบบนิเวศ ๓. บริเวณนิทรรศการ ห้องเพาะเลี้ยงตัวอ่อนของผีเสื้อและแมลง ๔. ตัวอาคารส่วนที่เป็นกรงมีพื้นที่ ๑,๑๖๘ ตารางเมตร สร้างในลักษณะโดมขนาดใหญ่ สูง ๑๕ เมตร สามารถระบายอากาศได้ เนื่องจากใช้วัสดุโปร่งในการก่อสร้าง จัดแสดงผีเสื้อกว่า ๕๐๐ ตัว ๒๐ ชนิด บริเวณของอุทยานมีส่วนเชื่อมต่อกับสวนจตุจักรและสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ นับเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้ และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาค้นคว้า วิจัย รวบรวม แลกเปลี่ยนความรู้เรื่อง พันธุ์ผีเสื้อและแมลง วงจรชีวิต รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของผีเสื้อและแมลง เปิดวันอังคาร-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. ปิดวันจันทร์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๒๗๒ ๔๓๕๙-๖๐, ๐ ๒๒๗๒ ๔๖๘๐
พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งอยู่ใน SCB Park ของธนาคารไทยพาณิชย์ ถนนรัชดาภิเษก ตั้งขึ้นเพื่อแสดงพัฒนาการด้านการเงินการธนาคารของโลกและของชาติไทย มีการจัดแสดงเงินตราต่างๆ มากมาย โดยมีต้นแบบธนาคารไทยแห่งแรก คือ แบงค์สยามกัมมาจล ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๔๔๙ ภายในแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ ๑.ส่วนเงินตรา ๒.วิวัฒนาการธนาคาร ธนาคารแห่งแรก ๓.ต้นแบบธนาคารไทย ๔.ธนาคารไทยพาณิชย์กับการก้าวสู่ยุคปัจจุบันและอนาคต เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๗.๐๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๕๔๔ ๔๕๒๕-๗ โทรสาร ๐ ๒๕๔๔ ๔๐๖๘ หรือ www.thaibankmuseum.or.th (เข้าชมเป็นหมู่คณะทำจดหมาย เรียน ผู้จัดการบริหารงานพิพิธภัณฑ์ ล่วงหน้าอย่างน้อย ๑ สัปดาห์)
พิพิธภัณฑ์อัยการไทย ตั้งอยู่ชั้น ๑๑ สำานักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก จัดแสดงเรื่องราววิวัฒนาการของสถาบันอัยการไทยที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นแหล่งรวมหนังสือกฎหมายโบราณ และข้าวของเครื่องใช้ของอัยการที่รวบรวมจากสำนักอัยการจังหวัดต่างๆ สำานวนคดีประวัติศาสตร์ เช่น คดี ๖ ตุลา ๑๙, คดีเชอรี่ แอน เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๕๔๑ ๒๙๕๑ (เข้าชมเป็นหมู่คณะทำจดหมายเรียน ศูนย์วิทยบริการคณะ ล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน)
พิพิธภัณฑ์ศาลไทย ตั้งอยู่บริเวณชั้น ๕ ของอาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการ ฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมแห่งใหม่ ถนนรัชดาภิเษก การจัดแสดงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนของหอจดหมายเหตุ เก็บเอกสารสำนวนคดีสำคัญต่างๆ เช่น สำนวนคดีลงโทษนักการเมือง ฉลองพระองค์ครุยของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จแทนพระองค์เปิดอาคาร โต๊ะเก้าอี้ที่ประทับ อีกด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของศาลสถิตยุติธรรม ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยาสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงห้องจำลองการพิจารณาคดีในยุคปฏิรูประบบการศาลไทย เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. ปิดวันเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่เสียค่าเข้าชม สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๕๑๒ ๘๔๑๓ (เข้าชมเป็นหมู่คณะทำจดหมายเรียน ผู้อำนวยการกองวิทยบริการศาลยุติธรรม)