ในวันที่รู้ว่าโลกภายนอกภูเขาเล็กๆ ของอำเภอท่าใหม่นั้นไม่ได้มีค่ากับชีวิตเท่าแผ่นดินที่เธอเติบโต นางลักษณ์ มณีรัตน์ หันหลังกลับเข้ามาหาสวนผลไม้และเนื้อดินของปู่ย่า การก้าวเดินคล้ายกลับสู่วัยเยาว์ แม้ว่าจะห่างเหินมันไปนาน แต่บางคราวทางเดินอันมั่นคงอาจหมายถึงทางสายเก่าที่หลายคนเคยหันหน้าจากหาย
เราสืบเท้าตามเธอไปในโอบล้อมของสวนผลไม้แห่งชุมชนเขาบายศรี ภูเขาเนินเตี้ยๆ ที่แผ่ขยายเป็นดั่งตะกร้าผลไม้ของคนอำเภอท่าใหม่ นาทีเช่นนี้ราวกับโลกทวนย้อนไปสู่วันวาน
“แต่เดิมปู่ย่าตาทวดเราก็หากินกับสวนผลไม้นี่ล่ะ” พี่นงลักษณ์ยังจำวันที่หาบคอนทุเรียน เงาะ มังคุด ออกจากสวนที่เธอเติบโตมา ห้วงยามนั้นบ้านแซงลึกเป็นหนึ่งในหมู่บ้านเล็กๆ ของอำเภอท่าใหม่ที่เต็มไปด้วยผลไม้ โลกแห่งการซื้อขายตกทอดอยู่เพียงตลาดท่าใหม่ หรือเลยถัดขึ้นไปในตัวเมืองจันทบุรีบ้างเป็นครั้งคราว
ทางเดินไต่ลัดไปตามเรีอกสวนที่แผ่ขยาย ทุเรียนพื้นบ้านอย่างพวงมณีหยัดยืนต้นสูงสะท้อนอายุเป็นร้อยปีอยู่ในแวดล้อมของหมอนทองก้านยาว นาทีต้นฤดูฝนเช่นนี้ ในอากาศอัดครึ้มของเมืองที่ล้อมด้วยขุนเขาและทะเลอย่างเมืองจันท์ ความอัดอ้าวไม่อาจกั้นขวางหนทางชีวิต เลียงเก็บทุเรียนจากสวนนั้นสวนนี้แว่วยินอยู่ตลอดเส้นทาง
“เรารวมกลุ่มกันเพื่อต่อยอดให้สวนผลไม้และผู้คนมีทางเลือก” เธอว่าถึงวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี (บ้านแซงลึก) ที่มีกลุ่มสวนผลไม้เข้าร่วม หันหน้าเข้าหาการท่องเที่ยวเพื่อเดินหน้าควบคู่ไปกับราคาผลไม้ในตลาดหลัก ที่บางที่ชาวสวนผู้ลงแรงกลับไม่ได้เป็นผู้กำหนด
“มันเป็นเหมือนอีกหนึ่งทางเลิกนอกจากทำสวน ลงแรง ดูแลประคบประหงม และหาที่ขาย” หากมองจากกิจกรรมที่กลุ่มรักษ์เขาบายศรีทำ อาจคล้ายหลายสวนผลไม้ในเมืองจันท์ ที่การเที่ยวชมและชิมผลไม้อย่างทุเรียน มังคุด เงาะ ระกำ ที่สุกงอมตามฤดูกาลจะเป็นจุดเด่น ทว่าลึกลงไป พวกเขาล้วนมุ่งหมายให้หลายอย่างดำเนินไปมากกว่านั้น
ลัดเลาะผ่านสวนระกำ กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์เจืออยู่ตรงโคนต้นที่เต็มไปด้วยหนามแหลม พี่นงลักษณ์ค่อยๆ หยิบพวงระกำอันเกิดจากการตัดดอกระกำตัวผู้เพื่อผสมเกสรสละตัวเมีย คนที่นี่รู้จักและเข้าใจการแตกยอดในงานเกษตรกรรมมาอย่างชาญฉลาด
“เอาเอกลักษณ์เด่นของสละ คือออกผลเป็นพวง เป็นเครือ มาให้ระกำ” นอกเหนือไปจากนั้น เธอชี้ให้ดูอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดิน ที่หล่อเลี้ยงสวนโบราณเหล่านี้ไว้ได้ในยามน้ำแล้ง
ใครสักคนนั่งลงตรงโคนต้นทุเรียนโบราณอย่างพวงมณี ผลสุกติดอยู่ตามต้นที่เหยียดสูงขึ้นไปชนิดมองคอตั้งบ่า อายุร้อยกว่าปีของมัก่อเกิดเป็นความครึ้มร่ม ครั้นเมื่อตัดขั้วและเปิดเปลือกแหลมคมสู่พูด้านใน เราได้ลองความอร่อยหอมอันแสนเก่าแก่ ว่ากันตามตรง นาทีเช่นนี้เราอาจเหมือนเด็กน้อยที่ได้รับรางวัลอันโอชะจากผู้ใหญ่ใจดี
“สวนที่อยู่ในกลุ่มเราไม่เพียงแต่ต้องทำกิจกรรมเรื่องท่องเที่ยว ดูแลไม่ให้สวนรกเรื้อ แต่หมายถึงเน้นมุ่งไปที่ความเป็นสวนอินทรีย์” พี่นงลักษณ์ยิ้มนวลๆ พูดสำเนียงคนจันท์อ่อนหวาน เธอว่าสารพิษร้ายของปุ๋ยเคมีนั้นส่งผลกับคนในสวนอย่างพวกเธอมากไปกว่าคนนอกเสียอีก “เราอยู่กับมันตลอดเวลา”
สวนผสมไล่เรียงกันจนเกิดเป็นเส้นทางอันหนาตาและหอมหวาน เงาะโรงเรียน มังคุดที่ขนาดกำลังสวยกำลังเขียวนวลรอวันสุก ปลายทางของมันไม่ได้อยู่ในบ้านเราแล้วเท่าไหร่นัก “เดี๋ยวนี้มังคุดไซส์ใหญ่ ลูกสวยส่งไปจีนหมด ใครมาเที่ยวสวนจริงๆ นั่นละ ถึงได้ลอง”
บ้านไม้ริมถนนสายสงบในหมู่ 4 หลังนี้ ไม่เคยจางหายผู้มาเยือน เรากลับมาคลายร้อนท่ามกลางทุเรียนส่งกลิ่นหอม พี่นงลักษณ์คะยั้นคะยอให้ชิมทุเรียนหลากหลายชนิดพันธุ์ โลกแห่งการงานไหลเวียนไปพร้อมๆ กับคนเข้ามาท่องเที่ยวที่ดูเหมือนจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน
บ้านพักโฮมสเตย์ในสวนผลไม้ด้านหลังวางตัวเรียบง่ายในความร่มรื่น ขณะที่คนใจครอบครัวล้วนพร้อมหน้าในยามเย็น การงานจากสวนผลไม้กลายเป็นภาพชีวิตตรงหน้า ทั้งคัดมังคุด แยกทุเรียนที่สุกคาต้นและหล่นช้ำเตรียมทำทุเรียนกวน
หากวันเวลาผลักพาผู้คนให้เติบโต ภูเขาและเงาไม้ใหญ่ของผลไม้โบราณ ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งอาจคล้ายโลกที่หล่อหลอมผู้คนตรงนี้ขึ้นมา
ผู้คนที่ลืมตาขึ้นมาเพื่อพบว่า พืชผลล้วนมีค่าและเต็มไปด้วยความอบอุ่น หากพวกเขาไม่หันหน้าหนีหายไปจากมัน
มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างคันนั้นวนเวียนอยู่ในทางดินที่บ้านหมู่ 8 แห่งตำบลเขาบายศรี ผมและเพื่อนมองเห็นใบหน้าเข้มแดดลมและรอยยิ้มของเขามาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง สงสัยเหลือเกินว่า การเวียนวนอยู่ตามเส้นทางเดิมๆ ทั้งวี่วันนั้นมันให้ความรู้สึกเช่นไร..
เราเข้ามาที่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาบายศรี ห้วงยามแห่งการเก็บเกี่ยวสะท้อนอยู่ตรงกองทุเรียนหมอนทองตรงหน้า มันราวกับกำแพงสีเขียวอันแหลมคม ทว่าก็เปี่ยมอยู่ด้วยความหวังและหยากเหงื่อแรงงานอันแสนจริงแท้
ป้าวรรณี บุญสวัสดิ์ เดินนำเข้าไปสู่สวนทุเรียนเก่าแก่กว่า 70 ปีที่แน่นขนัด มีเพียงทางดินเล็กๆ ที่เวียนวนไปใต้กิ่งก้านอันเหยียดใหญ่ใบบัง “สำหรับคนสวนเมืองจันท์นะ เวลานี้น่ะเหนื่อยสุด” นาทีต่อมาเราเรียกป้าวรรณว่าป้าแกลบเหมือนหลายคนที่นี่ ป้าแกลบว่าไม่นับมังคุด ลองกอง หรือระกำ ทุเรียนเหมือนจะเป็นหัวใจหลักของชาวสวนจันทบุรี และฤดูกาลเก็บผลไม้ราวเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน นั้น คือสิ่งตอบแทนสำหรับแรงกายแรงใจที่พวกเขาลงกันไปทั้งช่วงปี
ด้านบนกิ่งก้านที่เหยียดสูงแทบทุกต้นมีชายคล่องแคล่วป่ายปีนไปเหมือนกับมันเป็นทางเดินเล่นเหนือที่สูง ต่ำลงมาเบื้องบ่างนั้นราวแยกกันไม่ได้ ผ้ากระสอบในมือคนที่คอยรอยามทุเรียนหล่นร่วงสะท้อนเสียงดังป้าบๆ เมื่อคนข้างบนตัดปลิด
มันเป็นสัมพันธภาพกลางสวนอันน่าเพ่งมองทำความเข้าใจ คนข้างบนเฝ้ามองทุเรียน ดูและกะเอากับลูกที่ใกล้สุก ได้ขนาด ขณะข้างล่างนั้นเต็มไปด้วยสมาธิกลางความขวักไขว่ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ปะปนไปในสารทุกข์สุกดิบและความหวังสำหรับเรี่ยวแรงในแต่ละวัน
ไม่เพียงทุเรียนคละขนาด ที่ส่วนใหญ่แต่ละสวนจะคัดลูกสวยๆ เพื่อส่งออกขายไปไกลถึงเมืองจีน หากเป็นลูกที่หล่นร่วง หรือหนามไม่สวย ไม่ได้หมายความว่าข้างในนั้นจางคลายความอร่อยหอมหวาน
“ทุเรียนกวนที่นี่เป็นมากกว่าการถนอมอาหารไปแล้ว” ป้าแกลบดึงเราออกจากสวนทุเรียนหลังบ้านในยามบ่าย ขณะที่กระทะใบบัวขนาดใหญ่ตั้งางอยู่เหนือไฟร้อน ทุเรียนที่ปอกและคัดเนื้อซึ่งอาจจะช้ำหรือแก่ค่อยๆ ถูกใครสักคนกวนมันด้วยพาย
“ต้องดูสี ดูเนื้อ เข้าใจไฟและเวลากวน” มันฟังดูง่ายๆ หากแต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มัล้วนหลอมรวมกันอยู่ในกระทะใบเดียว ยากที่คนซึ่งไม่เคยรู้จักมันจะทำความเคยชิน
ทุเรียนที่ “ปลายพาย” อันหมายถึงส่วนที่เหลือจากการกวนจนเป็นก้อนแล้วติดค้างตรงปลายใบพายนั้นหอมหวานยามที่ ลุงมานพ คล้องมงคง หยิบยื่นให้เราลิ้มลอง ไม่เพียงศูนย์รวมการแปรรูปของป้าแกลบ แต่ลุงมานพว่าตามแต่ละบ้านในหมู่ 8 นับเต็มไปด้วยเตากวนทุเรียนและมังคุดแบบง่ายๆ
“เขารับกวนจากทุกสวนล่ะ หากมันเหลือจากขายมาก และบางบ้านก็กวนกันเองไม่ไหว” มันเต็มไปด้วยภาพอันเรียบง่ายของคน ผลไม้ และสิ่งที่เรียกว่าความอบอุ่นอันหายากยิ่งแล้วในทุกวันนี้
ในฤดูกาลที่พืชผลผ่านพาตัวเองมาถึงเวลา เราอาจไม่ต้องการคำอธิบายใดเลยหากเห็นชายหน้าคมเข้มขับเวียนมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่ก่ายกองไปด้วยทุเรียนเพียบพูน วนเวียนไปมาอยู่ในทางดินราวกับมันไม่มีวันสิ้นสุดในแต่ละห้วงวัน
อาจเพราะมันเป็นโมงยามที่พืชผลและฤดูกาลได้มีค่าถึงที่สุดกับผู้ที่เพาะบ่มมันขึ้นมา
ฝนพรำในยามสายคลายแดดจัดลงบ้าง เรียกสวนและลานหญ้าเต็มไปด้วยหมอกชื้นลอยจางๆ เมื่อเราเลือกจักรยานคันเล็กๆ พาตัวเองไปรู้จักกับอีกด้านของสวนผลไม้แห่งหนึ่งในอำเภอมะขาม ด้านที่ใครสักคนเลือกมันให้เหมาะกับสิ่งที่เรียกว่าการท่องเที่ยว
ในวันที่อภิรดี ศิริวิจิตรกุล และหลายคนในครอบครัวค่อยๆ พลิกฟื้นที่ดินกว่า 50 ไร่ ให้กลายเป็นบ้านของทุเรียน มังคุด และสละ สวนเคพี การ์เด้น จันทบุรี กลับกลายเป็นที่ทางของพิชผลชั้นดีที่มีปลายทางอยู่ในตัวเมืองจันท์
“เราใช้ทั้งผัก ผลไม้ ให้กับลูกค้าผู้มาเยือนโรงแรมค่ะ มันปลอดภัยตั้งแต่ต้นทาง” เธอหมายถึงโรงแรมเก่าแก่คู่เมืองจันทบุรีอย่างเคพี แกรนด์ ที่มีจุดเด่นหนึ่งคือผลไม้และผักปลอดสารพิษต่างๆ อันเป็นวัตถุดิบ
แปลงผักไฮโดรโปนิกส์เล็กๆ แต่เต็มไปด้วยการดูแลเอาใจใส่แทรกตัวอยู่ข้างเรือนไม้ที่เป็นส่วนรับรองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในอาณาจักรสีเขียว ก่อนใครสักคนจะชักชวนกันปั่นจักรยานคันเล็กๆ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสวนผลไม้ที่รับประกันได้ถึงการปลอดสารเคมีในทุกอณูภายใต้โครงการ “เคพี กรีน” ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอันเป็นแนวคิดหลักของอภิรดี
อากาศสดสะอาดและความรื่นรมย์นั้นเพียงพอที่จะนำพาเราเข้าสู่แดนดินแห่งความหอมหวาน ลองกองติดพวงสวยอยู่ที่กิ่งก้าน เงาะและมังคุดก็เช่นกัน ที่นักท่องเที่ยวสักคนเลือกปลิดหยิบมันออกจากขั้วผล ลิ้มชิมมันอย่างเพลิดเพลินกับรสชาติแห่งผืนแผ่นดิน
บางคนเพลิดเพลินกับแพะที่คอกเลี้ยง หยิบยื่นทั้งนมและผลไม้ให้เป็นภาพน่ารัก พลิกเปลี่ยนการเที่ยวชมสวนผลไม้ไปสู่รูปแบบใหม่ ขณะที่ตามผืนดินนั้นแทกซ้อนอยู่ด้วยสมุนไพรนานาชนิด
“เป็นความตั้งใจหลักของเราค่ะ ที่การเติบโตในเมืองจันท์นั้นต้องหันมาใส่ใจกันตั้งแต่จุดแรกเริ่ม”
ยามบ่ายหลังกลับจากชมสวน เรานั่งมองผลไม้นานาในกระจาดที่จัดเรียงงดงาม มันเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าความปลอดภัย และใคสักคนก็พร้อมจะหยิบยื่นมันสู่ผู้มาเยือนอย่างถึงที่สุด
ลมบ่ายกวัดไกวรื่นรมย์ รอบด้านเต็มไปด้วยสีเขียวรื่นตา และห่มคลุมอยู่ด้วยความตั้งใจประเภทหนึ่ง
ความตั้งใจที่จะเห็นผู้คนและเหล่าพืชพรรณเติบโตร่วมกันไปในความยั่งยืน
ภายในพื้นที่ 109 ไร่ ในเขตบ้านโตนด อำเภอมะขาม นั้นเต็มไปด้วยภาพแห่งการศึกษาพัฒนาและความห่วงใยในแผ่นผืนดิน
ย้อนกลับไปเกือบ 40 ปี เมื่อ พ.ศ. 2521 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่าพื้นที่ในแถบเมืองจันทบุรีนั้นจะเติบโตด้วยการทำสวนผลไม้ แผ่นดินหลายผืนถูกพลิกฟื้น เปลี่ยนแปลง และเต็มไปด้วยการขยับขยายทั้งจากคนเมืองจันท์และคนจากต่างถิ่น การก้าวเดินควบคู่ทั้งการเกษตรและการชลประทานนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้
ยามนั้นศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จันทบุรี เกิดขึ้นภายในพื้นที่ 109 ไร่ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ที่ดินสวนผลไม้ซึ่งมีลำคลองรื่นเย็นไหลผ่านจึงเกิดก่อขึ้นเพื่อเป็น “ทางหลัก” ให้พสกนิกรได้เรียนรู้ถึงการพัฒนาและรู้จักดูแลผืนแผ่นดินที่เป็นที่ทำกิน
พระองค์มีพระราชดำริให้ศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ เป็นตัวอย่างของการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ที่เดินร่วมกันระหว่างดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งห้วงยามนั้นหลายคนอาจยังมองไปไม่ถึง
เราค่อยๆ ก้าวเข้าสู่แนวสวนศึกษา แปลงทุเรียนจันทบุรี 1, 2 และ 3 เรียงรายผ่านการทดลองพัฒนาสายพันธุ์และเริ่มเป็นที่นิยมของชาวสวนหลายพื้นที่ ขณะที่ทุเรียนพันธุ์เก่าแก่อย่างนวบทองจันทร์พวงมณี แทรกแปลงปลูกอยู่ในสวนผลไม้ผสมอันหลากหลาย เป็นการสะท้อนถึงการทำสวนผสม ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว อันเต็มไปด้วยความใส่ใจดูแลคุณภาพดิน
มันคล้ายอาณาจักรเล็กๆ ของพืชผลและการเรียนรู้ แหล่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก รวมไปถึงเทคโนโลยีการเกษตร ถูกแบ่งสัดส่วนไว้ท่ามกลางการก้าวเดินสัมผัสอีกมิติของสวนผลไม้อย่างรื่นรมย์
ราวบ้านโบราณกลางสวนผลไม้นับร้อยไร่บนเขาบายศรีหลังนั้นจะเต็มไปด้วยคืนวันอันน่าทำความรู้จัก
มันคล้ายโลกอีกใบที่ซุกซ่อนตัวเองอยู่ท่ามกลางสวนผลไม้โบราณ เต็มไปด้วยไม้ผลนานาที่ขึ้นคลุมและส่งต่อวันเวลามากว่า 120 ปี
รวมไปถึงเป็นบ้านอันเก่าแก่และอบอุ่นของผู้คนตระกูลหนึ่งที่สืบทอดวันเวลาและฝังรกรากในเมืองจันทบุรีมาเนิ่นนาน
“บ้านและสวนบนเขาบายศรีแห่งนี้เป็นของคนตระกูลบุนนาคมาหลายชั่วอายุคน” วันที่ทุเรียนกลางขุนเขาสุกได้ที่ เรานั่งลงข้างๆ ยศยง คุ้มพันธ์ ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระเทพสงคราม (โต บุนนาค) รอบด้านคือความเข้มเขียวทึบตามแบบฉบับสวนโบราณ เต็มไปด้วยภาพคุ้นตาของสวนผลไม้
พระเทพสงคราม (โต บุนนาค) คือหนึ่งในบุตรของพระยาอรรคราชนารถภักดี (หวาด บุนนาค) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองจันทบุรีคนสำคัญ โดยท่านมีพี่น้องในเลือดเนื้อเชื้อไขบุนนาคที่เคยดำรงตำแหน่งทางราชการในเมืองจันทบุรีอีกหลายคน เช่น พระยาวิชยาธิบดี (แบน บุนนาค) เจ้าเมืองจันท์ อีกท่านหนึ่ง พระยาเดชานุชิต (หนา บุนนาค) รวมไปถึงพระยาศรีธรรมโศกราช (ปิ๋ว บุนนาค)
ภายในบ้านไม้ใต้ร่มเงาสวนผลไม้แห่งนั้นแลดูเรียบง่าย เมื่อยศยงผลักบานประตูเข้าไป โลกด้านในก็วิ่งเต้นอยู่ในรูปถ่ายขาวดำ โต๊ะมุก ตู้มุกโบราณ เครื่องลายคราม ภาพบุตรธิดาของพระเทพสงคราม (โต บุนนาค) อย่างคุณเต็ม คุณสตางค์ คุณกิติม เรียงรายภายใต้ทรงผมดอกกระทุ่มและชุดไทยโบราณราวกับนิยายพีเรียดสักเรื่อง
“แต่ก่อนคุณย่าเต็มนี่คนแถวนี้รู้กันว่าท่านเป็นคนดุ เจ้าระเบียบ ทว่าก็ใจดีอยู่ในที” หลังลงจากบ้านไม้หลังนั้น เราเดินตามยศยงไปในสวนผลไม้ตามธรรมชาติที่ไล่ระดับไปตามเนินเขา ทุเรียนโบราณพันธุ์ยายหวาดที่ว่ากันว่าหลงเหลือเพียงต้นเดียวที่นี่ รวมไปถึงเงาะพันธุ์บางยี่ขัน กลายเป็นเรื่องเล่ากลางเรีอกสวนอันรื่นรมย์
อาคารก่ออิฐถือปูนอายุนับร้อยปีรกเรื้ออยู่ตรงเนินดิน ว่ากันว่าผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติตระกูลบุนนาคคาดว่า ที่นี่คือที่เสด็จประทับและลงพระนามทำสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มันตกสะท้อนเป็นโครงสร้างที่ค่อยๆ กลมกลืนไปกับแมกไม้คราบคร่ำของตะไคร่ และการเคลื่อนผ่านของวันเวลา
“อีกราวๆ สองสามปีเราน่าจะเปิดให้คนเข้ามาเที่ยวที่นี่ มันเต็มไปด้วความน่าสนใจของผลไม้ รวมไปถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์” ขณะยืนเคารพเจดีย์ประจำตระกูลบุนนาค รอบด้านองค์เจดีย์บรรจุโกศกระดูกจาริกชื่อสกุลและรูปถ่ายเก่าแก่ของบรรพบุรุษ ยศยงมองไปในสวนอันไพศาลที่รายล้อม เราทำได้เพียงมองตามและจินตนนาการถึงโลกในอดีตอันอยู่ร่วมของคนหลากหลายที่มา
ที่ต่างก็หายใจ วิ่งเต้น เก็บกอดเรื่องราวของตำบลแห่งหนึ่งในเขตอำเภอท่าใหม่ และล้วนหายใจอยู่ด้วยทิศทางของพืชผลและคืนวัน
หลายวันแล้วที่เราพาตัวเองมาทำความรู้จักกับพวกเขา ชาวสวนผลไม้แห่งจันทบุรี กลางห้วงยามที่พืชพรรณบนภูเขาสุกงอม และหล่อหลอมให้ชีวิตเต็มไปด้วยความรื่นรมย์
ไม่มีนาทีใดงดงามไปกว่ายามที่เราได้มีโอกาสนั่งมองใครสักคนปลิดปลดผลไม้ลงจากขั้ว ค่อยๆ คัดแยกและทยอยลำเลียงลงตะกร้ารวมไปถึงเฝ้าดูมันเดินทางออกไปจากผืนดินที่บ่มเพาะมันขึ้นมาด้วยชีวิตและหัวใจ
คู่มือนักเดินทาง
จากตัวเมืองจันทบุรี สามารถเดินทางไปเที่ยวสวนผลไม้ต่างๆ ที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งแบบทัวร์วันเดย์ทริป หรือนอนค้างแบบโฮมสเตย์ สามารถเที่ยวชิมผลไม้ เรียนรู้วิถีภูมิปัญญาของชาวสวนเมืองจันทบุรี รวมไปถึงสัมผัสความร่มรื่นงดงามของสวนเก่าแก่ของเมืองที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งแห่งภาคตะวันออก
สวนผลไม้แนะนำ
สวนเคพี การ์เด้น จันทบุรี หมู่ที่ 2 ตำบลวังแช้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 039 323 201-10 และ 089 833 0645 เว็บไซต์ www.kpgrand.com
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนรักษ์เขาบายศรี (บ้านแซงลึก) เลขที่ 11/1 หมู่ที่ 4 ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 083 078 8002 และ 086 834 9604
สวนป้าแกลบ เลขที่ 42 หมู่ที่ 8 ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 039 356 945 , 086 366 3097 และ 081 936 4585
ศูนย์พัฒนาไม้ผล ตามพระราชดำริ จันทบุรี บ้านทุ่งโตนด หมู่ที่ 8 ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 039 373 136
นอกจากสวนผลไม้ นักท่องเที่ยวสามารถขับรถสัมผัสชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ของเมืองจันทบุรีได้อย่างหลากหลายและสนุกสนาน
เริ่มจากตัวเมืองจันท์ เที่ยวย่านเก่าริมลำน้ำจันทบูรอันแสนคลาสสิก ข้ามแม่น้ำไปชมสถาปัตยกรรมอันงดงามของอาสนวิหารพระนางมารีอา หรือโบสถ์คาทอลิกจันทบุรี อันถือเป็นไฮไลต์ของคนมาเที่ยวเมืองคลาสสิกอย่างจันทบุรี
หรือออกไปเที่ยวตามเส้นทางอำเภอท่าใหม่-อำเภอแหลมสิงห์-หาดคคุ้งวิมาน-หาดเจ้าหลาว โดยขับรถไปเที่ยวอู่ต่อเรือพระเจ้าตาก หรืออู่ต่อเรือเสม็ดงาม ที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ซึ่งพระเจ้าตากสินมหาราชทรงใช้เป็นอู่ต่อเรือเพื่อยกทัพไปตีพม่า
ต่อเนื่องไปเที่ยวโบราณสถานค่ายเนินวง ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) สร้างขึ้นโดยรื้อศิลาแลงและอิฐของกำแพงจากเมืองเก่าจันทบุรีไปสร้างเพื่อป้องกันการรุกรานของพวกญวน
ผ่านมาทางอำเภอแหลมสิงห์ ข้ามสะพานตากสินมหาราชที่เชื่อมฝั่งแหลมสิงห์เข้ากับอำเภอท่าใหม่ ที่นี่คือจุดชมวิวกว้างไกลสุดสายตาอันแสนงดงาม
เที่ยวบรรยากาศสบายๆ ชายหาดที่อ่าวกระทิงและอ่าวยาง ก่อนจะขับรถยาวไปตามถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ต่อข้ามสะพานข้ามปากน้ำแขมหนูอันงดงามด้วยวิวปากน้ำต่อเนื่องสู่ทะเลอันแสนกว้างไกล
เที่ยวแหลมเสด็จและอ่าวคุ้งกระเบน ชายหาดเงียบสงบงดงามด้วยพรรณไม้นานา และเที่ยวป่าชายเลนแสนสมบูรณ์ในศูนย์พัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ปิดท้ายที่หาดเจ้าหลาว หาดแสนคลาสสิกของเมืองจันทบุรี โดยในวันนี้ ณ จุดชมวิวเนินนางพญา ถือเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของคนมาเยือนที่นี่ มุมสูงมองเห็นโค้งหาดเจ้าหลาวและถนนคดโค้งไล่ระดับบนเนินแสนงดงาม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง (รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดจันทบุรี) โทรศัพท์ 038 655 420-1
ขอบคุณนิตยสาร อสท