ไร่ สวน แปลง ฟาร์ม เหตุใดจึงงามที่วังน้ำเขียว
อุณหภูมิเฉลี่ยหน้าร้อน 20-35 องศาเซลเซียส หน้าหนาว 9-11 องศาเซลเซียส ของอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ขนาบด้วยอุทยานแห่งชาติทับลาน และ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในหน้าร้อนเดือนพฤาภาคมได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หอบหิ้วความชุม่ชื้นจากอ่าวไทยและทะเลอันดามันมาสู่วังน้ำเขียว ทำให้ในขณะที่ทางภาคเหนือกำลังร้อนระอุ และเผชิญกับไฟป่าเป็นหย่อมๆ พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวกลับยังคงมีอากาศดีในตอนกลางวัน และค่อนไปทางเย็นๆ ในตอนกลางคืน ชนิดที่ต้องหยิบเสื้อกันหนาวบางๆ มาสวมใส่
มายาคติของคำว่า “แหล่งโอโซนอันดับ 7 ของโลก” ทำให้วังน้ำเขียว ขายได้ในเชิงท่องเที่ยว และถ้ามองลึกลงไปก็คล้ายกลยุทธ์ปั่นราคาซื้อขายที่ดิน หรือแท้จริงก็แค่คำพูดเพลิน ๆ แต่บังเอิญไปสะดุดหู เลยใช้กันต่อๆ มาในนัยยะเปรียบเปรยพื้นที่อากาศดีมากๆ โดยเที่ยบอย่างง่ายเอาจากตัวย่อของออกซิเจน คือ O2 แต่โอโซนนี่ตัวย่อคือ O3 มีออกซิเจนตั้ง 3 อะตอมก็เลยเออออว่าที่ไหนมีออกซิเจนหลายอะตอม ที่นั่นต้องอากาศดีเป็นแน่
ส่วนที่อ้างการค้นพบเฟิร์นชนิดหนึ่งที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช แหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นเฟิร์นที่ขึ้นเฉพาะบริเวณที่มีอากาศดี ก็ไม่อาจนำมาเหมารวมกับพื้นที่วังน้ำเขียวทั้งหมดได้ เพราะสถานีวิจัยฯ อยู่ห่างไปหลายสิบกิโลเมตร ทั้งยังเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์แตกต่างกับพื้นที่เขาหัวโล้นที่รีสอร์ตกระจุกตัวกันอยู่
แท้จริงแล้วโอโซนที่มีประโยชน์อยู่สูงขึ้นไปจากพื้นดินราว 20 กิโลเมตร ในบรรยากาศชั้นสตราโดสเฟียร์ เป็นเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต แต่หากโอโซนเข้าไกล้พื้นดิน จะกลายเป็นก๊าซอันตรายจนทำให้แสบจมูก แสบตา ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งในที่จราจรติดขัดและที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ถึงตรงนี้จะใช้คำว่ามาสูดโอโซนที่วังน้ำเขียว ก็คงจะผิดถนัด
วังน้ำเขียวมีน้ำใช้เพียงพอทั้งปี บวกกับเป็นพื้นที่ดินดีมีแร่ธาตุมาโดยตลอด ต่อเมื่อมีการปลูกพืชเชิงเดี่ยวดตเร็วพวกมันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย ทำให้ดินเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว จนต้องขยายพื้นที่ทำกินไปยังแหล่งใหม่เรื่อยๆ และขายสิทธิ์แปลงเก่าให้กับนักธุรกิจมาสร้างที่พัก เกิดปัญหากรณีทั้บซ้อนยืดเยื้อมาจนปัจจุบัน
ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านบางกลุ่มหันมาปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ผลตอบแทนสูง และเติบโตได้ดีที่วังน้ำเขียว เช่น องุ่น ผักออร์แกนิก เห็ด ดอกเบญจมาศ ดอกหน้าวัว พุทราน้ำนม มะม่วงน้ำดอกไม้
พืชพรรณเหล่านี้ไม่ได้ดึงดูดเม็ดเงินจากการเกษตรอย่างเดียว แต่มีศักยภาพเป็นแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยวอย่างน่าทึ่ง บวกกับนักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักการท่องเที่ยวเชิงเกษตรมากขึ้น แปลงเกษตรหลายแห่งในวังน้ำเขียวจึงปรับโฉม เปิดให้เข้าเรียนรู้กระบวนการปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์
วิธีการกินผักให้อร่อย คือ เดินไปที่แปลง นั่งดูให้รู้ว่าคนปลูกใส่ใจแค่ไหน ลองชิมดูใหม่ แล้วค่อยซื้อ
วังน้ำเขียวฟาร์ม ตำนาน Mister Mushroom
เกิดมาก็รู้จักแค่เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดหูหนู เห็ดหอมแห้งจากเมืองจีนที่ใส่ในแกงจืดเต้าหู้หมูสับ และเพิ่งรู้จักเห็ดออรินจิก็ช่วงที่กระแสเห็ดย่างน้ำจิ้มซีฟู้ดมาแรง นอกนั้นชีวิตก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นกับเห็ดเลย
จนมารู้จักวังน้ำเขียวฟาร์ม ที่บ้านสุขสมบูรณ์ของ คุณวีระ คุณพนิตนาฏ ภัทรอานันท์ สามีภรรยาที่มาตกหลุมรักบรรยากาศวังน้ำเขียวคราวมาเที่ยวพัผ่อน บวกกับในขณะนั้นประกอบอาชีพค้าขายโทรศัพท์รายใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ และมองเห็นว่าธุรกิจขายโทรศัพท์อาจแย่เข้าสักวัน เมื่อจีนเริ่มผลิตของถูกออกมาตีตลาด คิดไปคิดมาจนพบอาชีพที่จีนลอกเลียนแบบได้ยาก คือเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว
ไอเดียฟาร์มเห็ดเกิดขึ้นเมื่อคุณพนิตนาฏได้ลองกินเห็ดหอมของชาวบ้านวังน้ำเขียวแล้วติดใจในรสชาติ จึงเริ่มสร้างโรงเรือน 1 หลัง ปลูกเห็ดหอมไว้กินเอง เมื่อมีคนมาขอซื้อบ่อยเข้า จึงตัดสินใจลงทุนสร้างโรงเรือนขึ้นมากกว่า 30 โรง กลายเป็นฟาร์มเห็ดปรับอากาศที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน
แบ่งโซนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เรียนรู้กระบวนการผลิตเห็ดตั้งแต่การเพาะเชื้อ การขยายเชื้อ การทำก้อนเชื้อ การนึ่งก้อนเชื้อ การบ่ม การเปิดดอก ไปจนถึงการเก็บดอกเห็ด มีเห็ดหลายสายพันธุ์ให้ชมพร้อมเจ้าหน้าที่บรรยาย ที่สำคัญทางฟาร์มจะสลับช่วงเปิดดอก เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าชมดอกเห็ดได้ตลอดปี
เห็ดที่ทำให้ฉันหยุดพิจารณาอยู่พักใหญ่ คือ เห็ดหัวลิง ชื่อนี้ไม่คุ้นหู แต่ถ้าเรียกว่าเห้ดยามาบูชิตาเกาะ ก็คงร้องอ๋อขึ้นมาบ้าง จินตนาการถึงหัวลิง แต่สีขาวโพลน ขนนุ่มๆ โผล่ออกมาจากถุงก้อนเชื้อ เรียงตะปุ่มตะป่ำเต็มห้อง หรือมองอีกทีก็คล้ายพู่มาลาของทหารไม่ผิดเพี้ยน
เห็ดหัวลิงเดินทางจากจีนเข้ามาไทยครั้งแรกที่อำเภอสลอง จังหวัดเชียงราย นำมาใช้ประโยชน์ทางยา รักษาพวกโรคกระเพาะ แต่ที่นี่นำมาแปรรูปหลากหลาย ตั้งแต่ขายแบบตากแห้งไว้ทำยา ไปจนแปรรูปเป็นไอศกรีมเห็ดที่อร่อยเต็มเนื้อเห็ดยามาบูชิตาเกะ
เห็ดอีกอย่างที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือ เห็ดหลินจือ ดอกเห็ดคล้ายคุกกี้ ช็อกโกแลตแผ่นกลม โรยหน้าด้วยผาโกโก้ หลังเจ้าหน้าที่อนุญาตให้สัมผัสดอดเห็ดได้ ฉันตั้งใจใช้นิ้วปาดไปปาดมา พอหงายมือขึ้นดูปรากฏว่า นี่คือการค้นพบอายแชโดว์ ครีมทาเปลือกตาสีน้ำตาลเข้าเทรนด์สโมกกี้อายแบบติดทนนานเข้าแล้วสินะ
เจ้าหน้าที่บอกว่า ผงฝุ่นๆ ที่ติดนิ้วมาคือสปอร์ของเห็ด ราคากิโลกรัมละ 15,000-30,000 บาท คงเป็นฝุ่นที่แพงที่สุดในโลกแน่ เชื่อกันว่าสปอร์เห็ดหลินจือมีสรรพคุณทางยา รักษาโรคมะเร็งได้
ที่นี่ยังมีเห็ดแปลกๆ อีกมากกว่า 12 สายพันธุ์ เช่น เห็ดนางนวล เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมดอย เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งแปรรูปเห็ดในแบรนด์ Mister Mushroom ที่มีสินค้าให้เลือกซื้อกว่า 20 รายการ เช่น เห็ดสวรรค์ เห็ดสามรส น้ำหลัดเห็ด น้ำปลาเห็ด ฯลฯ ลำบากตรงที่พวกแปรรูปสดหากกินแล้วติดใจ ไม่สามารถหาซื้อได้จากที่อื่น เพราะลำพังแค่ขายที่ฟาร์มก็ไม่เพียงพอแล้ว
จุดเด่นของ Mister Mushroom คือไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ใส่ผงชูรส และทำสดใหม่ทุกวัน เพราะตั้งใจย้ำชัดเรื่องผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ที่สำคัญเป็นสูตรที่คุณพนินาฏคิดขึ้นมาใหม่ทุกตัว เพราะยังไม่เคยมีใครทำธุรกิจเห็ดแบบครบวงจรตั้งแต่ปลูกจนตั้งแต่ปลูกจนตั้งแต่ปลูกจนแปรรูปขายเช่นนี้มาก่อน
คุณวีระพูดไว้น่าสนใจว่า “เกษตรกรควรศึกษาให้ดีว่าเราอยู่รอดได้ เพราะขายเห็ดสดอย่างเดียวจริงหรือ”
สวนวิภา จากสวนเบญจมาศ สู่ศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน
หากมาวังน้ำเขียวในช่วงหน้าหนาว จะพบเบญจมาศบานหลากสีในบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี (อบต. ไทยสามัคคี) เพราะเป็นช่วงเทศกาลเบญจมาศบานในม่านหมอก ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปี่ 12 แล้ว
เบญจามาศเริ่มเข้ามาในอำเภอวังน้ำเขียว เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรต้องการลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวพวกมันสำปะหลัง ข้าวโพด โดยนำต้นเบญจมาศและลิลีเข้ามาส่งเสริม ปรากฏว่าเบญจมาศโตเร็วและผลิตง่ายกว่า ในปี 2538 มีสมาชิกรวมตัวตั้งกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับอำเภอวังน้ำเขียว ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ แล้วขยายเป็นกลุ่มผู้ปลูกเบญจมาศตำบลไทยสามัคคี แม้ปัจจุบันจะไม่มีกลุ่มชัดเจน เพราะต่างคนต่างมีตลาดของตัวเอง แต่ในเรื่องการท่องเที่ยวทุกส่วนเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันเพื่อสลับรับนักท่องเที่ยว
ลักษณะเด่นของดอกเบญจมาศอำเภอวังน้ำเขียว คือ ดอกอยู่ทนฟอร์มดอกสวย ขนส่งได้รวดเร็ว และได้ราคาแพงกว่าเบญจมาศจากภาคเหนือ
พี่วิภา จันทร์คุ้ม ชาวสวนเบญจมาศรุ่นแรกที่วางมือจากการเข้าสวน เพราะลูกเรียนจบหมดแล้ว ผันตัวเองมาจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน สวนเบญจมาศวิภา บ้านบุไทร ตำบลไทยสามัคคี เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างนักท่องเที่ยวที่ต้องการเรียนรู้วิถึชาวบ้าน กับชาวบ้านที่ต้องการบริการนักท่องเที่ยวเป็นรายได้เสริม
คืนนี้พี่วิภาส่งเราไปนอนโฮมสเตย์ของยายไร่ ไม่ไกลจากศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน สวนเบญจมาศวิภา การเลือกบ้านพักจะหมุนเวียนกันไปให้สมาชิกทุกคน ยกเว้นแต่นักท่องเที่ยวระบุมาว่าอยากพักกับใครเป็นพิเศษ หรืออยากพักแบบไหนเป็นพิเศษ เช่น พักกับชาวบ้าน พักบ้านพักส่วนตัว พักรวมเป็นหมู่คณะ ทางศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน สวนเบญจมาศวิภา จะจัดให้
แว้บแรกที่เห็นบ้านยายไร่ ค่อนข้างตกใจ เพราะหลังใหญ่ราวคฤหาสน์ ยายบอกว่าลูกชายช่วยกันส่งเงินจากกรุงเทพฯ มาสร้างให้ยายพาเดินสำรวจทั่วบริเวณบ้าน ก่อนส่งยิ้มหวานบอกว่า ที่จริงหลังนี้มันใหญ่ไปโน่น ยายชอบนอนหลังนั้น พร้อมชี้ไปที่บ้านไม้ยกพื้น ทรงกะทัดรัดที่อยู่ถัดไป
ข้อได้เปรียบของการพักโฮมสเตย์คือ เราได้ใกล้ชิดแหล่งข้อมูลตัวเป็นๆ แบบทั้งวันทั้งคืน ดีเสียยิ่งกว่าจ้างไกด์ในบางกรณีด้วยซ้ำ ได้สัมผัสวิถีชีวิตจริง ที่แค่เคยอ่านในหนังสือหรือค้นจากอินเทอร์เน็ต แล้วมีเวลาให้ตรวจสอบและทบทวนความรู้สึกนานพอที่จะสร้างเรื่องใหม่ของตัวเอง ที่สำคัญวันกลับเราจะได้ญาติเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คน
ช่วงหลังการพักโฮมสเตยืที่วังน้ำเขียวกระแสดีกว่าการพักรีสอร์ต เพราะโฉมสเตยืไม่ได้ขายสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเดียว แต่ขายวิถีร่วมด้วย จนมีรีสอร์ตหลายแหล่งกลายเป้นพันธมิตรกับชาวบ้าน ยอมหั่นราคาต่ำกว่ามาจองเองกับรีสอร์ต หากนักท่องเที่ยวจองผ่านศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน สวนเบญจมาศวิภา เรียกว่าได้ประโยขน์กันทั้งสองฝ่าย
เข้านี้พี่วิภาพาเราไปที่สวนเบญจมาศป้าสมจิตร เหตุที่เป็นสวนป้าสมจิตร หลัง อบต. ไทยสามัคคี ไม่มีตรรกะซับซ้อน เนื่องจากการปลูกเบญจมาศต้องมีเวลาพักดินอย่างน้อย 15 วัน ถึง 1 เดือน แล้วเวลานี้สวนอื่นกำลังพักดิน แต่สวนป้าสมจิตรดอกกำลังงาม
เช่นนี้หากไปสุ่มสี่สุ่มห้าช่วงนอกเทศกาล อาจผิดหวังกลับบ้านได้แนะนำให้ติดต่อผ่านทางศูนย์เรียนรู้การจัดการท่องเที่ยวชุมชน สวนเบญจมาศวิภา ชาวบ้านจะพาเราไปยังแปลงที่กำลังออกดอกอย่างแม่นยำ
ประเภทของเบญจมาศในวงการตลาดดอกไม้มีชื่อเรียกเก๋ไก๋ว่ามัมและเบญ อย่าเผลอไปถามหาเบญจมาศดอกเดี่ยวดอกช่อแถวปากคลองตลาดเชียวละ แม่ค้าอาจงงได้ แต่ถ้าอยากได้ดอกช่อให้ถามหามัมดอกเดี่ยวถามหาเบญ รับรองได้ดอกตามต้องการแน่ สียอดนิยมคือ เหลืองและขาว เวลาส่งขายเป็นกิโลกรัมต้องมีอัตราส่วนของสีขาวและเหลืองร้อยละ 50 จึงค่อยแซมด้วยสีอื่น
ส่วนประเภทเบญจมาศจริงๆ แยกได้จากหลายลักษณะ ทั้งการใช้งาน การตอบสนองช่วงความยาวแสง แต่ถ้าให้ง่ายก็แยกตามรูปทรงดอกที่เห็น เช่น พวกซิงเกิล คือพวกมีกลีบดอกชั้นเดียวคล้ายดอกเดซี พวกปิมปอน ดอกกลมคล้ายปิงปอง พวกสไปเดอร์ กลีบเรียบยาวคล้ายขาแมงมุม เป็นต้น พันธุ์ที่ปลูกในอำเภอวังน้ำเขียวมีมากกว่า 40 สายพันธ์
เข้าสวนเมื่อไหร่ ระวังเราจะกลายเป็นพาหะนำโรคไปติดต้นเบญจมาศ โดยเฉพาะเพลี้ยไฟที่ไข่อาจเกาะติดไปตามเสื้อผ้า จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเวลาเที่ยวสวนเบญจมาศจึงควรเที่ยวสวนไหนสวนนั้น ไม่ควรไปหลายที่ แม้เจ้าของจะเต็มใจขนาดไหนก็ตาม เพราะหากติดโรคขึ้นมาเมื่อไหร่ พังกันไปทั้งสวนแน่
อ่านต่อ วังน้ำเขียว ท่องเที่ยว ไร่ สวน แปลง ฟาร์ม(ช่วงที่ 2)