วัดพระศรีสรรเพชญ์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตร เป็นวัดสำคัญที่สร้างอยู่ในพระราชวังหลวงเทียบได้กับวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงเทพมหานครหรือวัดมหาธาตุแห่งกรุงสุโขทัย ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)ทรงสร้างพระราชมณเฑียรเป็นที่ประทับบริเวณนี้ ต่อมาสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงย้ายพระราชวังขึ้นไปทางเหนือและอุทิศที่ดินเดิมให้สร้างวัดขึ้นภายในเขตพระราชวังและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเขตพุทธาวาสขึ้น เพื่อเป็นที่สำหรับประกอบพิธีสำคัญต่างๆ จึงเป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรดเกล้าฯให้สร้างพระสถูปเจดีย์ใหญ่สององค์เมื่อพ.ศ.๒๐๓๕ องค์แรกทางทิศตะวันออกเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระราชบิดา และองค์ที่สองคือองค์กลางเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระบรมเชษฐา ต่อมาในปีพ.ศ.๒๐๔๒ ทรงสร้างพระวิหารขนาดใหญ่และในปีพ.ศ.๒๐๔๓ ทรงหล่อพระพุทธรูปยืนสูง ๘ วา (๑๖ เมตร) หุ้มด้วยทองคำหนัก ๒๘๖ ชั่ง (ประมาณ ๑๗๑ กิโลกรัม) ประดิษฐานไว้ในวิหาร พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญดาญาณ” ซึ่งภายหลังเมื่อคราวเสียกรุงพ.ศ.๒๓๑๐ พม่าได้เผาลอกทองคำไปหมด ในสมัยรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้อัญเชิญชิ้นส่วนชำรุดของพระประธานองค์นี้ลงมากรุงเทพฯและบรรจุชิ้นส่วนซึ่งบูรณะไม่ได้เหล่านั้นไว้ในเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นแล้วพระราชทานชื่อเจดีย์ว่า “เจดีย์สรรเพชญดาญาณ”
สำหรับเจดีย์องค์ที่สามถัดมาทางทิศตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ (สมเด็จพระหน่อพุทธำงกูร) พระราชโอรสได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เจดีย์สามองค์นี้เป็นเจดีย์แบบลังกา ระหว่างเจดีย์แต่ละองค์มีมณฑปก่อคั่นไว้ซึ่งคงจะมีการสร้างในราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และมีร่องรอยการบูรณะปฏิสังขรณ์หนึ่งครั้งในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการบูรณะเจดีย์แห่งนี้จนมีสภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน วัดนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๒๐ บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน สอบถามรายละเอียดที่สำนักงาน อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาโทร. ๐ ๓๕๒๔ ๒๒๘๔, ๐ ๓๕๒๔ ๒๒๘๖ หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐-๒๑.๐๐ น. จะมีกาส่องไฟชมโบราณสถาน
พระราชวังหลวงหรือพระราชวังโบราณ ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ทางด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้ำอู่ทอง) ทรงสร้างพระราชวังตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่เวียงเล็ก เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๐ และเมื่อสร้างพระราชวังเสร็จในปี พ.ศ.๑๘๙๓ จึงย้ายมาประทับที่พระราชวังใหม่ริมหนองโสน ปราสาทในครั้งแรกนี้สร้างด้วยเครื่องไม้อยู่ในบริเวณวัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงถวายที่บริเวณปราสาทให้เป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์วัดในเขตพระราชวัง แล้วทรงสร้างปราสาทใหม่เลื่อนไปทางเหนือชิดกับแม่น้ำลพบุรี
บริเวณพระราชวังหลวงมีพระที่นั่งสำคัญดังนี้
พระที่นั่งวิหารสมเด็จ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุด เป็นปราสาทยอดปรางค์มีมุขหน้าหลังยาวแต่มุขข้างสั้น มีกำแพงแก้วล้อม ๒ ด้าน ตามพงศาวดารกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โปรดให้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๘๖ เพื่อแทน พระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ถูกฟ้าผ่าไฟไหม้ ชาวบ้านเรียกว่า “ปราสาททอง” เนื่องจากเป็นปราสาทปิดทององค์แรกที่สร้างขึ้นสำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ
พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทยอดปรางค์ตั้งอยู่ตรงกลางสร้างแบบเดียวกันกับพระที่นั่งวิหารสมเด็จ มีหลังคาซ้อนลดหลั่นกันถึงห้าชั้น มีมุขเด็จยื่นออกมาเป็นที่สำหรับพระมหากษัตริย์เสด็จออกรับแขกเมือง มีโรงช้างเผือกขนาบอยู่ทั้งสองข้าง
พระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ เดิมชื่อ พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเพื่อให้คล้องกับชื่อ พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เป็นปราสาทจตุรมุขก่อด้วยศิลาแลงมีพื้นสูงกว่าพระที่นั่งองค์อื่นๆ ตั้งอยู่ติดกำแพงริมแม่น้ำ ใช้เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตรขบวนแห่ทางน้ำ ตามพงศาวดารกล่าวว่าเมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต สมเด็จพระเพทราชาได้อัญเชิญพระบรมศพจากเมืองลพบุรีมาประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้
พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๗๕ พระราชทานนามว่า ”พระที่นั่งสิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์” คล้ายปราสาทที่นครธม ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น “พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์” ลักษณะเป็นปราสาทตรีมุข ตั้งอยู่บนกำแพงชั้นในด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นที่สำหรับทอดพระเนตรกระบวนแห่และฝึกหัดทหาร
พระที่นั่งตรีมุข เป็นพระที่นั่งศาลาไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เข้าใจว่าเดิมเป็นพระที่นั่งฝ่ายใน และเป็นที่ประทับในอุทยาน เป็นพระที่นั่งองค์เดียวที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด
พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ หรือ พระที่นั่งท้ายสระ เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำ สมเด็จพระเพทราชาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับอยู่ข้างในและเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถเมื่อ พ.ศ.๒๒๓๑ และได้เสด็จประทับตลอดรัชกาล มีพระแท่นสำหรับทอดพระเนตรปลาที่ทรงเลี้ยงไว้ในสระนั้นด้วย
พระที่นั่งทรงปืน เป็นพระที่นั่งรูปยาวรี อยู่ริมสระด้านตะวันตก ใกล้พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เข้าใจว่าเป็นที่สำหรับฝึกซ้อมอาวุธและในสมัยสมเด็จพระเพทราชาทรงใช้เป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกขุนนาง
พระที่นั่งต่างๆที่ปรากฎให้เห็นซากหลงเหลือในปัจจุบันเป็นอาคารที่สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท หรือ สามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๒๐ บาท โดยบัตรนี้สามารถเข้าชมวัดในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๓๕๒๔ ๒๒๘๔, ๐ ๓๕๒๔ ๒๒๘๖
วัดพระราม อยู่นอกเขตพระราชวังไปทางด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับวิหารพระมงคลบพิตร สมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างขึ้นตรงบริเวณที่ ถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้ำอู่ทอง) พระราชบิดา วัดนี้มีบึงขนาดใหญ่อยู่หน้าวัด เมื่อมีการสร้างกรุงศรีอยุธยา คงจะมีการขุดเอาดินในหนองมาถมพื้นที่วังและวัด พื้นที่ที่ขุดเอาดินมาได้กลายเป็นบึงใหญ่ บึงมีชื่อปรากฎในกฎมณเฑียรบาลว่า “บึงชีขัน” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บึงพระราม” ปัจจุบันคือ “สวนสาธาณะบึงพระราม” ใช้เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจของชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ นักท่องเที่ยวที่มาเยือน เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๒๐ บาท
หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐-๒๑.๐๐ น. จะมีการส่องไฟ ชม โบราณสถาน
พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าอู่ทอง ประดิษฐานอยู่ระหว่างบึงพระรามกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระบรมรูปของพระเจ้าอู่ทองมีขนาดเท่าครึ่งของคนธรรมดา หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์และรมด้วยน้ำยาสีเขียว ในพระอิริยาบถประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ พระเกล้าเกศา ฉลองพระองค์แบบพระมหากษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๑๓
อ่านต่อ: สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 3