พวกเขามาถึงก่อนเราหลายเดือนแล้ว
วันที่ทะเลห่มสายลมหนาว หมอกขาวลอยเคลียยอดคลื่นสีครามและท้องฟ้ากล่นเกลื่อนด้วยดวงดาว
พวกเขามาอยู่ที่นี่ยาวนาน บ้างนานนับสัปดาห์ บ้างก็ยาวนานหลายเดือน ความห่างไกล เงียบสงบ และความสมบูรณ์ของธรรมชาตินำพาให้พวกเขามาเยือนที่นี่
เกาะช้าง หนึ่งในเกาะน้อยใหญ่แห่งทะเลระนอง ห่างจากผืนแผ่นดินใหญ่ 2 ชั่วโมงเรือเมล์โดยสาร ห่างจากน่านน้ำสหภาพเมียนมาร์ราว 10 ไมล์ทะเล ที่นี่คล้าย “ดินแดนหลงสำรวจ” กลางท้องทะเลอันดามัน
“ฉันตกหลุมรักที่นี่แล้วล่ะ มันเหมือนเกาะในหนังเรื่อง The Beach เลย” หญิงสาวชาวสวิสเอ่ยแล้วก็หัวเราะร่าเริง
ดูเธอจะหลงไหลที่นี่เข้าจริงๆ นัยน์ตาคู่นั้นเหมือนเด็กค้นพบ “สนามเด็กเล่น” ถูกใจ ยิ้มร่าตั้งแต่วันแรกที่พบกันบนเรือเมล์โดยสาร
“คุณว่าที่นี่เหมือนสวรรค์ไหม” ชายชาวเยอรมันเอ่ยถาม เขายิ้มอารมณ์ดีแล้วเล่าว่าอยู่ที่นี่ได้เดือนกว่าแล้ว การที่มีนกแก๊กอาศัยอยู่บนเกาะนั่นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์และปลอดภัย
ผมยิ้มรื่นรมย์แล้วถามเขาบ้างว่า เห็นนกเดินดงหัวสีส้มไหม เขาทำหน้าแปลกใจคล้ายอยากได้คำอธิบาย ผมหันมองไปที่เจ้าของชื่อ ซึ่งกำลังเดินหาอาหารบนผืนทราย
กล่าวสำหรับเดินดงหัวสีส้ม เขาจัดเป็นนกนักเดินทางที่พบได้ไม่ยากนัก ทว่ามีสีสันน่าชม บ้านเกิดอยู่ห่างไกลแถบจีนตอนเหนือ มองโกเลีย และรัสเซีย ช่วงฤดูหนาวที่อากาศหนาวเหน็บนั่นล่ะ พวกเขาจะพากันโบยบินลงใต้ เพื่อแสวงหาถิ่นที่อบอุ่นและอาหาร
วันแรกที่มาถึงเกาะช้าง เราพบเขาประจำอยู่บนชายหาดแล้ว
เจ้าถิ่นบอกเราว่า เขาแวะมาเยือนที่นี่ทุกๆ ปี
สำหรับปีนี้ เขามาพร้อมสายลมหนาวยาวนานหลายเดือนแล้ว
ที่เกาะช้าง เวลาคล้ายหมุนไปตามใจปรารถนา
วันเวลานั้นแสนสั้น รวดเร็วข้ามคืนและวัน ทว่าสัปดาห์คล้ายยาวนานเหมือนเราเป็นคนที่นี่
ทุกคนที่มาเยือนคล้ายเป็นคนที่นี่ เราต่างอยู่นานกันเป็นสัปดาห์พบกันทุกๆ วันขณะตะวันปรากฏตรงขอบฟ้า เดินท่องไปตามชายหาดในยามบ่าย กินมื้อค่ำในยามท้องฟ้าประดับด้วยดวงดาว
เช้าตรู่อากาศหนาวเย็น เราจะเห็นหญิงชราชาวเยอรมันมาโยคะออกกำลังกาย พอสายหน่อนสามีภรรยาชาวแคนาเดียนจะเดินมากินอาหาร ยามบ่าย ที่บังกะโลริมชายหาดหลังนั้น คริสต้า-หญิงชาวเยอรมันจะออกมาตั้งเฟรมวาดภาพสีน้ำ
“ฉันคิดว่าจะอยู่ที่นี่สักสามเดือน วาดรูปไปเรื่อยๆ” เธอบอกเล่าโครงการ “งานอดิเรก” พลางหัวเราะสบายใจ
หลายคนใช้เวลาบนเกาะเช่นนี้ เช่นเดียวกับหญิงชาวเยอะมันอีกคนเธอมาพักผ่อนที่นี่พร้อมๆ กับเขียนเรื่องราวการเดินทาง ขณะหญิงชราอีกคนก็ขีดเขียนนิยายตรงระเบียงบังกะโล ใต้ร่มทิวสน และบนชายหาดทอดยาว
“ทุกคนที่มาชอบความเป็นธรรมชาติ เงียบสงบ ไร้การดัดแปลงอะไร” ลุงยงยุทธ เมาลีกุล ผู้บุกเบิกเกาะช้างให้คนอีกซีกโลกรู้จัก ให้นิยามความเป็นที่นี่
เรื่องเล่าเก่าๆ ของลุงยงยุทธสนุกไม่ต่างจากหนังเรื่อง The Beach เพียงแต่ตัดฉากโลดโผนและไร่กัญชาออกไป พ.ศ. 2532 แกบุกเบิก Cashew Resort ด้วยการสร้างกระท่อมง่ายๆ ตามใต้ร่มไม้ แล้วทำโปสเตอร์ไปแปะที่ถนนข้าวสารด้วยตัวเอง
“ตอนนั้นโทรศัพท์มือถือไม่มี เรือเมล์มาเกาะไม่มี ไฟฟ้าก็ไม่มี” ลุงยงยุทธยิ้มพลางเล่าย้อนความหลัง
พ.ศ. นั้นเกาะช้างคล้ายดินแดนหลงสำรวจในแผนที่ “ท่องเที่ยวไทย” ของชาวต่างชาติผู้แสวงหาสถานที่สดใหม่ ยิ่งคนไทยแล้วไม่รู้จักมักคุ้นแม้แต่น้อย บังกะโล 5 หลังสร้างอย่างเรียบง่าย ห้องครัวอยู่บนผืนทรายมีเพียงไฟปั่นกับหลอดไฟไม่กี่ดวง
“ตอนมาอยู่ใหม่ๆ เราทำอะไรยังไม่ค่อยจะเป็น เพื่อนบ้านให้น้ำพริกมาถ้วยนึงก็นับเป็นของล้ำค่า” พี่ฝน และ พี่นุ้ย เจ้าของสวัสดีบังกะโลเล่าแล้วก็หัวเราะร่า ความายากลำบากในยาม “บุกเบิก” นั้นหอมหวานเสมอเมื่อระลึกถึง
กว่า 20 ปี แล้วนับตั้งแต่มีผู้มาเยือนคนแรก ถึงวันนี้เกาะช้างก้ยังคง “คล้ายเดิม”
ไฟฟ้ายังปั่นใช้ในบางเวลา ผู้มาเยือนบังเป็นกลุ่มผู้พิศมัยความเรียบง่าย
และนกแก๊กยังโบยบินอิสรเสรีไปตามเรือนยอดไม้ ไปตามชายหาดทอดยาวจรดโค้งของฟ้า
สำหรับที่นี่ เวลาคล้ายมีให้ใช้สอยอย่างเหลือเฟือ
เรามักตื่นเข้าพร้อมแสงแรกจับเส้นขอบฟ้า พร้อมฝูงนกแก๊กที่บินลงจากภูเขามาหาอาหาร ต้นไทรตามชายหาดกำลังติดลูกอยู่ดกดื่น เขาจึงมีกิจวัตรร่วมกันแถวๆ หาดทราย
ชายชาวแคนาเดียนวิ่งออกกำลังกาย คู่ชาวเยอรมันควงแขนชมทะเลข้างๆ เกลียวคลื่น ขณะเราออกมาชมนกแก๊กที่ต้นไทร เพลินกับฉากป้อนลูกไทรและเกี้ยวพาราสี
หลังอาหารมื้อสาย หลายคนจะออกท่องไปรอบๆ เกาะเพื่อหาที่ทางของตน
บ้างใช้เวลาอันเหลือเฟือนั้นบนเปลและหนังสือเล่มหนา บ้างนอนห่มแดดใต้ฟ้ากระจ่างใส บ้างก็เดินเลียบภูเขาไปหาที่ทางอันพึงใจ
บ่ายวันหนึ่ง เราไปเยือนหมู่บ้านชาวเลมอแกน พวกเขาอาศัยอยู่ในอ่าวห่างไกลอีกด้านของเกาะ
ดั้งเดิมนั้นชาวมอแกนเป็นกลุ่มชนอิสรเสรี มีเรือเสมือนเรือนตาย ออกท่องทะเลไปทั่วเพื่อหาปูปลาเป็นอาหาร ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยนท้องทะเลถูกแบ่งกั้นด้วยพรมแดน ถูกจับจองเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ชีวิตของพวกเขาจึงจำต้องเปลี่ยนตาม
สำหรับชาวมอแกนแห่งเกาะช้าง พวกเขาเลือกจะอยู่ถาวรบนที่ดินที่บาทหลวงชาวคริสต์มอบให้ การออกทะเลเลี้ยงชีพยังคงดำเนินไป แต่เพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินและข้าวของใหม่ๆ จากเมืองไกลแถบชายฝั่ง
“ถึงจะไม่เหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ดีตรงที่ลูกๆ เราได้เรียน” เดียวประมงกิจ ผู้นำชาวมอแกนบอกพลางมวนยาจุดสูบ เด็กๆ กว่าสิบคนวิ่งเล่นหัวเราะร่าอยู่รายรอบ
“จริงๆ พวกเขาก็ยังคล้ายเดิมนะคะ” นลินฉัตร์ อภิสิริเดชายศ ครูประจำโรงเรียนบ้านเกาะช้างเอ่ยแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี
เฑอเล่าว่าเด็กๆ ชาวมอแกนที่มาเรียนล้วนร่าเริง ไม่เรียบร้อยทว่าก็ไม่ดื้อรั้น ยิ้มหัวกับเรื่องง่ายๆ บางคนเรียนดีจนมีโอกาสไปเรียนต่อที่ตัวเมืองระนอง
“คนเกาะนี้ยิ้มง่ายแทบทุกคนล่ะค่ะ” ครูบอกแล้วก็ยิ้มระบายบนใบหน้า
เหมือนเช่นทุกวัน หมอกหนาวลอยเคลียเกลียวคลื่นสีคราม ฝูงนกแก๊กโบยบินไปตามชายหาดทอดยาว
เราใช้เวลาที่มีนับสัปดาห์ค่อยๆ ไปเยือนแง่มุมต่างๆ บนเกาะ “ห่างไกล” แห่งนี้
จากหมู่บ้านมอแกนด้านทิศตะวันออก เราตามทางทรายขึ้นไปเยือนชุมชนเก่าใจกลางเกาะ ลุงยงยุทธเคยเล่าว่า คนกลุ่มแรกๆ ที่มาอาศัยบนเกาะนี้คือบรรดา เสือ ที่ออกปล้นคนรวยเพื่อช่วยเหลือคนยากจน
ความที่อยู่ห่างไกล มีภูเขาและป่าไพรเสมือนป้อมปราการ มีฤดุมรสุมอันยาวนานนับแรมปี เหล่านี้ทำให้เกาะช้างเป็นถิ่นที่ไกลปืนเที่ยงและทำให้หลายอย่างดำรงอยู่จนทุกวันนี้
สวนกาหยูคือรูปรอยแห่งวันวาน แต่ละต้นเติบใหญ่ยาวนานลายสิบปี แผ่กิ่งก้านสาขาราวกับป่าโบราณ ด้วยผืนดินและอากาศอันเหมาะสม ว่ากันว่า เม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่นี่มีรสดีอันดับต้นๆ ของประเทศ
ท่ามกลางร่มเงาของกาหยู มีเรือนไม้ของผู้อยู่อิงแอบอย่างเจียมตนบางส่วนเป็นสวนยางพารา ขณะรายรอบบ้านเป็นสวนยางพารา ขณะรายรอบบ้านเป็นสวนผลไม้จำพวกเงาะ ทุเรียน และสวนหมากพออาศัยแลกเปลี่ยนซื้อขาย
ลงจากภูเขาใจกลางเกาะ เราแวะชมทิวทัศน์เวิ้งอ่าวที่ Crocodile Rock แล้วเดินเลาะผืนป่าไปเยือน หาดไข่เต่า ซึ่งอยู่ในเวิ้งอ่าวอันเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเกาะระนอง
หาดไข่เต่าเงียบสงบ อยู่ห่างไกลปลายเกาะด้านทิศตะวันตก ผืนทรายโค้งขาวเป็นรูปจันทร์เสี้ยว เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า บางปีเต่าตนุก็ขึ้นมาวางไข่ ส่วนนกแก๊กก็อาศัยที่นี่เป็นบ้านอันสมบูรณ์
บ่ายคล้อย ยามตะวันคล้อยลงไปใกล้เส้นขอบน้ำ เรามักไปเยือน Sunset Beach จุดชมตะวันลับเส้นขอบฟ้า
เวิ้งอ่าวเล็กๆ นี้เป็นที่ตั้งของบังกะโลสองสามแห่ง ด้านหนึ่งของอ่าวเป็นแนวโขดหินกลมมนน้อยใหญ่ บ้างลาดเรียบราวลานประกอบพิธีกรรม
ในยามเย็น เราจึงเห็นใครๆ ไปเยือนที่ตรงนั้น บ้างนอนแนบแผ่นหินชื่นชมด้วงตะวัน บ้างก็ยืนเหยียดราวกำลังทำสุริยนมัสการ
หลังตะวันคล้อยลับ ผู้มาเยือนจะค่อยๆ ทยอยกลับกระท่อมที่พักชำระล้างร่างกายด้วยน้ำจืดอันเย็นชื่น ก่อนจะออกมากินอาหารตามบังกะโลหน้าชายหาด
ในโมงยามนั้น ท้องทะเลฤดูหนาวจะพร่างพรายด้วยดวงดาว แลสุกใสราวอัญมณีแห่งอันดามัน
ใต้แสงเทียนและดวงไป ณ เกาะอันเงียบสงบ เราคล้ายเป็นกลุ่มคนหลงสำรวจอันห่างไกล ทุกคนล้วนคุ้นหน้า พูดคุยทักทายกันมานับสัปดาห์
“ที่นี่เหมือนสวรรค์” หญิงสาวชาวสวิสเอ่ยประโยคเดิมในค่ำคืนสุดท้าย
เรากำลังจะจากไป ใครหลายคนกำลังจะจากเกาะแห่งนี้ไป ทว่าหลายคนยังคงอยู่ อาจยาวนานนับแรมเดือน รวมถึงหญิงสาวเจ้าของนิยามโรแมนติกนั้น
“ปลายหน้าฝนกลับมาอีกสิ” พี่ฝน พี่สาวแห่งสวัสดีบังกะโลเอ่ยชวนเธอว่าท้องทะเลในยามนั้นจะใสสะอาดเป็นพิเศษ อีกทั้งไม้ไพรจะเขียวชอุ่มเย็นตา
เราเอ่ยขอบคุณพร้อมๆ กล่าวคำอำลา
เวลาคล้ายแสนสั้น ทว่ายาวนานเมื่อเยือนอยู่นับสัปดาห์
บนเรือเมล์โดยสารคืนกลับแผ่นดินใหญ่ เราพบเพื่อนร่วมทางคุ้นเคยมากหน้า นั่นคู่รักชาวเยอรมัน กลุ่มชายหนุ่มชาวฝรั่งเศสผู้มาพร้อมกีตาร์ ครูชาวแคนาเดียนผู้พิศมัยเอเชีย
ขณะสวัสดีบังกะโลค่อยๆ ลับหายไปกับท้องทะเลอันดามัน
แล้วเกาะช้างก็ค่อยๆ ลับหายไปกับโค้งขอบฟ้า
ขอบคุณ อสท