อนุสาวรีย์พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ตั้งอยู่บนถนนเพิ่มผล โดยได้นำรูปปั้นมาประดิษฐาน เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดีเจ้าเมืองระนองคนแรกผู้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง และท้องถิ่น ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวระนอง และบุคคลทั่วไปนิยมมาสักการะเป็นจำนวนมาก
พระราชวังรัตนรังสรรค์ (จำลอง) เป็นพระราชวังที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การเสด็จประทับแรมจังหวัดระนองของพระมหากษัตริย์ ๓ พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๓๓) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๒) และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๗๑) และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดระนอง ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขารัตนรังสรรค์ (ใกล้ศาลากลางจังหวัดระนอง) ตำบลเขานิเวศน์ เป็นพระราชวังที่ทำด้วยไม้สักและไม้ตะเคียนทอง สิ่งที่จัดแสดงภายในพระราชวังฯ ได้แก่ ห้องบรรทม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ชั้น ๓) ห้องพระราชินี (ชั้น ๒) มีจำนวน ๖ ห้อง อาคารทรงแปดเหลี่ยม อาคารท้องพระโรง สะพานเชื่อมอาคารที่ประทับกับอาคารแปดเหลี่ยม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลเมืองระนอง โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๑๔๒๒, ๐ ๗๗๘๑ ๑๑๖๑ และ ๐๘ ๙๖๔๕ ๒๑๐๑
หอพระเก้าเกจิ ตั้งอยู่ใกล้กับพระราชวังรัตนรังสรรค์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ ซึ่งเป็นปีเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี โดยเป็นหอที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคใต้ ได้แก่ หลวงพ่อจันทร์ หลวงพ่อนุ้ย หลวงพ่อรื่น หลวงปู่ทวด หลวงพ่อเบี้ยว หลวงพ่อติ๋ว หลวงพ่อลอย หลวงพ่อน้อย และหลวงพ่อบรรณ ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งที่ชาวระนอง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ความนิยมมาสักการะบูชา
จวนเจ้าเมืองระนอง หรือ บ้านค่ายเจ้าเมืองระนอง สร้างในสมัยพระยาดำรง สุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ซึ่งพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง) บุตรชายคนที่ ๒ ของท่านคอซู้เจียง สร้างเพื่อใช้เป็นที่พักของบิดา เริ่มสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๐ หลังเหตุการณ์กุลีจีนกบฏ มีเนื้อที่ประมาณ ๓๓ ไร่เศษ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองระนอง ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานฉบับทั่วไป เล่มที่ ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๐ง ลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๓๙ สิ่งที่น่าสนใจ คือ ศาลบรรพบุรุษต้นตระกูล ณ ระนอง ๔ รุ่น ป้ายหน้าศาลบรรพบุรุษ มีอักษรจีนฮกเกี้ยนอ่านว่า เกา-หยาง หมายถึง “ดวงตะวันอันสูงส่ง” บ้านนี้มากด้วยขุนนาง บ้านนี้มากด้วยแก้วแหวนเงินทอง หรีดโลหะชุบเงินและทอง พระราชทานโดยสมเด็จพระยาดำรง ราชานุภาพโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ แผ่นศิลาจารึก พระราชทานพระราชานุญาตทำคำจารึกไว้เป็นเกียรติยศจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๕ นอกจากนี้ภายในจวนเจ้าเมืองยังเป็นที่เก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของต้นตระกูล ณ ระนอง ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ควบคู่กับความเจริญเติบโตของเมืองระนอง สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณโกศล ณ ระนอง โทร. ๐๘ ๑๙๕๖ ๐๐๐๘ หรือเทศบาลเมืองระนองโทร. ๐ ๗๗๘๑ ๑๔๒๒, ๐ ๗๗๘๑ ๑๑๖๑ และ ๐๘ ๙๖๔๕ ๒๑๐๑
วัดสุวรรณคีรีวิหาร (วัดหน้าเมือง) อยู่บนถนนชาติเฉลิม ตรงข้ามโรงเรียนชาติเฉลิม ในเขตเทศบาลเมืองระนอง ไปตามถนนหมายเลข ๔๐๐๔ (สายระนอง-ปากน้ำ) เป็นวัดเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๓ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ นับเป็นวัดแรกของจังหวัดระนอง ในวัดมีเจดีย์ศิลปะพม่าสูง ๑๐ เมตร มีอายุกว่า ๗๐ ปี สร้างโดยชาวพม่า ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องลวดลายดอกพิกุล สมัยต้นรัตนโกสินทร์งดงามมาก ภายในอุโบสถมีพระประธาน พระพุทธรูปหินอ่อน ๕ องค์ ธรรมาสน์ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทาน อีกทั้งสามารถชมศาลาการเปรียญซึ่งพื้นเป็นลายกระเบื้องเขียนด้วยมือ
บ่อน้ำร้อน-สวนสาธารณะรักษะวาริน อยู่ห่างจากเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๕ ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปทางทิศตะวันออก ๒ กิโลเมตร ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองระนอง ได้พระราชทานชื่อถนนที่จะไปยังบ่อน้ำ ร้อนว่า “ถนนชลระอุ” บ่อน้ำร้อนซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาตินี้มีอยู่ ๓ บ่อ คือ บ่อพ่อ บ่อแม่และบ่อลูกสาว ทั้ง ๓ บ่อมีอุณหภูมิสูงประมาณ ๖๕ องศาเซลเซียส สามารถใช้ดื่มและอาบได้ มีประโยชน์ต่อร่างกายในแง่การบำบัดรักษาสุขภาพ นอกจากนี้ยังถือเป็นน้ำบริสุทธิ์ จึงเป็นแหล่งหนึ่งที่นำไปผ่านพิธีพุทธาภิเษก ทำน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ในคราวพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษา ครบ ๕ รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนั้นบริเวณใกล้ๆ บ่อน้ำร้อนได้จัดเป็นสวนสาธารณะ “รักษะวาริน” ซึ่งเป็นนามที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานไว้ เมื่อคราวเสด็จเยือนระนอง พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งหมายความว่า น้ำที่ใช้รักษาโรคได้ ภายในบริเวณสวนสาธารณะ มีศาลาที่พักและห้องอาบน้ำร้อนไว้บริการและบริการแช่น้ำร้อนนวดสปาด้วยน้ำแร่ร้อนธรรมชาติของสยามฮอทสปา มีบริการห้องแช่ตัว ห้องอบไอน้ำ และห้องซาวน์น่า รวมทั้งบริการนวดตัว และห้องออกกำลังกาย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สยาม ฮอทสปา ซึ่งเปิดบริการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา ๑๐.๓๐-๑๙.๓๐ และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๙.๓๐ น. โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๓๕๕๑-๔ หรือ www.siamhotsparanong.com
วัดหาดส้มแป้น ตั้งอยู่หมู่ ๓ ตำบลหาดส้มแป้น ห่างจากบ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน ขึ้นเขาไปประมาณ ๗ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของศาลาที่ประดิษฐานรูปเหมือนหลวงพ่อคล้าย ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ชาวระนองให้ความเคารพนับถือมาก และมรณภาพที่วัดนี้ ภายในบริเวณวัดมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง และ ปลาพลวงจำนวนมากอยู่ในคลองหาดส้มแป้น ไม่มีผู้ใดจับปลาดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีศาลาริมน้ำสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนและเพลิดเพลินกับการให้อาหารปลาพลวง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ มีตลาดริมคลอง จากสะพานข้ามคลองหน้าวัดหาดส้มแป้นจะพบกับตลาดริมคลอง ไม่ควรพลาดอาหารท้องถิ่น อย่าง “ยาวาย” และ “ลอดช่อง” รวมถึงเลือกซืิ้อผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน ทั้ง “ไม้กวาดดอกอ้อ” และ “เซรามิคดินขาว” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่น หาได้ที่หาดส้มแป้นเท่านั้นนอกจากนี้ทุกวันเสาร์ เวลา ๑๐.๓๐ น. มีการแสดงวัฒนธรรมของเด็กๆ ในชุมชน ณ ลานกิจกรรม บริเวณกลางลานหญ้าหน้าตลาดริมคลอง อาทิเช่น การแสดงระบำร่อนเร่ ซึ่งเป็นการแสดงพื้นเมืองประจำจังหวัดระนอง เพื่อเผยแพร่ให้เห็นชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านในจังหวัด ติดต่อ อาสาสมัครรักหาดส้มแป้น โทร. ๐๘ ๑๖๗๗ ๔๐๔๙ / อบต.หาดส้มแป้น โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๒๐๕๙ / ชมรมอนุรักษ์ฯ และเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงนิเวศจังหวัดระนอง โทร. ๐๘ ๑๖๐๗ ๓๔๒๔ www.hatsompaen.org
ระนองแคนยอน ตั้งอยู่ในหุบเหมืองเก่าบนเขาที่บริเวณบ้านทุ่งคา ตำบล หาดส้มแป้น ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๔ (บ่อน้ำร้อน-หาดส้มแป้น) เลยวัดหาดส้มแป้นขึ้นเขาไปประมาณ ๒.๕ กิโลเมตร ระนองแคนยอนเป็นภูมิประเทศที่เกิดจากการทำเหมืองโดยใช้น้ำฉีดไล่ดินเพื่อแยกแร่ หลังจากเลิกทำเหมืองแร่น้ำที่ฉีดก็ชะล้างหน้าดินหายกลายเป็นแอ่งลึกลงไป กลายเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ รายล้อมไปด้วยหน้าผาดินและหินสูงใหญ่มากมาย ประกอบกับมีตาน้ำล้นขึ้นมารวมกับน้ำฝนที่ตกชุกของจังหวัดระนองเกิดเป็นแอ่งน้ำมรกตสีเขียวเข้มขนาดใหญ่ สวยงามและแปลกตามาก ดังนั้น ระนองแคนยอน จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกจุดหนึ่งที่เหมาะสำหรับ การพักผ่อนทั้งในยามเช้าและยามเย็น
อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๔๒ ภายในเขตอุทยานมีเกาะน้อยใหญ่จำนวน ๖ เกาะ คือ เกาะเสียด เกาะขวาง เกาะยาว เกาะโชน เกาะปลิง และเกาะนกเปล้า สำหรับที่ทำการอุทยานตั้งอยู่ที่ ๑๓๐ หมู่ ๓ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง สามารถเดินทางตามหลวงหมายเลข ๔ ชุมพร-ระนอง ถึงกิโลเมตรที่ ๖๐๕ เลี้ยวผ่านทางเข้าอุทยานฯ อีกประมาณ ๑ กิโลเมตร โดยทางอุทยานแห่งชาติมีบ้านพัก ลานกางเต็นท์ สถานที่ประกอบกิจกรรม และร้านสวัสดิการไว้บริการ
สถานที่น่าสนใจของอุทยานฯ ได้แก่
น้ำตกปุญญบาล เดิมชื่อน้ำตกเส็ตกวด ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลบางนอน ริมทางหลวงหมายเลข ๔ ทางไปจังหวัดชุมพร กิโลเมตรที่ ๕๙๗ จะเห็นน้ำตกอยู่ด้านขวามือ สูงประมาณ ๒๐ เมตร มีเส้นทางเดินเท้าศึกษาธรรมชาติ รวมระยะทางประมาณ ๓๐๐ เมตร เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแวะพักผ่อน ด้านหน้ามีที่จอดรถ ร้านอาหาร รวมทั้งมีห้องน้ำบริการด้วย
สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๑๑ ตั้งอยู่หมู่ ๑ ตำบลทรายแดง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองลำเลียง-ละอุ่น เป็นป่าชายเลนโครงการคลองละอุ่น เริ่มดำเนินการปลูกพรรณไม้ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๖ ต่อมาในปี ๒๕๒๘ ได้ปรับปรุงให้เป็นสวนรุกขชาติป่าชายเลน สร้างทางเดินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาทัศนศึกษา ระยะทางประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร พรรณไม้ป่าชายเลนในพื้นที่ดังกล่าว มีประมาณ ๓๐ ชนิด เช่น ต้นตะบูนดำยักษ์อายุกว่า ๒๐๐ ปี หากมาเป็นกลุ่มคณะ สามารถติดต่อวิทยากรนำชมเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติได้ แต่ควรติดต่อล่วงหน้าประมาณ ๗ วัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๗๗๘๔ ๗๒๑๗
วัดป่าชัยมงคล ตั้งอยู่ที่บ้านพรรั้ง ตำบลบางริ้น อยู่ห่างจากตัวเมืองระนอง ๕ กิโลเมตรไปตามทางสายเพชรเกษม กิโลเมตรที่ ๖๒๐-๖๒๑ ใกล้บ่อน้ำแร่ร้อนบ้านพรรั้ง เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดระนอง แวดล้อมไปด้วยสวนป่าธรรมชาติและพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่มีความร่มรื่น ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวแนวพุทธ สำหรับผู้สนใจที่จะแสวงธรรมพร้อมกับเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ บ่อน้ำร้อนพรรั้ง ซึ่งเป็นน้ำแร่ร้อนที่มีคุณภาพดี สามารถนำมาทานได้ ภายในบริเวณวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก สมเด็จมุจจรินมุนินโท (หลวงพ่อมุนินโท) และมีศาลาอาภากร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรูปภาพของกรมหลวงชุมพรฯ ข้างหน้าโรงธรรมมีพันธุ์ไม้หายาก คือ ต้นข้าวใหม่ มีกลิ่นหอมเหมือนต้นข้าวที่ออกรวงใหม่ หรือใบเตย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐๘ ๑๘๕๙ ๔๓๒๓
บ่อน้ำแร่ร้อนบ้านพรรั้ง อยู่ห่างจากตัวเมืองระนอง ๕ กิโลเมตรไปตามทางสายเพชรเกษม กิโลเมตรที่ ๖๒๐-๖๒๑ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร น้ำพุร้อนอยู่ในพื้นที่หุบเขาล้อมรอบ มีลำธารและสายน้ำธรรมชาติใสสะอาดไหลผ่าน มีสะพานไม้ข้าม และน้ำในลำธารแห่งนี้ นอกจากเป็นลำน้ำธรรมชาติแล้วนั้น ยังมีน้ำแร่ไหลผสมในลำคลองได้รับการดูแลและรักษาความสะอาดจากอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว งบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้จากงบประมาณยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดระนอง (งบ CEO) มีเส้นทางเดินเชื่อม แต่ละจุดกิจกรรม มีบ่อที่กักเก็บน้ำแร่ร้อน ๑ บ่อใหญ่ กับ ๒ บ่อเล็ก มีตาน้ำพุร้อน ที่ออกจากซอกหินอยู่ทั่วบริเวณ สามารถแช่เท้า เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในร่างกาย ค่าเข้าชมบ่อน้ำแร่ร้อน คนละ ๒๐ บาท ต่างชาติ ๒๐๐ บาท นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงมีบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวน ๑๐ หลัง ราคา ๑,๐๐๐ บาท/คืน สามารถติดต่อสอบถามจองห้องพักที่บ้านพักนักท่องเที่ยวบ่อน้ำแร่ร้อนบ้านพรรั้ง โทร. ๐ ๗๗๘๖ ๒๑๐๓
ภูเขาหญ้าหรือเขาหัวล้านหรือเขาผี ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลหงาว ห่างจากเขตเทศบาลเมืองประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔ (ระนอง-พังงา) กิโลเมตรที่ ๖๒๓ เยื้องกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว เขา หัวล้านหรือเขาผีนี้ เป็นภูเขาที่ไม่มีไม้ใหญ่ขึ้น ในฤดูฝนมีหญ้าสีเขียวขึ้นปกคลุมแนวเขาที่ทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ บางครั้งจึงเรียกว่า ภูเขาหญ้า ที่ราบเชิงเขามีทางเดินเท้าสำหรับนักท่องเที่ยวขึ้นสู่บนสันเขาเพื่อชมทิวทัศน์โดยรอบแบบ ๓๖๐ องศา
อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว อยู่ในเขตอำเภอละอุ่น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และอำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร อุทยานฯ มีเนื้อที่ประมาณ ๔๑๗,๕๐๐ ไร่ ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ มีสภาพป่าสมบูรณ์ สิ่งที่น่าสนใจในอุทยานฯ คือ น้ำตกหงาว เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากสันเขาสูงชัน สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ช่วงที่มีน้ำมากที่สุดคือเดือนมิถุนายน สัตว์ที่น่าสนใจที่พบได้บริเวณน้ำตกหงาวได้แก่ ปูเจ้าฟ้า ลักษณะเด่นของปูเจ้าฟ้าคือ ลำตัวและก้ามเป็นสีขาว ขาเดินทั้งสี่คู่ เบ้าตาทั้ง ๒ ข้าง และบริเวณปากเป็นสีม่วงดำ อาศัยอยู่ตามใต้ซอกหินหรือใต้ใบไม้บริเวณสองข้างทางลำธารเล็กๆ ที่ไหลลงจากน้ำตก โดยเฉพาะในฤดูฝน นอกจากนี้ ยังมีดอกโกมาซุม ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดระนอง เป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า “เอื้องเงินหลวง” (Dondrobium Formosum) มีลักษณะคล้ายดอกแคทลียา กลีบสีขาวมีสี่กลีบ กลีบใหญ่จะมีแต้มสีเหลืองอ่อนตรงกลาง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกในเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมของทุกปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว ๗๖/๕ หมู่ ๑ ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ๘๕๐๐๐ โทร. ๐ ๗๗๘๔ ๘๑๘๑ หรือ www.dnp.go.th
การเดินทาง จากตัวเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข ๔ (สายระนอง-ราชกรูด) ระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร จากนั้นจะมีทางแยกซ้ายมือไปตามถนนลาดยางอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการฯ
ศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาว อยู่ห่างจากตัวเมืองระนองไปทางใต้ตามถนนเพชรเกษม ระยะทางประมาณ ๑๙ กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ ๖๒๖-๖๒๗ จะมีทางเลี้ยวขวามือบริเวณที่ทำการเทศบาลตำบลหงาว เป็นทางลาดยางเข้าไปประมาณ ๕ กิโลเมตร ป่าชายเลนหงาวเป็นแหล่งเกิดและเติบโตของสัตว์ทะเลนานาชนิด ก่อนที่จะแข็งแรงและอาศัยหากินในทะเล ที่ศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาว ได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้นำชมธรรมชาติ ทั้งพรรณไม้ป่าและสัตว์ป่า มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน ๒ กิโลเมตร การทัศนศึกษาในเขตป่าชายเลนนี้ ต้องทำจดหมายถึงหัวหน้าศูนย์วิจัยป่าชายเลนหงาว ๑๘๕ หมู่ที่ ๔ บ้านล่าง ตำบลหงาว อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ๘๕๐๐๐ โทร. ๐ ๗๗๘๔ ๘๓๙๒ หรือสำนักงานป่าไม้จังหวัด โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๑๒๖๗
น้ำตกโตนเพชร ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลราชกรูด ห่างจากเทศบาลเมืองระนอง ๒๙ กิโลเมตร ตามเส้นทางระนอง-พังงา กิโลเมตรที่ ๖๔๐-๖๔๑ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนที่มีป้ายบอกทางเข้าค่ายลูกเสือระนอง ๒ กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าเข้าไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกโตนเพชร ซึ่งเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีทั้งหมด ๑๑ ชั้น แต่ละชั้นสายน้ำมีลักษณะลดหลั่นลงมาผ่านแนวชะง่อนหินดูสวยงาม และมีน้ำไหลตลอดทั้งปี โดยต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพ่อตาโชงโดง ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดระนอง ส่วนสภาพป่าข้างเคียงเป็นป่าดิบชื้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจจะไปชมน้ำตกโตนเพชร สามารถติดต่อชาวบ้านที่อยู่ใกล้น้ำตกให้เป็นผู้นำทางไปชมน้ำตกได้
สุสานเจ้าเมืองระนอง ตั้งอยู่ที่เนินเขาระฆังทอง ตำบลบางนอน สร้างในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ห่างจากเทศบาลเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๔ (ระนอง-ปากน้ำ) เป็นสุสานแบบจีนฝังศพของเจ้าพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนองคนแรก สุสานนี้เป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ ๕ บริเวณสุสานปูด้วยศิลา ๓ ชั้น สองข้างมีตุ๊กตาแกรนิตโบราณนำมาจากประเทศจีน ประกอบด้วยรูปขุนนางจีนฝ่ายบู๊ หมายถึงขุนนางที่ทำหน้าที่ในสนามรบ, รูปขุนนางจีนฝ่ายบุ๋น หมายถึง ขุนนางที่ทำหน้าที่ในราชสำนัก, รูปม้าแสดงถึงข้าทาสบริวาร, รูปแพะ แสดงถึงโภคทรัพย์ ความมั่งคั่ง และรูปเสือสื่อถึงพลังอำนาจความยิ่งใหญ่
หาดชาญดำริ อยู่ห่างจากเทศบาลเมืองระนองไปตามทางหลวงหมายเลข ๔๐๐๔ (ระนอง-ปากน้ำ) ระยะทาง ๙ กิโลเมตร หรือห่างจากสุสานเจ้าเมืองระนอง ๘ กิโลเมตร ก่อนถึงหาดชาญดำริประมาณ ๒๐๐ เมตร จะเป็นเนินเขาสูง สามารถชมทิวทัศน์ของชุมชนปากน้ำระนอง และเกาะสองหรือวิคตอเรียพอยท์ของฝั่งพม่า ตลอดจนเกาะแก่งอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำกระบุรีและยังเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้ หาดชาญดำริเป็นที่ตั้งของจันทร์สม บีช รีสอร์ท โดยมีท่าเทียบเรือสำหรับเรือท่องเที่ยวซึ่งบริการนำเที่ยวไปยังเกาะต่างๆ ของระนองในทะเลอันดามัน
วิคตอเรียพอยท์ หรือ เกาะสอง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจังหวัดระนอง โดยมีแม่น้ำกระบุรีกั้นขวางตรงตัวจังหวัดระนองพอดี นักท่องเที่ยวสามารถข้ามฝั่งไปชมทิวทัศน์และวิถีชีวิตชาวพม่า เช่น อนุสาวรีย์บุเรงนอง วัดปิตอเอ วัดจีน หรือจะซื้อสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก เช่น พลอย เครื่องหวาย เครื่องเขินพม่า เป็นต้น
การเดินทาง สามารถใช้บริการเรือโดยสารบริเวณปากน้ำระนอง (ท่าเรือสะพานปลา) ค่าโดยสารคนไทยเที่ยวละ ๕๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐๐ บาท เช่าเหมาลำราคา ๕๐๐-๖๐๐ บาท นั่งได้ประมาณ ๖-๘ คน ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ ๔๐ นาที หลักฐานในการทำบัตรผ่านแดนไป-กลับ มีอายุ ๗ วัน ใช้สำเนาบัตรประชาชน หรือ ใบขับขี่ จำนวน ๒ ชุด พร้อมรูปถ่าย ๑ นิ้ว ๓ รูป ค่าธรรมเนียม คนไทย ๓๐ บาท ชาวต่างชาติ ๑๐ ดอลล่าร์สหรัฐ ด่านทำบัตรผ่านแดนเปิดทำการตั้งแต่ ๐๗.๐๐-๑๖.๐๐ น.ทุกวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระนอง โทร. ๐ ๗๗๘๒ ๑๒๑๖, ๐ ๗๗๘๑ ๒๓๓๑, ๐ ๗๗๘๒ ๒๐๑๖ สายด่วน ๑๑๗๘ หรือจะเดินทางไปกับทัวร์ของจันทร์สม แทรเวล (สำนักงานอยู่ในโรงแรมจันทร์สมฮอทสปา) โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๑๕๑๐-๑, ๐๘ ๑๓๗๓ ๐๕๐๕ โทรสาร. ๐ ๗๗๘๓ ๕๕๒๙ www.jansomhotspa.com
เกาะช้าง เป็นเกาะขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ ๑๘ ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองระนอง ๒๐ กิโลเมตร และห่างจากเกาะพยาม ๔ กิโลเมตร บนเกาะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ ๘๐ ครัวเรือน อาชีพหลักคือทำ สวนมะม่วงหิมพานต์หรือกาหยู ถือเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดของประเทศแห่งหนึ่ง สวนยางพารา และประมงชายฝั่ง มีศูนย์แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรของกลุ่มแม่บ้านเกาะช้าง ซึ่งจะผลิตไวน์จากผลกาหยู และแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์อีกด้วย นอกจากนั้นเกาะช้างยังมีนกเงือกพันธุ์เล็ก ที่เรียกกันว่า “นกแก๊ก” จำนวนมากบินไปมาระหว่างเกาะช้างกับเกาะใกล้เคียง ซึ่งชาวบ้านเกาะช้างจะไม่จับหรือยิงนก นกเงือกจึงคุ้นเคยและไม่กลัวคน สามารถหาดูได้ง่าย ยกเว้นเดือนมีนาคม-เมษายน เนื่องจากเป็นช่วงที่นกสร้างรังเลี้ยงลูก สำหรับกิจกรรมบนเกาะก็มีหลายประเภท เช่น เดินป่าขึ้นเขาชมวิว ขี่จักรยานรอบเกาะ อบสมุนไพร ที่วัดเกาะช้าง ชมนกเงือก และตกปลา มีปลาหลายชนิด เช่น ปลาเก๋า ปลากะพง และปลาอินทรี บนเกาะมีที่พักบริการนักท่องเที่ยวสามารถดูรายละเอียดสถานพักแรมได้ที่ www.kohchang-ranong.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม โทร ๐ ๗๗๘๑ ๓๘๔๐ หรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๑๐๙๑, ๐ ๗๗๘๑ ๒๙๑๘, ๐ ๗๗๘๒ ๒๗๔๘, ๐ ๗๗๘๒ ๒๖๙๑ E – mail : [email protected]
การเดินทาง สามารถโดยสาร โดยลงเรือที่ท่าเรือชาวเกาะ ถนนสะพานปลา (ทางเข้าท่าเทียบเรือติดกับสถานีตำรวจภูธร ตำบลปากน้ำ จังหวัดระนอง) มีเรือบริการเที่ยวไป ๓ เที่ยว เวลา ๐๙.๓๐ น. ๑๒.๐๐ น. ๑๔.๐๐ น. และเที่ยวกลับ ๒ เที่ยว เวลา ๐๘.๓๐ น. และ ๑๔.๐๐ น. ใช้เวลาในการเดินทาง ๑ ชั่วโมง ค่าโดยสาร คนละ ๑๕๐ บาท หากต้องการเช่าเรือแบบเหมา นั่งได้ประมาณ ๒๐ คน ราคาประมาณ ๒,๐๐๐ บาท เรือโดยสาร ระนอง – เกาะช้าง – อ่าวเล็ก – เกาะพยาม โทร. ๐ ๗๗๘๒ ๕๗๕๒, ๐๘ ๙๙๐๙ ๓๕๒๔, ๐๘ ๔๙๙๓ ๘๕๔๕, ๐๘ ๑๒๗๐ ๔๘๐๑, ๐ ๗๗๘๓ ๔๐๘๒
เกาะพยาม เป็นเกาะขนาดใหญ่ พื้นที่ประมาณ ๓๕ ตารางกิโลเมตร อยู่ใกล้เกาะช้าง มีชาวบ้านอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ ๑๖๐ ครัวเรือน ชาวบ้านมีอาชีพทำสวนมะม่วงหิมพานต์ สวนยางพาราและประมงชายฝั่ง กิจกรรมบนเกาะจะมีการตกปลา ขี่จักรยานรอบเกาะ และสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการดำน้ำดูปะการัง เกาะพยามถือเป็นแหล่งดูปะการังที่สมบูรณ์สวยงาม และด้านทิศตะวันออกของเกาะไม่มีหาดทราย แต่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน และมีชาวเล เผ่ามอแกน มาอาศัยอยู่เป็นบางครั้ง บนเกาะพยามมีที่พักบริการนักท่องเที่ยว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะพยาม โทร. ๐ ๗๗๘๑ ๓๘๔๐
การเดินทาง สามารถเดินทางโดยเรือโดยสาร ลงเรือที่ท่าเทียบเรือชาวเกาะ ถนนสะพานปลา (ทางเข้าท่าเทียบเรือติดกับสถานีตำรวจภูธร ตำบลปากน้ำ จังหวัดระนอง) มีเรือบริการวันละ ๒ เที่ยว เวลา ๐๙.๓๐ น. และ ๑๔.๐๐ น. (เรือโดยสาร) ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมง ค่าโดยสารคนละ ๑๕๐ บาท เรือโดยสาร ระนอง – เกาะช้าง – อ่าวเล็ก – เกาะพยาม โทร. ๐ ๗๗๘๒ ๕๗๕๒, ๐๘ ๙๙๐๙ ๓๕๒๔, ๐๘ ๔๙๙๓ ๘๕๔๕ (เรือสปีดโบ๊ท) ใช้เวลาในการเดินทาง ๔๐ นาที ค่าโดยสารคนละ ๓๕๐ บาท เวลา ๑๐.๐๐ น. ๑๔.๓๐ น. สปีดโบ๊ท โทร. ๐๘ ๑๒๗๐ ๔๘๐๑, ๐ ๗๗๘๓ ๔๐๘๒
เกาะสน เป็นเกาะที่อยู่ในดินแดนสหภาพพม่าทางตอนใต้ในท้องทะเลอันดามัน เป็นที่ตั้งของโรงแรมอันดามัน คลับ เหมาะสำหรับการเดินทางมาพักผ่อนและเดินทางไปเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงทั้งฝั่งไทยในจังหวัดระนอง และฝั่งสหภาพพม่า รวมทั้งเกาะต่างๆ ในทะเลอันดามัน สิ่งอำนวยความสะดวกภายในเกาะ มีโรงแรม สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร และร้านจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี กำรเดินทำง ต้องมีการทำหนังสือผ่านแดนกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือใช้บริการการเดินทางด้วยรถของโรงแรมอันดามันคลับ ซึ่งจะมีรถรับส่งผู้โดยสารจากสนามบินผ่านตัวเมืองไปยังท่าเรือ และเรือรับส่งไปยังโรงแรมอันดามันคลับ ซึ่งมีให้บริการเที่ยวไปตั้งแต่ ๐๘.๓๐-๒๓.๓๐ น. (ออกเกือบทุกชั่วโมง) และเที่ยวกลับ ตั้งแต่เวลา ๐๗.๔๕-๒๓.๓๐ น. (ออกเกือบทุกชั่วโมง) ใช้เวลาในการเดินทาง ๒๐ นาที ค่าโดยสารคนไทย ๒๕๐ บาท ต่างชาติ ๘๕๐ บาท สอบถามรายละเอียดการเดินทาง ค่าธรรมเนียมและหลักฐานในการเดินทางได้ที่ สำนักงานท่าเรือโรงแรมอันดามันคลับ (ท่าเรือเกาะสน) โทร. ๐ ๗๗๘๑๑๒๙๓, ๐๘ ๑๘๙๔ ๒๕๘๓-๖, ๐ ๒๒๘๗ ๓๐๓๕ (ระนอง) ๐ ๒๒๘๕ ๖๔๐๔-๗ (กรุงเทพฯ) www.andamanclub.com