Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ

วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัด พระศรีสรรเพชญ์ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ต่อมาสมเด็จพระราเมศวรโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ใต้ฐานพระปรางค์ประธานของวัดเมื่อ พ.ศ.๑๙๒๗ พระปรำงค์วัดมหาธาตุถือเป็นปรางค์ที่สร้างในระยะแรกของสมัยอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรางค์ขอม ชั้นล่างก่อสร้างด้วยศิลาแลงแต่ที่เสริมใหม่ตอนบนเป็นอิฐถือปูน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงปฏิสังขรณ์พระปรางค์ใหม่โดยเสริมให้สูงกว่าเดิม แต่ขณะนี้ยอดพังลงมาเหลือเพียงชั้นมุขเท่านั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายเพราะมีหลักฐานว่าเป็นปรางค์ที่มีขนาดใหญ่มากและก่อสร้างอย่างวิจิตรสวยงามมาก เมื่อพ.ศ.๒๔๙๙  กรมศิลปากรได้ขุดแต่งพระปรางค์แห่งนี้ พบของโบราณหลายชิ้น ที่สำคัญคือ ผอบศิลา ภายในมีสถูปซ้อนกัน ๗ ชั้น แบ่งออกเป็น ชิน เงิน นาก ไม้ดำ ไม้จันทร์แดง แก้วโกเมน และทองคำ ชั้นในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเครื่องประดับอันมีค่า ปัจจุบันพระบรมสารีริกธาตุนำไปประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สิ่งที่น่าสนใจในวัดอีกอย่างคือ เศียรพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งมีรากไม้ปกคลุมเข้าใจว่าเศียรพระพุทธรูปนี้จะหล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุงจนรากไม้ขึ้นปกคลุมมีความงดงามแปลกตาไปอีกแบบ

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยาแล้วข้ามสะพานสมเด็จ พระนเรศวรมหาราชตรงไปจนถึงสี่แยกไฟแดงที่ ๒ เลี้ยวขวาตรงไป ไม่ไกลนัก ผ่านบึงพระราม จะเห็นวัดมหาธาตุอยู่ทางซ้ายมือ เปิดทุกวันเวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น.

ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๒๐ บาท ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ

วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐-๒๑.๐๐ น. จะมีการส่องไฟชม โบราณสถานวัดราชบูรณะ อยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ตรงข้ามวัดมหาธาตุ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๑๙๖๗  ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงเจ้าอ้ายพระยากับเจ้ายี่พระยาซึ่งชนช้างกันจนถึงแก่พิราลัยและโปรดเกล้าฯให้ก่อเจดีย์ ๒ องค์บริเวณนั้น วัดนี้และวัดมหาธาตุเมื่อคราวเสียกรุงถูกไฟไหม้เสียหายมาก ซากที่เหลืออยู่แสดงว่าวิหารและส่วนต่างๆ ของวัดนี้ใหญ่โตมาก วิหารหลวงมีขนาดยาว ๖๓ เมตร กว้าง ๒๐ เมตร ด้านหน้ามีบันไดขึ้น ๓ ทาง ที่ผนังวิหารเจาะเป็นบานหน้าต่าง ปัจจุบันยังปรากฏซากของเสาพระวิหารและฐานชุกชีพระประธานเหลืออยู่ พระปรางค์ประธาน     เป็นศิลปะอยุธยาสมัยแรกซึ่งนิยมสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมขอมที่ให้พระปรางค์เป็นประธานของวัด ช่องคูหาของพระปรางค์มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นประดิษฐานช่องละ ๑ องค์ องค์ปรางค์ประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑ ยักษ์ เทวดา นาค พระปรางค์องค์นี้มีลวดลายสวยงามมาก ภายในกรุปรางค์มีห้องกรุ ๒ ชั้น สามารถลงไปชมได้ ชั้นบนมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเลือนลาง ชั้นล่างซึ่งเคยเป็นที่เก็บเครื่องทอง มีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีแดงชาดปิดทองเป็นรูปพระพุทธรูปปางลีลาและปางสมาธิ รวมทั้งรูปเทวดาและรูปดอกไม้ เมื่อพ.ศ.๒๕๐๐ คนร้ายได้ลักลอบขุดโบราณวัตถุที่ฝังไว้ในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ โดยขุดเจาะจากพื้นคูหาเรือนธาตุลงไปพบห้องที่ฝังโบราณวัตถุ ๒ ห้อง ต่อมาทางราชการติดตามจับคนร้ายและยึดโบราณวัตถุได้เพียงบางส่วน โบราณวัตถุในกรุ พระปรางค์วัดราชบูรณะทำด้วยทองคำสำริด หิน ดินเผาและอัญมณี เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพระปรางค์วัดราชบูรณะต่อ ได้นำโบราณวัตถุ ที่มีค่าไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ซึ่งสร้างโดยเงินบริจาคจากการนำพระพิมพ์ขนาดเล็กที่ได้จากกรุนี้มาจำหน่ายเป็นของชำร่วย วัดนี้เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท หรือสามารถซื้อบัตรรวมได้ ชาวไทย ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๒๒๐ บาท บัตรนี้สามารถเข้าชมวัดต่างๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ ภายในระยะเวลา ๓๐ วัน ได้แก่ วัดพระศรีสรรเพชญ์และพระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม หมำยเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๙.๓๐- ๒๑.๐๐ น. จะมีกำรส่องไฟชมโบราณสถาณ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วังจันทรเกษม หรือวังหน้า ตั้งอยู่ถนนอู่ทอง ริมแม่น้ำป่าสักมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ วังจันทรเกษมปรากฎหลักฐานพงศาวดารว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประมาณ พ.ศ.๒๑๒๐ โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเคยใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระยุพราชและพระมหากษัตริย์หลายพระองค์เช่น สมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าฟ้าสุทัศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ฯลฯ เมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ.๒๓๑๐ วังนี้ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและถูกทิ้งร้าง จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยาและโปรดพระราชทานนามว่า พระราชวังจันทรเกษม เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่าเมื่อพ.ศ.๒๔๔๒ และจนกระทั่งเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าจึงได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงทางด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดูแลและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษมจนกระทั่งปัจจุบัน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม

โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าสนใจในพระราชวังจันทรเกษม มีดังนี้

กำแพงและประตูวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐมีใบเสมา มีประตูด้านละ ๑ ประตู รวม ๔ ด้านเป็นสิ่งที่สร้างใหม่ในรัชกาลที่ ๔ กำแพงของเดิมมีอาณาเขตกว้างขวางกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เพราะขุดพบรากฐานของพระที่นั่ง นอกกำแพงวัดด้านใน และพบซากอิฐในบริเวณเรือนจำหลายแห่ง แต่เดิมนั้นคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า วังจันทรเกษมมีกำแพง ๒ ชั้น เช่นเดียวกับวังหลวง

พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่ใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เป็นพลับพลาเครื่องไม้ มีมุขด้านหน้า ๓ มุข ด้านหลัง ๓ มุข เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการและเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เวลาเสด็จประพาส ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๔๗ พระองค์ทรงโปรดให้ใช้พลับพลาจตุรมุข เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ เรียกว่าอยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระยาโบราณราชธานินทร์ได้ทำการ ซ่อมแซมครั้งใหญ่และเปลี่ยนหน้าบันจากรูปปูนปั้นมาเป็นไม้แกะสลัก ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวังนี้เช่น พระแท่นบรรทม พระราชอาสน์ พร้อมเศวตฉัตร พระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งพิมานรัตยา เป็นตึกหมู่อยู่กลางพระราชวังประกอบด้วยอาคาร ๔ หลังคือ อาคารปรัศว์ซ้าย อาคารปรัศว์ขวา พระที่นั่งพิมานรัตยาและศาลาเชิญเครื่อง เคยเป็นที่ตั้งศาลากลางมณฑลและจังหวัดมาหลายปี ปัจจุบันจัดแสดงประติมากรรมที่สลักจากศิลา เป็นเทวรูปและพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปสมัยลพบุรี พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา พระพิมพ์สมัยต่างๆ และเครื่องไม้แกะสลักฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง เป็นหอสูงสี่ชั้น สร้างครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หักพังลงมาเมื่อคราวเสียกรุง ครั้งที่ ๒ หอที่เห็นอยู่ในปัจจุบันสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ตามรากฐานอาคารเดิมและทรงใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว

อาคารสโมสรเสือป่า สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ริมกำแพงหลังพระที่นั่งพิมานรัตยา

ตึกโรงม้าพระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ตั้งอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ตึกที่ทำการภาค  สร้างขึ้นในสมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อครั้งดำรง ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวสร้างขนานไปกับแนวกำแพงด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ จัดนิทรรศการถาวร ๕ เรื่อง คือ เรื่องศิลปะสถาปัตยกรรมอยุธยา เครื่องปั้นดินเผาสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปะวัตถุพุทธบูชาและวิถีชีวิตริมน้ำชาวกรุงเก่า

ระเบียงจัดตั้งศิลาจารึก แต่เดิมสร้างเป็นระเบียงหลังคามุงสังกะสียาวไปตามแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกใช้สำหรับเป็นที่เก็บรักษาบรรดาโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุซึ่งพระยาโบราณราชธานินทร์ได้รวบรวมไว้

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองอยุธยา เมื่อข้ามสะพานสมเด็จ พระนเรศวรมหาราชแล้วให้เลี้ยวซ้ายตรงไปจนถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายอีกครั้งและตรงไปอีกประมาณ ๒ กิโลเมตร จะผ่านตลาดเจ้าพรหม จากนั้นจะเห็นพิพิธภัณฑ์อยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ๓๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. ๐ ๓๕๒๕ ๑๕๘๖, ๐ ๓๕๒๕ ๒๗๙๕ โทรสาร ๐ ๓๕๒๕ ๑๕๘๖

วัดเสนาสนาราม อยู่ทางด้านหลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม เป็นวัดโบราณเดิมชื่อ “วัดเสื่อ” พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะพระอุโบสถมีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้าพระอุโบสถหันหน้าสู่ทิศตะวันออก มีพระยืนประดิษฐานอยู่บนหน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นภาพปั้นลงรักปิดทอง เป็นรูปช้างเอราวัณขนาบด้วยแตร เหนือเศียรช้างเอราวัณเป็นพระอลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์คือ “พระสัมพุทธมุนี” เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย สมัยอยุธยาลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอก ๒ นิ้ว สูง ๓ ศอก ๑ นิ้วประดิษฐานเหนือบุษบกปูนปั้นลงรักปิดทอง ฝาผนังพระอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรม ด้านบนเป็นภาพของเทพและอัปสรที่มาบูชาพระประธาน ระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งหาชมได้ยาก ผนังด้านหน้าภายในพระอุโบสถมีพระบรมฉายาลักษณ์ทรงเครื่องต้นเฉลิมพระมหาพิชัยมงกุฎประทับเหนือพระราชบัลลังก์ในกรอบไม้สัก

วิหารพระพุทธไสยาสน์ อยู่ติดกับพระเจดีย์องค์ใหญ่ พระวิหารนี้สร้างขวางกับแนวพระอุโบสถ พระพุทธไสยาสน์เป็นศิลปะแบบอยุธยา ประกอบด้วยศิลาเป็นท่อนๆ นำมาเรียงต่อกันแล้วสลักเป็นองค์พระมีขนาดยาว ๑๔.๑๒ เมตร แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดพระมหาธาตุ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวิหารพระนอนขึ้นในวัด แล้วอัญเชิญพระพุทธไสยาสน์ จากวัดมหาธาตุมาประดิษฐานไว้ที่วัดนี้

พระอินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์เมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๑ หน้าตักกว้าง ๒ ศอกเศษ สูง ๓ ศอกเศษ ประดิษฐานอยู่ในวิหารซึ่งติดกับวิหารพระพุทธไสยาสน์ มีตำนานเล่ากันว่า พระอินทร์แปลงทรงแปลงร่างมาสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ด้านหลังพระอินทร์แปลงเป็นซุ้มศรีมหาโพธิ์ ภายในพระวิหารปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน ทั้งสองข้างองค์พระอินทร์แปลงยกพื้นเป็นอัฒสงฆ์ พร้อมทั้งมีธรรมาสน์หินปิดทอง ๒ แท่น ฝาผนังภายในพระวิหารด้านบน เป็นภาพวาดรูปทวยเทพบูชาองค์พระอินทร์แปลงและระหว่างช่องหน้าต่างเป็นภาพวาดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของประชาชนอันเกี่ยวเนื่องด้วยวัดและพระศาสนา บานหน้าต่างเป็นภาพลายรดน้ำเป็นรูปสัตว์ ๑๐ อย่างที่ภิกษุไม่ควรบริโภค

พระเจดีย์ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำก่ออิฐฉาบปูนศิลปะสมัยอยุธยา สูงประมาณ ๑๓ วาเศษ มีฐานทักษิณสี่เหลี่ยม

วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยู่ในเขตพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง เหนือบริเวณป้อมเพชร สามารถใช้เส้นทางเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม แต่พอถึงสามแยกให้เลี้ยวขวาแล้วตรงไปประมาณ ๑ กิโลเมตร จะเห็นป้ายทางเข้าวัดอยู่ทางด้านขวามือ วัดนี้เดิมชื่อว่า“วัดทอง”เป็นวัดที่พระบรมมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดทองขึ้นใหม่และพระราชนามว่า “วัดสุวรรณดาราราม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี ตามพระนามเดิมของทั้งสองพระองค์คือ“ทองดี” และ“ดาวเรือง”

วัดแห่งนี้มีสิ่งต่างๆที่น่าชมไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถซึ่งยังคงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย คือทำส่วนฐานโค้งอ่อนลงตรงกลางคล้ายปากเรือสำเภา หน้าบันอุโบสถสลักลายเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมที่ผนังอุโบสถตอนบน ตอนล่างเขียนเรื่องเวสสันดรชาดก เตมีย์ชาดกและสุวรรณสามชาดก ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพมารวิชัย มีแม่พระธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง ส่วนพระประธานในพระอุโบสถรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯให้จำลองขยายส่วนจากพระแก้วมรกต นอกจากนั้นภายในพระวิหำรมีลักษณะรูปแบบฐานเป็นเส้นตรง ไม่ใช้ฐานอ่อนโค้งตามรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา บัวหัวเสามีลักษณะเป็นบัวกลีบยาวหรือบัวแวง พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ภายในพระวิหารมีภาพเขียนสีในสมัยรัชกาลที่ ๗ แสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่มีฝีมือยอดเยี่ยมงดงามมาก กรมศิลปากรได้ถ่ายแบบภาพเขียนนี้ไปไว้ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บริเวณหน้าพระอุโบสถจะเห็น แท่นพระศรีมหาโพธิ์ ลักษณะเป็นแท่นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้นำหน่อโพธิ์มาจากประเทศอินเดีย ไม่ไกลกันนั้นมี หอระฆัง ลักษณะแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ก่ออิฐถือปูน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมสองชั้น ชั้นล่างเจาะประตูเป็นรูปโค้งแหลม ชั้นบนเป็นส่วนของหอระฆัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ พร้อมกับการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่

ป้อมปราการรอบกรุง กำแพงเมืองที่พระเจ้าอู่ทองทรงสร้างครั้งแรกนั้นเป็นเพียงเชิงเทินดิน และมีเสาไม้ระเนียดปักข้างบน ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ก่ออิฐถือปูนขึ้น ตามพระราชพงศาวดารมีการสร้างป้อมต่างๆอาทิ ป้อมมหาไชย ป้อมซัดกบ ป้อมเพชร ป้อมหอราชคฤห์และป้อมจำปาพล เป็นต้น ป้อมขนาดใหญ่ๆมักตั้งอยู่บริเวณทางแยกระหว่างแม่น้ำ เช่น ป้อมเพชรตั้งอยู่ตรงที่บรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำ ป่าสัก จัดเป็นสวนสาธารณะริมน้ำสำหรับนั่งเล่น ป้อมมหาไชยตั้งอยู่มุม วังจันทรเกษมบริเวณที่เป็นตลาดหัวรอในปัจจุบัน ตัวป้อมได้ถูกรื้อเพื่อนำ อิฐไปสร้างพระนครใหม่ที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑

อ่านต่อ: สถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา ตอนที่ 4

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *