หมู่บ้านโปรตุเกส ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก อยู่ทางใต้ของตัวเมือง ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อปีพ.ศ.๒๐๕๔ โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกส ประจำเอเซีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งหลักแหล่งค้าขายและเป็นทหารอาสาในกองทัพกรุงศรีอยุธยา สร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยซากสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็นคือ โบราณสถานซานเปโตรหรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทยเมื่อปีพ.ศ.๒๐๘๓ ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๔๐๐ ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสาน ของชาวคาทอลิคคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังเและด้านข้างเป็นที่พักอาศัยและมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาเช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำในส่วนของสุสาน พบโครงกระดูกจำนวนมากมายถึง ๒๕๔ โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร จากแนวโครงกระดูกที่พบแบ่งขอบเขตสุสานออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนในสุดกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์ อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงหรือนักบวช ถัดมาส่วนที่สอง ส่วนนี้อาจเป็นผู้มีฐานะทางสังคมในค่ายโปรตุเกสสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป ส่วนที่สามนอกแนวฐานโบสถ์มีการฝังซ้อนกันมากถึง ๓-๔ โครง โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชาเมื่อปีพ.ศ.๒๒๓๙ มีผู้คนล้มตายมาก และในปีพ.ศ.๒๒๕๕ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้งมีผู้คนล้มตายมาก อาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม
วัดตูม ตั้งอยู่บริเวณริมคลองวัดตูม ถนนอยุธยา-อ่างทอง ตำบลวัดตูม ห่างจากตัวเมืองอยุธยา ประมาณ ๖-๗ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๕ ไร่ วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นผู้สร้าง ทราบกันแต่เพียงว่าเป็นวัดโบราณตั้งแต่สมัยเมืองอโยธยา ก่อนที่จะตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี วัดนี้คงเป็นวัดร้างมาครั้งหนึ่งเมื่อคราวเสียกรุงในปีพ.ศ.๒๓๑๐ ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีผู้ปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้งและเป็นวัดที่พระสงฆ์อยู่จำพรรษามา จนทุกวันนี้ วัดตูมนี้เป็นที่สำหรับลงเครื่องพิชัยสงครามแต่ดั้งเดิมมาคงเป็น แต่แรกตั้งกรุงอโยธยาตลอดจนถึงทุกวันนี้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ปี สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ พระเศียรตอนเหนือพระนลาฎ (หน้าผาก) เปิดออกได้และพระเกศมาลาถอดได้ ภายในพระเศียรเป็นบ่อกว้างลึกลงไปเกือบถึงพระศอ มีน้ำไหลซึมออกมาตลอดเวลาเหมือนหยาดเหงื่อ เป็นน้ำใสเย็นบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน สามารถรับประทานได้โดยปราศจากอันตรายใดๆ และไม่แห้งขาดหาย พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ทรงเครื่อง ปางมารวิชัย นามเดิมของท่านคือ “หลวงพ่อทองสุขสัมฤทธิ์” เรียกกันเป็นสามัญว่า “หลวงพ่อสุข” หน้าตักกว้าง ๘๗ เซนติเมตร สูง ๑.๕๐ เมตร สร้างสมัยใดไม่ปรากฎ เป็นพระทรงเครื่องแบบมหาจักรพรรดิราชาอธิวาสสวมมงกุฎ มีกุณฑลทับทรวง สังวาลพาหุรัด ประดับด้วยเนาวรัตน์ ประทับนั่งขัดสมาธิ พระพุทธรูปองค์นี้จะเปิดเศียรพระทุกวันที่ ๑ ของเดือน
วัดช้างใหญ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดตูม เป็นวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวมอญ ที่มีความสามารถพิเศษในการฝึกเลี้ยงช้างถวายกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หัวหน้าชาวมอญได้รับการแต่งตั้งเป็นจัตุลังคบาทควบคุมช้างศึก ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นทหารเอกแม่ทัพหน้าชนะศึกหลายครั้งได้รับแต่งตั้งเป็น“พระยาราชมนู” และได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีสมุหกลาโหม ช้างที่ฝึกถวาย ได้แก่ ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชื่อ เจ้าพระยาไชยยานุภาพ ระวางสูงสุดที่เจ้าพระยาปราบหงสาวดี และช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถชื่อเจ้าพระยาปราบไตรจักร เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชาวมอญและความสามารถของพระยาช้าง จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดไว้ในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “วัดช้างใหญ่”
พิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริก ยุ้นพันธุ์ ๔๕ หมู่ ๒ ตำบลท่าวาสุกรี เป็นสถานที่ที่สามารถชมได้ทั้งครอบครัว ภายในจัดแสดงของเก่า ภาพถ่ายโบราณ ฟิล์มกระจกสมัยรัชกาลที่ ๔ เหรียญเงินตรา แสตมป์ พระพุทธรูป ภาพวาด ชั้นที่ ๒ มีของเล่นหายากเป็นล้านชิ้น มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ที่น่าศึกษามากมาย เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ค่าเข้าชม ชาวไทย ผู้ใหญ่ ๕๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดโทร. ๐ ๓๕๓๒ ๘๙๔๙-๕๐ หรือ www.milliontoymuseum.com
วัดธรรมิกราช เป็นวัดสงฆ์มหานิกาย เดิมชื่อวัดมุขราช เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งสร้างวัดพนัญเชิงนั้น พระราชโอรส คือ พระเจ้าธรรมิกราชโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นที่บริเวณเมืองเก่าชื่อเมืองสังขบุรี ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์องค์ต่อมาได้ทรงบูรณะมาโดยตลอด ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓) ทรงบูรณะวัดและสร้างวิหาร หลวงเพื่อฟังธรรมในวันธรรมสวนะและที่วิหารหลวงแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานของเศียรพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ศิลปะสมัยอู่ทองปัจจุบัน กรมศิลปากรนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา สำหรับวิหารพระพุทธไสยาสน์นั้น พระราชมเหสีของพระองค์ทรงสร้างพระวิหารถวายตามคำอธิษฐานที่ขอให้พระราชธิดาทรงหายประชวร ไว้ทางหน้าประตูด้านทิศเหนือของพระเจดีย์สิงห์ล้อม ๕๒ ตัวที่แตกต่างไปจากเจดีย์ช้างล้อม พระพุทธไสยาสน์มีความยาว ๑๒ เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ที่ฝ่าพระบาทปิดทองประดับกระจก
อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมือง ตรงข้ามวัดพนมยงค์ เป็นอนุสรณ์สถานแด่ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ท่านได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยองค์การยูเนสโกในปี ๒๕๔๒ อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นรูปสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอุดมการณ์อันสำคัญยิ่งของท่าน ๓ ประการ คือ สันติภาพ เสรีไทย และประชาธิปไตย สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์ประกอบด้วยเสากลม ๖ ต้น รองรับหลังคาเรือนไทย ตั้งอยู่ในสระวงกลมมีน้ำล้อมรอบภายในอนุสรณ์สถานประกอบด้วย
เรือนไทยพิพิธภัณฑ์ เดิมเป็นเรือนแพทรงปั้นหยา มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี หลังคาเป็นทรงไทยโบราณ ฝาสายบัวและประตูมีสลักแบบไทยผสมจีนสวยงามมาก เรือนไทยหลังนี้ได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องประดับบ้าน และเครื่องมือเครื่องใช้กันอยู่ในสมัยนั้นและเกี่ยวข้องกับท่าน รวมทั้งภาพถ่ายแสดงชีวิต ผลงานและเหตุการณ์เกี่ยวกับตัวท่าน
เรือนไทยหอประชุม เป็นเรือนไทยประวัติศาสตร์อายุ ๑๒๐ ปี เดิมเป็นเรือนแพจอดอยู่ในคลองเมืองหน้าวัดพนมยงค์ถัดจากเรือนแพซึ่งเป็นที่เกิดของท่าน ต่อมาภายหลังได้ย้ายไปปลูกบนบก ภายในเรือนไทยมีซุ้มประตู ลายสลักแบบไทยจีนและฝรั่งสวยงามมากได้สร้างตามแบบเดิม
วัดพนมยงค์ หรือ วัดแม่นมยงค์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของกรุงเก่า ริมคลองเมือง เยื้องหน้าโรงเรียนประตูชัย ตำบลท่าวาสุกรี(ในเขตเทศบาลนคร พระนครศรีอยุธยา) วัดนี้เป็นนามของแม่นมของพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นสวนหลวงของแม่นมยงค์ซึ่งเป็นคนดีสัตย์ซื่อ ยึดถือคุณธรรมเป็นหลักของชีวิต ขยันต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและปฏิบัติงานจนสำเร็จทุกเรื่อง จึงเป็นที่โปรดปรานขององค์พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อแม่นมยงค์ชราภาพลงและหมดอายุขัย พระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสวนหลวงเป็นที่ธรณีสงฆ์และให้สร้างวัดขึ้นที่นั่นโดยให้พ้องกับชื่อแม่นมยงค์เพื่อบุญกุศลจะได้ตกแก่ แม่นมยงค์ เมื่อสร้างวัดพนมยงค์แล้วก็สร้างพระอุโบสถขึ้น มีความงดงามมาก ทุกส่วนอ่อนช้อยเป็นท้องสำเภา ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีวิหารพระนอนองค์ใหญ่ทำด้วยปูนปั้นสวยงาม พระนอนองค์นี้มีพุทธลักษณะละม้ายไปทางสุโขทัย เพราะพระสกท่านคล้ายก้นหอยขม ส่วนในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อนั้นเป็นที่โจษขานกันมาก ตามความเชื่อเข้าใจว่าแม่นมยงค์ น่าจะเกิดวันอังคาร จึงได้สร้างพระนอนองค์ใหญ่ไว้ประจำวัด และได้บรรจุกรุพระตลอดจนของล้ำค่าไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้วัดพนมยงค์ยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีก ๒ องค์ด้วยกัน องค์หนึ่งอยู่ในพระอุโบสถเป็นพระประธานสร้างในสมัยพระเจ้าอู่ทอง พระพักตร์งดงามมาก หน้านางสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ อีกองค์หนึ่งเป็นรูปหล่อพระศรีอาริยเมตตรัยสมัยปลายสมัยอยุธยา
พิพิธภัณฑ์เรือไทย เป็นพิพิธภัณฑ์เรือของเอกชนตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามกับวัดมหาธาตุ ถนนบางเอียน ภายในบริเวณบ้านพักของอาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลาผู้มีความรักและผูกพันกับเรือและน้ำ มาตั้งแต่เด็ก ท่านมีความคิดที่จะอนุรักษ์เพื่อให้เยาวชนได้เห็นถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นบ้านทรงไทยขนาดใหญ่ไม้สักฝาเฝี้ยม ชั้นล่าง จัดแสดงเรือจำลองต่างๆ เรือพระราชพิธี โดยต่อขึ้นตามแบบเรือจริงทุกประการ ปัจจุบันมีผลงานนับร้อยลำตั้งแต่เรือเดินสมุทรไปจนถึงเรือแจวลำเล็กๆและมีส่วนที่จัดแสดงเรือไทยพื้นบ้านนานาชนิดหลายรูปแบบที่ปัจจุบันหาดูได้ยากตามแม่น้ำลำคลอง เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวันในบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องแจ้งล่วงหน้า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๓๕๒๔ ๑๑๙๕
วัดนักบุญยอแซฟ ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐ หมู่ ๑๑ ตำบลสำเภาล่ม สร้างเมื่อ ปี พ.ศ.๒๒๐๙ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกษัตริย์องค์ที่ ๒๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากคณะธรรมทูตรุ่นแรกแห่งปารีส คือ ฯพณฯ ท่านลอมแบรต์ เดอ ลาม็อตกับพระสงฆ์อีก ๒ รูป ได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๒๐๕ ท่านและคณะได้ทำประโยชน์ต่อ ชาวกรุงศรีอยุธยา เป็นที่พอพระทัย พร้อมกันนั้นท่านได้เข้าเฝ้า สมเด็จ พระนารายณ์มหาราช เพื่อทูลขอสถานที่สร้างวัดและโรงเรียน เพื่อประกอบพิธีการทางศาสนาและให้การศึกษาแก่เด็ก พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งริมน้ำ เพื่อสร้างวัดและโรงเรียนซึ่งเรียกชื่อในสมัยนั้นว่า “ค่ายนักบุญยอแซฟ” คนไทยได้อาศัยวัดนี้เป็นป้อมต่อสู้กับพม่าจนกระทั่งถึงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๓๑๐ ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า เพียง ๑๐ วัน พม่าได้เผาและปล้นสะดมทรัพย์สินไปจนหมดสิ้น กวาดต้อนพระสังฆราชบริโกต์และคณะไปพม่าด้วย หลังเสียกรุงศรีอยุธยาวัดนี้จึงกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์ดูแล ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๗๔ คุณพ่อปัลเลอกัวและคณะได้เดินทางมาเมืองไทยจึงได้มีการบูรณะฟื้นฟูอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้ทางอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯได้มีการบูรณะฟื้นฟูส่วนต่างๆ และประดับตกแต่งภายในทั้งหมด พร้อมทั้งจัดที่บรรจุศพของพระสังฆราชปีแอร์ ลอมแบรต์ เดอ ลาม็อต และพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ไว้ภายในวัดบริเวณด้านพระแท่นทั้งสองข้าง ส่วนศพ (กระดูก) ของพระสังฆราชอีก ๖ องค์รวมทั้งบรรดามิชชันนารีอีก ๒๓ องค์ได้ย้ายไปบรรจุไว้ในอนุสรณ์สถานฯ ในสุสานของวัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร ๐ ๓๕๒๔ ๒๕๘๙, ๐ ๓๕๓๒ ๑๔๔๗
โบราณสถานวัดนางกุย ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐ หมู่ ๕ ตำบลสำเภาล่ม เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาอายุกว่า ๔๐๐ ปี ผู้ที่สร้างวัดนางกุย ชื่อ “นางกุย” เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากมายจึงได้สร้างวัดขึ้น ในสมัยก่อนวัดนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ วัดนางกุยได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๓ ได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ในพระนครศรีอยุธยา วัดนางกุยเป็นวัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะในส่วนต่างๆ เช่น อุโบสถ หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ และเสมาคู่ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๔
ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี” ปางสมาธิ และ “หลวงพ่อยิ้ม” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะจากไม้สักทองและลงรักปิดทองเป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมานาน จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ว่าสมัยก่อน หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มมาประดิษฐานตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมี ศำลแม่ตะเคียนทอง เป็นศาลต้นตะเคียนใหญ่ที่อยู่คู่วัดมานานกว่า ๔๐๐ ปี และได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณพ.ศ.๒๕๔๐ ทางวัดจึงได้นำมาแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อได้ให้คนมาสักการะบูชา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดนางกุย โทร. ๐๘ ๙๑๐๕ ๓๔๔๑, ๐๘ ๙๑๔๑ ๐๕๐๙
วัดแม่นางปลื้ม ตั้งอยู่ริมคลองเมือง ตรงข้ามกับตลาดหัวรอ เป็นวัดที่สร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เคยเป็นที่ตั้งของค่ายพม่าในสมัยก่อนเสีย กรุงศรีอยุธยาปีพ.ศ.๒๓๑๐ ชาวบ้านเรียกกันว่า “โคกพม่า” ปัจจุบันไม่เห็นร่องรอยของเนินค่ายแล้ว วัดนี้เป็นวัดหนึ่งที่มิได้ถูกทำลายเหมือนวัดอื่นๆ ในพระนครศรีอยุธยา จึงยังปรากฏโบราณสถานสำคัญต่างๆให้ชม เช่น เจดีย์ทรงระฆังมีสิงห์ล้อมรอบซึ่งสร้างเป็นประธานของวัดอยู่บนฐานสูง ฐานล่างล้อมรอบด้วยสิงห์ปูนปั้น เหนือขึ้นไปเป็นฐานบัวประดับด้วยบัวลูกฟัก ลายบัวแบบนี้สืบทอดมาจากศิลปะเขมร-ลพบุรี นิยมใช้ในศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นไปได้ว่ารับแบบอย่างมาจากเขมร สันนิษฐานจากหลักฐานในพงศาวดารกล่าวว่าในรัชสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยาราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ทรงยกทัพไปปราบเขมร ลักษณะพิเศษของเจดีย์แบบนี้พบเพียง ๒ องค์ในเมืองอยุธยา ส่วนวิหำรได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยดูจากลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันด้านหน้าเป็นลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากจีน ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อขาว(พระพุทธนิมิตมงคลศรีรัตนไตร) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยกรุงศรีอยุธยา