งานตรุษจีน-ย้อนอดีตเมืองภูเก็ต เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ๓ วันสุดท้าย โดยเทศบาลนครภูเก็ตและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์อาคารเก่าและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมือง บนถนนถลาง ถนนกระบี่และซอยรมณีย์ ซึ่งเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ของเมืองภูเก็ต โดยมีกิจกรรมและการแสดงมากมายให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวภูเก็ต ชิมอาหารพื้นเมือง ขนมโบราณภูเก็ต และชมการแสดงสุดยอดอุปรากรจีนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
งานประเพณีไหว้เทวดา เป็นประเพณีที่จัดขึ้นหลังวันตรุษจีน ๙ วัน ตรงกับวัน ๙ ค่ำเดือน ๑ ตามปฏิทินจีน เป็นการบูชาเทวดา ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนจะจัดของไหว้เป็นขนมมงคล ผลไม้มงคล รวมถึงสัญลักษณ์ในประเพณีคือ ต้นอ้อย ๑ คู่ และขนมเจดีย์น้ำตาลมาตั้งไหว้ในช่วงเช้ามืดบริเวณหน้าบ้านของแต่ละบ้าน เริ่มไหว้ประมาณ ๐๓.๐๐-๐๖.๐๐ น. แล้วรอจนพระอาทิตย์ขึ้น ถึงเป็นอันเสร็จพิธี แต่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงตามความสะดวกคือ เริ่มไหว้ประมาณเที่ยงคืน ส่วนระยะเวลานั้นไม่มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นความสวยงามของโต๊ะไหว้และแสงเทียนตลอดแนวถนน ตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป
งานท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร ตรงกับวันที่ ๑๓ มีนาคมของทุกปี มีการจัดงานเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สองวีรสตรีสามารถปกป้องเมืองถลางให้รอดพ้นจากข้าศึกและสดุดีในวีรกรรมของท่าน
งานประเพณีปล่อยเต่า ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน หรือวันสงกรานต์ของทุกปี กรมประมงได้กำหนดให้เป็นวันประมงแห่งชาติ มีประเพณีปล่อยลูกเต่าลงทะเลโดยจะจัดงานในบริเวณหาดต่างๆ ในภูเก็ต
งานประเพณีลอยเรือชาวเล จะมีพิธีในกลางเดือน ๖ และ ๑๑ ของทุกปี โดยกลุ่มชาวเลที่หาดราไวย์และบ้านสะปำ จะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ และกลุ่มชาวเลที่เกาะสิเหร่และกลุ่มชาวเลที่แหลมหลา (ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ต) จะมีพิธีลอยเรือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ซึ่งถือเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ของชาวเลคล้ายกับพิธีลอยกระทงของชาวไทย มีการสร้างเรือจากไม้ระกำ ตัดผมตัดเล็บ และทำตุ๊กตาไม้แทนคน ใส่ลงไปในเรือ แล้วนำไปลอยเพื่อนำเอาความทุกข์โศกเคราะห์ร้ายต่างๆ ให้ลอยไปกับทะเล แล้วมีการร่ายรำรอบเรือ หรือที่เรียกว่า “รำรองเง็ง” นั่นเอง
งานผ้อต่อ เป็นงานประเพณีของชาวภูเก็ตที่มีเชื้อสายจีน จะมีพิธีในช่วงเดือน ๗ ของจีน หรือเดือน ๙ ของไทย โดยมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบวงสรวง เป็นขนมชนิดหนึ่งทำด้วยแป้งเป็นรูปเต่าขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้างทาสีแดง ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเต่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ดังนั้น การไหว้เต่าจึงเป็นการต่ออายุให้ตนเอง และถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่
งานประเพณีไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ตามปฏิทินจีน ในคืนดังกล่าวพระจันทร์เต็มดวง สว่างสวยที่สุด จึงจัดประเพณีไหว้พระจันทร์ขึ้นเพื่อสักการะเจ้าแม่กวนอิมและพระจันทร์ และขอพรให้คนในครอบครัวมีความสุข เป็นเทศกาลแห่งความกลมเกลียว เพราะดวงจันทร์ที่กลมเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความสามัคคี ทั้งนี้ เทศบาลนครภูเก็ตได้จัดให้มีพิธีไหว้พระจันทร์ ตลาดนัดขนมไหว้พระจันทร์ ขนมมงคลและอาหารพื้นเมือง ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชินี เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม อันดีงามของชุมชนท้องถิ่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองภูเก็ตด้วย
ประเพณีถือศีลกินผัก กำหนดจัดในวันขึ้น ๑-๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน จะอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี งานเทศกาลกินผักเป็นงานประเพณี ซึ่งชาวจีนที่เข้ามาอาศัยในภูเก็ตยึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๖๘ จนถึงทุกวันนี้ เพื่อเป็นการถือศีลปฏิบัติธรรม ชำระร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ และในช่วงเทศกาล ๙ วัน ๙ คืนนี้ มีพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีอัญเชิญพระ พิธีลุยไฟ พิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีส่งพระ เป็นต้น เป็นงานที่ได้รับความสนใจทั้งจากชาวไทยและชาวต่างประเทศมากที่สุดงานหนึ่ง
ลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา และ แข่งขันไอรอนแมน เป็นการแข่งขันกีฬา ๓ ประเภทต่อเนื่องกัน คือ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่งบริเวณลากูน่าภูเก็ต หาดบางเทา มีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลก การแข่งขันจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี
เทศกาลเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต ตรงกับวันที่ ๑ พฤศจิกายน โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๘ ณ หาดป่าตอง เป็นการส่งเสริมความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ หน่วยงานราชการและประชาชน ในงานมีพิธีตักบาตรในตอนเช้า การแข่งขันกีฬาทางน้ำ การประกวดสาวงามจากนักท่องเที่ยวชาติต่างๆ เป็นต้น
งานแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทาน เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ และหลังจากนั้นจึงถือกำหนดจัดงานขึ้นในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี โดยมีเรือใบจากนานาประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันบริเวณหาดในหานเพื่อชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เทศกาลอาหารทะเล จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจะนำเสนออาหารทะเลสดๆ จากท้องทะเลอันดามัน พร้อมรับส่วนลดมากกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ชมสาธิตการปรุงอาหารทะเลมากว่า ๑๐ เมนูจากเชฟที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและเชฟท้องถิ่น พร้อมสนุกสนานกับการแสดงดนตรีจากนักร้องที่มีชื่อเสียง
งานถนนสายวัฒนธรรมเมืองกะทู้ มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเมืองกะทู้ กิจกรรมภายในงาน การแสดงงิ้วเปิดหน้า สิงโตปีกกิ่ง กายกรรมฉีหลิงสิงโตวูฟู การแสดงชุดศิลปวัฒนธรรม การแข่งขันพูดภาษาถิ่นภูเก็ตและกิจกรรมการแสดงของโรงเรียนต่างๆ สลับสับเปลี่ยนตลอดทั้งคืน