ป้อมพระจุลจอมเกล้า หรือ ป้อมพระจุล ตั้งอยู่บริเวณริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อยู่ห่างจากแยกพระสมุทรเจดีย์ ไปตามถนนสุขสวัสดิ์ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๐๓ ประมาณ ๗ กิโลเมตร หรือเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศสาย ๒๐ ป้อมพระจุลฯ-ท่าดินแดง เป็นป้อมที่ทันสมัยและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งเป็นที่ทำการยิงต่อสู้กับอริราชศัตรูมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) เป็นป้อมที่จารึกอยู่ในความทรงจำของคนไทยและประวัติศาสตร์ชาติไทยมายาวนาน เพราะในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่า ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังแสวงหาเมืองขึ้น บรรดาประเทศต่างๆ ที่อยู่ติดเขตแดนไทย ก็ถูกประเทศทั้งสองเข้าครอบครองไปหมดแล้ว นับเป็นภัยใหญ่หลวงสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย พระองค์จึงทรงหาวิธีป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันทางน้ำ ทรงดำริให้ปรับปรุงป้อมต่างๆ ทางปากน้ำ โดยจ้างชาวต่างประเทศที่ชำนาญการทหารเรือเป็นที่ปรึกษาวางแผนในการปรับปรุงกิจการทหารเรือในครั้งนั้นด้วย ภายในป้อมพระจุลจอมเกล้ามีสิ่งที่น่าสนใจคือ
พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้มีความสง่างามยิ่ง โดยทรงฉลองพระองค์ในชุดจอมทัพเรือ พระหัตถ์ถือกระบี่ นอกจากนี้ภูมิทัศน์โดยรอบยังแวดล้อมไปด้วยแมกไม้นานาชนิดดูร่มรื่น ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมาของป้อมพระจุลจอมเกล้า และเหตุการณ์ในสมัย ร.ศ. ๑๑๒
พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง เป็นเรือรบประจำการมีอายุการใช้งานนานที่สุดในกองทัพเรือเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี จนกระทั่งกระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่ามีสภาพทรุดโทรมมากจึงปลดประจำการเพื่ออนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์
เรือหลวงรบแม่กลอง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งลำแรกของไทย ในอดีตเรือหลวงรบแม่กลองมีความสามารถในการรบผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และ การต่อสู้อากาศยาน เป็นเรือรบที่กองทัพเรือได้สั่งต่อเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๗๙ ที่อู่อูรางา เมืองโยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น เรือหลวงแม่กลอง เป็นเรือประเภทเรือสลุต สังกัดกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ หมายเลขข้างเรือ ๔๑๔ ความเร็วสูงสุด ๑๔ นอต ความยาวตลอดลำ ๘๕ เมตร ความกว้าง ๑๐.๔๐ เมตร ใช้ในภารกิจสำคัญๆ เช่น เป็นเรือ พระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๙๔ เป็นเรืออัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมายังท่าราชวรดิษฐ์ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๒ เป็นเรือที่ใช้ปฏิบัติการทางทะเลเป็นปรจำสำหรับฝึกนักเรียนนายเรือที่ฝึกภาคต่างประเทศ เป็นเรือออกลาดตระเวน รักษาความสงบเรียบร้อยของน่านน้ำไทยตามเขตแนวชายแดนของประเทศกัมพูชา และยังใช้เป็นเรือสำหรับยิงสลุต ประดับธง ประดับไฟ ในพระราชพิธีสำคัญ และในการรับรองบุคคลสำคัญที่มาเยือนไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนม์มายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือนั้น ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการ จัดแสดงภาพความเสียหายจากการรบ และภาพสู่การพัฒนากองทัพเรือ นอกจากนั้นภายในอุทยานยังมีการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์อาวุธยุทโธปกรณ์กลางแจ้ง รวมทั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงวิวัฒนาการของกองทัพเรือในการป้องกันประเทศ ตลอดจนบทบาทในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งจัดแบ่งเป็น ๕ กลุ่ม คือ
-กลุ่มปืนเสือหมอบ ซึ่งเป็นปืนรุ่นแรกที่บรรจุทางท้ายกระบอก และเป็นอาวุธปืนหลุมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในช่วง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ.๒๔๓๖)
-กลุ่มปืนและอาวุธสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖
-กลุ่มปืนและอาวุธในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑, ๒ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
-กลุ่มปืนและอาวุธที่กองทัพเรือมีใช้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงปัจจุบัน
การจัดแสดงสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือในยามสงบ และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล นอกจากนั้นยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติในเชิงอนุรักษ์ที่นักท่องเที่ยวสามารถชมป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนกกระยาง นกนางนวล ปลาตีน ปูลม หรือปูก้ามดาบ ป้อมพระจุลฯ เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน เวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น. ไม่เสียค่าเข้าชม ผู้เข้าชมต้องขออนุญาตจากกองรักษาการณ์บริเวณหน้าประตูป้อมฯ และแลกบัตรประจำตัวไว้ หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการวิทยากรนำชมสถานที่ ต้องทำหนังสือถึงพิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๔๗๕ ๖๐๗๒, ๐ ๒๔๗๕ ๖๑๐๙
การเดินทาง จากสามแยกพระประแดง ใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงหมายเลข ๓๐๓) ตรงไปทางอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์ให้เลี้ยวขวาไปจนสุดถนนระยะทาง ๑๒ กิโลเมตร หรือเดินทางด้วยรถโดยสารปรับอากาศและธรรมดาสาย ๒๐ (ป้อมพระจุลจอมเกล้า-ท่าน้ำ ท่าดินแดง)
พระสมุทรเจดีย์ ตั้งอยู่ถนนสุขสวัสดิ์ ตำบลปากคลองบางปลากด ในวัดพระสมุทรเจดีย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงกันข้ามกับศาลากลางจังหวัด แต่เดิมพระเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนเกาะกลางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท้ายป้อมผีเสื้อสมุทร ต่อมาชายตลิ่งฝั่งขวาของแม่น้ำตื้นเขินงอกออกมาเชื่อมติดกับเกาะอันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ ปัจจุบันจึงไม่มีสภาพเป็นเกาะอีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์นี้ขึ้น แต่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อเป็นพระเจดีย์สูง ๒๐ เมตร ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปทรงพระเจดีย์แล้วก่อให้สูงขึ้นอีกเป็น ๓๘ เมตร ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระชัยวัฒน์ และพระปางห้ามสมุทร สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๒๔๒๕ ๘๘๙๘
การเดินทาง จากสามแยกพระประแดงใช้เส้นทางถนนสุขสวัสดิ์ (ทางหลวงหมายเลข ๓๐๓) ตรงไปทางอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ระยะทาง ๖ กิโลเมตร ถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์เลี้ยวซ้ายอีก ๑ กิโลเมตรก็จะถึงวัดพระสมุทรเจดีย์ นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศและแบบธรรมดาสาย ๒๐ (ป้อมพระจุลจอมเกล้า-ท่าน้ำท่าดินแดง) ลงที่สามแยกพระสมุทรเจดีย์แล้วต่อรถรับจ้างไปถึงวัดได้
พาราไดซ์ บางขุนเทียน ตั้งอยู่ที่ ๙๐/๑ ตำบลคลองสวน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ บริเวณรอยต่อ ๓ จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการและสมุทรสาคร เป็นสถานที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวบ้านริมทะเล เช่น การเลี้ยงปูทะเล หอยแครง นักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การตกปู โดยใช้ไม้ไผ่แหย่รูปู การดักปู การมัดปู การงมหอยแครง หอยแมลงภู่ การหาหอยนางรม การตกปลา และกิจกรรมขี่จักรยาน นั่งเรือสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านตำบล บ้านคลองสวน ตลาดขายส่ง เนื่องจากพื้นที่ด้านหลังติดกับคลองผู้เฒ่า ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลกรุงเทพฯ บางขุนเทียน สามารถนั่งเรือไปเที่ยวทะเลกรุงเทพฯ ได้ในเวลา ๕ นาที และเดินเที่ยวป่าโกงกางของบางขุนเทียนได้ การเที่ยวชมจะจัดเป็นแพ็กเกจทัวร์ ๑ วัน หรือ ๒ วัน ๑ คืน มีสถานที่พัก สามารถติดต่อได้ที่ โทร. ๐๘ ๑๔๒๕ ๙๖๘๖ หรือ ๐ ๒๕๔๑ ๙๕๐๘-๙
การเดินทาง แยกจากถนนพระราม ๒ ไปตามถนนเทียนทะเล (ทางไปทะเลกรุงเทพฯ) ๑๓ กิโลเมตรและแยกซ้ายเข้าซอยเทียนทะเล ๒๕ อีก ๗ กิโลเมตร