คล้ายหยดน้ำเล็กๆ เคียงท้องทะเลเวิ้งว้าง
คือความรู้สึกแรกที่เห็นอ่างเก็บน้ำบางพระ มองจากยอดเขา หยดน้ำเล็กๆ นี้ยิ่งคล้ายละอองจากท้องทะวิ้งว้างกว้างใหญ่
นกตะกรุมฝูงหนึ่งบินร่อนเหนืออ่างเก็บน้ำ ปีกเรียวยาวนั้นดูโดดเด่นกว่านกอื่นใด ครั้งหนึ่ง พวกเขาเกือบหายสูญไปจากบ้านเรา เช่นเดียวกับนกน้ำขนาดใหญ่หลาชนิดที่มีชะตากรรมคล้ายคลึงกัน
หยดน้ำเล็กๆ นี่คือบ้านหลังใหม่ของพวกเขา บ้านหลังเล็กทว่าอุดมสมบูรณ์ อบอุ่น และปลอดภัย
ย้อนเวลากลับไป อ่างเก็บน้ำบางพระเดิมมีลักษณะเป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ โดยมีลำห้วยน้อยใหญ่จากเทือกเขาเขียวทอดสายมารวมกัน
ในฤดูฝน สายน้ำต่างๆ จะหลั่งไหลเอ่อท้นเป็นบึงน้ำกว้าง ล่วงฤดูแล้งก็ลดระดับกลายเป็นที่ลุ่มชุ่มน้ำ เป็นที่อาศัยของนกทุ่งและนกน้ำหลากหลายชนิด ขณะป่าละเมาะและต้นไม้ใหญ่รายรอบก็เป็นบ้านของกระต่ายป่า เก้ง และฝูงกวางป่า
เดิมพื้นที่แถบนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมชลประทาน เมื่อมีการแผ้วถางรุกล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเมืองใกล้ๆ อย่างศรีราชา และบางแสนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงมีโครงการร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำในปี พ.ศ. 2515
ที่ลุ่มบางพระจึงกลายเป็นอ่างเก็บน้ำกว้าง 10,250 ไร่ ขณะป่าละเมาะและต้นไม้ร้อบๆ นั้นกลายเป็นพื้นที่สีเขียวของชีวิตมากมาย
พ.ศ. 2519 กรมป่าไม้ประกาศพื้นที่ 11,600 ไร่ ครอบคลุมทั้งผืนดินและผืนน้ำเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อดูแลและอนุรักษ์ชีวิตทั้งหลาย
“หยดน้ำเล็กๆ” นี้จึงกลายเป็นบ้านหลังใหม่ของสัตว์ป่าและนกน้ำ
บ้านที่พร้อมจะชุบชีวิตใหม่ๆ ในวันข้างหน้า
ความหมายของ “บ้าน” อาจไม่ได้จำกัดอยู่ที่ขนาด เล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญเท่าคุณค่าที่มีภายใน
ผมค่อยๆ เข้าใจนิยามนี้ระหว่างเดินเลาะเลียบอ่างเก็บน้ำ
เสียงนกจาบฝนร้องกังงานหวานมาจากทุ่งหญ้า นกกระแตแต้แว้ด เยื้องย่างไม่ห่างรังที่สร้างไว้บนผืนดิน ชีวิตเหล่านี้ทำให้ผมนึกถึงสืบนาคะเสถียร ชายที่คนไทยเคารพรักและศรัทธา
พ.ศ. 2524 หลังกลับจากศึกษาปริญญาโทสาชาอนุรักษ์วิทยาที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ สืบรับหน้าที่เป็นหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ ระหว่างนั้น เขาทำวิจัยควบคู่ไปด้วยโดย “ศึกษาการทำรังวางไข่ของนำน้ำบางชนิด”
อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตเล็กๆ รอบบึงน้ำนี้คือรูรายแรกๆ ที่ทำให้สืบเข้าใจคุณค่าแท้จริงของธรรมชาติ
“พี่สืบเป็นคนจริงจัง ตั้งใจจะทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จ “ทรงกลดภู่ทอง” หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ เล่าถึง “รุ่นพี่” ด้วยน้ำเลียงอาลัย
ดูเหมือนว่าความเป็นคน “มุ่งมั่น” จะถ่ายทอดมายังรุ่นน้องคนนี้ด้วย
พ.ศ. 2525 สถานีเพาะเลียงนกน้ำบางพระ ก่อตั้งขึ้นริมอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อดำเนินโครงการอนุรักษ์นกกระเรียนไทย สัตว์ป่าสงวนซึ่งขณะนั้นกล่าวได้ว่า “สูญพันธุ์” ไปจากประเทศไทยแล้ว
ทรงกลดเข้ามาทำงานที่สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ในอีก 2 ปีต่อมา เขาเป็นคนแรกๆ ที่ศึกษาชีวิตนกกระเรียนอย่างจริงจัง เมื่อมีโอกาสไปอบรมที่มูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (International Crane foundation : ICF) ที่รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เวลา 2 ปีนั้นทำให้เขาเข้าใจชีวิตนกกระเรียนลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ความมุ่งมั่นของเขาทำให้เราเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่ขยายพัน์นกกระเรียนไทย (Eastern Sarus Crane) ในสถานเพาะเลี้ยงได้
นั่นทำให้ประชากรนกกระเรียนไทยค่อยๆ เพิ่มจำนวน นำไปสู่การทดลองปล่อยพวกเขา คืนสู่ธรรมชาติ ครั้งแรกที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อง พ.ศ. 2540 ซื่งแม้จะไม่สำเร็จ ทว่าก็เป็นก้าวแรกที่น่าเอาใจช่วย
เสียงนกจาบฝนยังร้องกังวานหวาน จากชายทุ่งหญ้าริมน้ำ ผมเดินผ่านร่มเงของตามจุรีมาที่กรงเพาะเลี้ยงนกกระเรียนไทย
เสียงแหลมสูงดังก้องมาจากกรงนกกระเรียนหนุ่มสาวคู่หนึ่ง แล้วก็ก้องกังวานเป็นคลื่นเสียงตรงโน้นตรงนี้
พวกเขาเป็นสัตว์ที่ระมัดระวังตัวค่อนข้างสูง การเลี้ยงดูพวกเขาโดยยังคงสัญชาติญาณเดิมเช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องจำเป็น
“หากเราจะเพิ่มจำนวนเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เตาจะต้องไม่ให้ความเป็นมนุษษย์เข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา” ทรงกลดอธิบาย
ที่ ICF ที่เขาเคยอบรม แม้แต่การให้อาหารลูกนกกระเรียนเกิดใหม่ ยังให้ผ่านถึงมือรูปนกกระเรียน เสมือนป้อนอาหารจากปากของแม่ ฝึกหัดให้หากิน รวมถึงฝึกให้โบยบินไปยังถิ่นผสมพันธุ์วางไข่
กล่าวถึงชีวิตของนกกระเรียน พวกเขาถือกำเนิดบนโลกใบนี้กว่า 20 ล้านปีมาแล้ว ทั้งหมด 15 ชนิด อาศัยอยู่ตามที่ลุ่มชุ่มน้ำต่างๆ ใน 5 ทวีป
พวกเขาจัดเป็นนกที่มีรูปลักษณ์สง่างามที่สุดและสูงที่สุดในบรรดานกซึ่งบินได้ นกกระเรียนสายพันธุ์แอฟริกาเมื่อโตเต็มวัยจะสูงถึง 178 เซนติเมตร รวมถึงมีอายุยืนยาวกว่ามนุษย์โดยเฉลี่ย ที่ ICF นกกระเรียนวูปิง (Whooping Crane) ตัวหนึ่งมีอายุยืนยาวถึง 110 ปี
สำหรับนกกระเรียนในนิยามของมนุษย์ กว่าพันปีมาแล้วที่เรายกย่องพวกเขาในนามของความรักนิรันดร์และชีวิตอันยืนยาว
ชีวิตของพวกเขาปรากฏตามที่ต่างๆ ทั่วโลก บนภาพวาดยุคก่อนประวัติศาสตร์ในแอฟริกาและยุโรป ในหลุมศพของชาวอียิปต์ ในท่วงทำนองเพลงของชาวรัสเซีย รูปเคารพของชนพื้นเมืองอเมริกัน การเต้นรำของชาวอะบอริจินที่ออสเตรเลีย ในตำนานของชาวกรีก โรมัน ที่อินเดีย พวกเขาคือสัญลักษณ์แห่งรักนิรันดร์ ขณะชาวญี่ปุ่นเปรียบชีวิตนกกระเรียนกับความรักอันคงมั่นและชีวิตอันยืนยาว
ที่มุมหนึ่งของวิหารในหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รูปแกะหลักของนกกระเรียนนั้นงดงามยิ่ง ทองที่ปิดแลวามวาว สุกปลั่งดั่งศรัทธาในพุทธศาสนาของคนแถบถิ่นนี้
ฤดูร้อนโปรยละองเย็นชื่น นกกระจิบหญ้าสีเรียบร้องเพลงแว่วหวาน ขณะนกกาบบัวหนุ่มสาวคลอเคลียพร้อมให้กำเนิดชีวิตใหม่
เราก้าวเดินไปในทุ่งหญ้า กลิ่นดินเปียกหอมละมุน กรุ่นเกสรดอกไม้ล่องลอยมาจางๆ นี่กระมังบรรยากาศสงบงามแห่งบึงน้ำ
ผมชี้ชวนให้หญิงสาวดูนกอ้ายงั่ว พวกเขา 3-4 ตัวโบยบินเหนือบึงน้ำกว้าง ภาพเช่นนี้พบเห็นได้ไม่ง่ายเลยเมื่อราว 20 ปีก่อน เช่นเดียวกับนกน้ำขนาดใหญ่อย่างตะกรุมและกาบบัว ทว่าสำหรับนกกระเรียนไทย พวกเขาสูญสิ้นจากบ้านเราตั้งแต่ พ.ศ. 2511 แล้ว
ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ที่ลุ่มชุ่มน้ำอันสมบูรณ์และปลอดภัยหายไปจากบ้านเราในทุกๆภาค ที่หลงเหลือก็ถูกบุกรุกคุกคามจนนกน้ำหลายชนิดอาศัยอยู่ไม่ได้
“นกน้ำขนาดใหญ่ก็คล้ายเสือโคร่ง การมีอยู่ของพวกเขาคือดัชนีชี้วัดว่าแหล่งน้ำนั้นๆ สะอาดและสมบูรณ์แค่ไหน” ทรงกลดอธิบายง่ายๆ ทว่าเห็นภาพกระจ่างชัด
เย็นวันนั้น ผมตามพวกเขาไปที่ชายบึงน้ำ ตรงนั้นเป็นเนินหญ้าเขียวขจี เหมาะที่จะให้นกกระเรียนหนุ่มสาวได้เริ่มโบยบิน ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
เดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ ทรงกลดจะทดลองปล่อยนกกระเรียนคู่หนึ่งที่อ่างเก็บน้ำบางพระ หลังจากร่วมโครงการปล่อยนกกระเรียนที่อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำสนามบิน จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วได้ผลค่อนข้างน่าพอใจ
สายลมหลังฝนโบกโบยเย็นชื่น ต้นอ้อกอกกเอนไหว ตะวันดวงกลมค่อยๆ คล้อย นกกระเรียนหนุ่มสาวค่อยๆ เยื้องย่างออกจากกล่องพักรูปสี่เหลี่ยมสูงใหญ่ เพียงต้องสายลม เจ้านกกระเรียนหนุ่มก็โบกปีกเรียวยาวแล้วโจนตัวราวเริงระบำ ขณะนกกระเรียนสาวชูคอเรียวระหงสำรวจพื้นที่
แล้วพวกเขาก็เยื้องย่างเคยงกันในทุ่งหญ้า ท่วงท่าของทั้งสองนั้นกล่าวได้ว่าสง่างามยิ่ง ทั้งขณะเหยียดปีกสีครีมเรียวยาว ร้องเพลงกังวานหวาน และก้าวขาสีแดงสดสลับไปมาราวร่ายรำ
ในยามนั้น ผมคล้ายดื่ม่ำนิยามของคำว่า อิสรเสรี
โมงยามอันหอมหวาน สัญลักษณ์แห่งความยั่งยืนและรักนิรันดร์เป็นเช่นนี้ นึกถึงชีวิตของพวกเขา ในที่ต่างๆ บนโลกดูเหมือนจะมีวิถีนกกระเรียนเป็นเข็มทิศของวันพรุ่งนี้
พวกเขาคือนกนักเดินทาง ในฤดูเลือกคู่พวกเขาจะโบยบินไปไกลยังแหล่งทำรังวางไข่ เช่น นกกระเรียนไซบีเรีย (Siberian Crane) ที่เดินทางกว่า 5,000 กิโลเมตร ผ่าน 11 ประเทศ เพื่อไปให้กำเนิดลูกน้อยแถบประเทศอิหร่าน การเดินทางไกลเช่นนั้นจำเป็นต้องมีสถานที่แวะพัก อาจเป็นบึงน้ำสักแห่ง แม่น้ำอันปลอดภัยสักสาย เสมือนหยดน้ำเล็กๆ เรียงร้อยระหว่างหนทางอันยาวไกล
การรักษาหยดน้ำเล็กๆ เหล่านั้นได้ทั่วโลก ก็เท่ากับรักษาที่ลุ่มชุ่มน้ำอันอุดมสมบูรณ์ไปพร้อมกันด้วย และสำหรับนกกระเรียนไทย พ่อแม่พันธุ์ของพวกเขาคือนกกระเรียนจากกัมพุชา ในวันหนึ่ง พวกเขาอาจโบยบินจากบางพระไปเยือนบ้านเกิดแล้วให้กำเนิดทายาทรุ่นใหม่ ณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงแถบเวียดนามตอนใต้ การเดินทางเช่นนั้นจะเริ่มต้นในวันข้างหน้า เรียวปีกแห่งอิสรเสรีจะงดงามเพียงใด
คู่มือนักเดินทาง
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ บรรยากาศร่มรื่น มีนกให้ชมหลากหลายชนิด ดดยเฉพาะเจ้า “ฮูโป” หรือนกกะรางหัวขวาน นกเค้าโมง และนกกะรางหัวหงอกที่หาอาหารเป็นฝูง พวกเขาพบได้ง่ายและค่อนข้างใกล้
ด้านหลังสำนักงานมีเส้นทางดูนกและปั่นจักรยานเลียบบึงน้ำ ช่วงเช้าและเย็นจะมีโอกาสเห็นฝูงนกอ้ายงั่ว นกตะกรุม นกกาบบัว หากินอยู่ตามหาดเลน หากโชคดี อาจพบนกกระทาทุ่ง ซึงมีสีขนน่าชมยิ่งหากินอยู่ตามชายป่า อาจเห็นเก้งหรือกวางป่าออกหาอาหาร
อ่างเก็บน้ำบางพระมีถนนลาดยางวนรอบ มีจุดน่าแวะชมเป็นระยะ เช่น สถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ ที่มีนกน้ำขนาดใหญ่ให้ชมหลายชนิด โดยเฉพาะนกกระเรียนไทย ที่หน่วยพิทักษ์ป่าวังหิน ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่เรียงราย จะปูเสื่อพักผ่อนหรือเดินดูนกก็น่าสนใจ เยื้องสำนักงานเทศบาลตำบลบางพระมีสวนหย่อมเล็กๆ และร้านอาหาร คนท้องถิ่นนิยมขับรถมานั่งหย่อนใจ
ด้านทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำบางพระเป็นสันเขื่อน เป็นที่ตั้งสำนักชบประทานที่ 9 ทิวทัศน์น่าชม คนรักจักรยานนิยมมาปั่นบนเส้นทางช่วงนี้ในยามเช้าก็เหมาะจะชมตะวันลอยเรี่ยผืนน้ำ
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปอ่างเก็บน้ำบางพระ สะดวกสุดโดยเส้นทางมอเตอร์เวย์ ถึงทางแยกไปบางพระอินเตอร์เนชั่นแนล กอล์ฟคลับ เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานแล้วเลี้ยวขวาไปราว 500 เมตร ที่ทำการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระอยู่ริมถนนด้านซ้ายรามระยะทาง 110 กิโลเมตร
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก
สำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ มีบ้านพักและลานกางเต็นท์ให้บริการ ส่วนร้านอาหารนั้นมีให้เลือกหลายร้านบนเส้นทางวนรอบ เช่น ร้านป้า ร้านอาหารรสชาติพื้นบ้านที่รู้จักกันมานานกว่าสิบปี ร้านกาแหในสวนซึ่งมีทั้งกาแฟสดและอาหาร ช่วงเช้าน่าแวะไปชิมร้านข้าวแกงนครอยู่เยื้องประตูทางเข้าสำนักงานชลประทานที่ 9 รสจัดจ้านอย่างอาหารปักษ์ใต้ เลยสำนักงานเทศบาลตำบลบางพระไปไม่ไกลมีร้านซาลาเปานราธิวาส รสชาติดั้งเดิมจากจังหวัดนราธิวาส
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำบางพระ ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 20110 โทรศัพท์ 081 762 0911
ขอบคุณ อสท.