สวนนกชัยนาท ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพลอง หมู่ ๔ ตำบลเขาท่าพระ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ บนพื้นที่ ๒๔๘ ไร่ ๑๓ ตารางวา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและอนุรักษ์นก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสวนนกชัยนาทได้มีการพัฒนาด้านต่างๆ ทำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจของชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีกรงนกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย ครอบคลุมพื้นที่ ๒๖ ไร่ และปล่อยให้นกต่างๆ ได้อยู่อย่างอิสระ มีน้ำตกจำลอง สวนหย่อม และสวนสัตว์ ภายในสวนนกยังมีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้
อาคารศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจาก ๘ อำเภอของจังหวัดชัยนาท และจัดทำเป็นนิทรรศการ พร้อมนำเสนอผ่าน วีดีทัศน์บนเรือจำลองที่มีบรรยากาศสมจริง นักท่องเที่ยวสามารถค้นหา ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างครบวงจร
อาคารสถานแสดงพันธุ์ปลาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแหล่งรวบรวมปลาน้ำจืด พันธุ์ต่าง ๆ มากกว่า ๙๐ ชนิด มีปลาหายากหรือเกือบสูญพันธุ์ ปลาเศรษฐกิจ ปลาอันตราย เช่น ปลาเสือตอ ปลาตองลาย ปลาเสือสุมาตรา ปลากดหิน เป็นต้น นักท่อเที่ยวจะได้ตื่นตาในอุโมงค์แก้วใต้น้ำ พบกับปลาบึกซึ่งเป็นปลาน้ำจืดสายพันธุ์ยักษ์ที่ ได้ชื่อว่า “ฉลามน้ำจืด” ชมนิทรรศการวิถีประมงไทย เรือจำลอง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น.
ศูนย์วิทยาศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาเป็นการเปิดประตูสู่โลกแห่งการเรียนรู้ เชิงวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระบรม ฉายาลักษณ์ และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งท่านได้รับการยกย่องจากประชาคมดาราศาสาตร์ ในระดับสากลว่าเป็น “King of Siam Eclipse” ด้วยการกล่าวถึงสุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ มาจัดนิทรรศการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ท้องฟ้าจำลอง มีห้องฉายดาวบรรจุได้ ๔๐ ที่นั่ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน วันละ ๖ รอบ เวลา ๐๙.๐๐, ๑๐.๐๐, ๑๑.๐๐, ๑๓.๐๐, ๑๔.๐๐, ๑๕.๐๐ น.
อาคารพิพิธภัณฑ์ไข่นก (Eggs Museum) เป็นอาคารที่รวบรวมไข่นกสายพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่หายาก ใกล้สูญพันธุ์ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ให้ได้เรียนรู้อย่างครบวงจร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐- ๑๗.๐๐ น.
อาคารศูนย์ OTOP เป็นแหล่งแสดงสินค้าและจำาหน่ายผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ระดับ ๕ ดาว มีให้เลือกซื้อเป็นของฝากมากมาย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถนั่งรถรางชมบริเวณโดยรอบ เพื่อสัมผัสกับบรรยากาศในสวนนก และน้ำตกจำลองที่เป็นสถานที่พักผ่อนของนักท่องเที่ยว มีมุมน้ำตกต่างระดับชั้น ซึ่งจะเปิดให้ชมในเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๑.๓๐ น. และในวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๔.๓๐ น. ในสวนนกมีร้านอาหาร ร้านกาแฟสด และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ไว้บริการ สวนนกชัยนาท เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. อัตราค่าเข้าชมชาวไทย ผู้ใหญ่ ๓๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ ๑๐๐ บาท เด็ก ๕๐ บาท (ค่าเข้าชมดังกล่าวสามารถเข้าชมในสวนนกได้ทุกอาคาร) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวนนกชัยนาท โทร. ๐ ๕๖๔๗ ๖๖๒๔ หรือ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท โทร. ๐ ๕๖๔๗ ๖๖๑๗
การเดินทาง สวนนกชัยนาทตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข ๑) ก่อนถึงตัวเมือง ๔ กิโลเมตร เดินทางจากกรุงเทพมหานครไปตามทางหลวงหมายเลข ๓๒ ถึงสี่แยกถนนสายเอเชีย ช่วงชัยนาท-ตาคลี เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๑ ระยะทาง ๗ กิโลเมตร สวนนกชัยนาทจะอยู่ทางขวามือ
วัดปฐมเทศนาอรัญวาสี (วัดเขาพลอง) ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยนาท สร้างโดย หลวงพ่อชื้นและบรรดาผู้ปฏิบัติธรรมสายหลวงพ่อกบและหลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อชื้นเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและใจบุญใจกุศล ระหว่างครองเพศบรรพชิต หลวงพ่อชื้นได้รวบรวมปัจจัยจากผู้ศรัทธาหาทุนทรัพย์ เพื่อพัฒนาวัดเขาพลองอย่างต่อเนื่องจนเจริญรุ่งเรืองสืบมา บริเวณไหล่เขาเป็นที่ตั้งของสำนักปฎิบัติธรรมและเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธอริยธัมโม” พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ศิลปะสุโขทัยงดงามมาก บนยอดเขา รถยนต์สามารถขึ้นถึงได้ เป็นที่ประดิษฐานเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ขนาดใหญ่สีทองอร่ามและเป็นจุดชมทิวทัศน์เมืองชัยนาทที่สวยงาม ทั้งในเวลากลางวันและยามค่ำคืน ภายในพระอุโบสถบนยอดเขา มีรูปปั้น เกจิอาจารย์ชื่อดัง 3 องค์ คือ หลวงพ่อชื้น หลวงพ่อกบและหลวงพ่อโอภาสี
วัดธรรมามูลวรวิหาร ตั้งอยู่บนไหล่เขาธรรมามูลริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชา กษัตริย์แห่งราชวงค์สุโขทัยทรงสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๒๐ และได้มีการบูรณะในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าวัดธรรมามูลได้นำไปใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย สิ่งสำคัญภายในวัด คือ หลวงพ่อธรรมจักร เป็นศิลปะประยุกต์ของช่างสมัยเชียงแสนตอนปลายถึงสุโขทัยตอนต้นผสมกับสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติประทับยืนบนฐานดอกบัว พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ สูง ๔.๕๐ เมตร กลางฝ่า
พระหัตถ์มีรอย “ธรรมจักร” ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ นิ้ว ตามตำนานเล่าว่า มีผู้พบพระพุทธรูปลอยตามแม่น้ำเจ้าพระยามาถึงบริเวณหน้าวัดธรรมามูลวรวิหาร และได้ลอยวนเวียนอยู่บริเวณหน้าวัด พระภิกษุและชาวบ้านจึงได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานที่วัดจนถึงปัจจุบัน ลักษณะวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักรอยู่ในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งออกเป็นสองส่วน ทางด้านหน้าวิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อธรรมจักร วิหารชั้นในเป็นห้องโถงยาว บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปประธานองค์ใหญ่สลักด้วยศิลา และพระพุทธรูปศิลาอื่น ๆ ขนาดเล็กเรียงรายอยู่ ซึ่งเดิมนั้นอยู่ในส่วนวิหารชั้นนอก ด้านขวาของหลวงพ่อธรรมจักรมีพระพุทธรูปศิลาปิดทอง และพระพุทธบาทศิลาลวดลายเทียบได้กับสมัยอยุธยา และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ใบเสมา เป็นเสมาคู่สลักด้วยศิลาทรายสีแดง มีลายกระหนกประกอบ สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในปลายสมัยอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ เพราะในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองนิยมสร้างวัตถุด้วยศิลาทรายแดง และเนื่องจากเป็นเสมาคู่จึงถือว่าเป็นวัดที่กษัตริย์สร้างขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาสักการะหลวงพ่อธรรมจักร ถึง ๓ ครั้ง เมื่อ ร.ศ.๑๒๐, ๑๒๕ และ ๑๒๗ ในการที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมานั้น สันนิษฐานว่า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ตามเสด็จมาด้วย โดยพบแผ่นจารึกหินอ่อนที่ด้านบนเสาต้นกลางของซุ้มบันไดที่ติดกับลานพระวิหาร หลวงพ่อธรรมจักร จารึกเกี่ยวกับวัน เดือน ปี และบุคคลที่บริจาค โดยปรากฏเป็นพระนามแรก ทรงบริจาคเงินจำนวน ๒๐๐ บาท บุคคลที่สำคัญอีกท่านหนึ่งที่ได้ตามเสด็จมานมัสการ คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีการจัดงานประเพณีนมัสการปิดทองหลวงพ่อธรรมจักรเป็นงาน ประจำปี กำหนดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง คือ ในเดือน ๖ ระหว่างขึ้น ๔-๘ ค่ำ และ เดือน ๑๑ ระหว่าง แรม ๔-๘ ค่ำ รวมครั้งละ ๕ วัน ๕ คืน และในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันออกพรรษามีการจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวขึ้น เป็นประจำทุกปี สอบถามข้อมูลได้ที่ วัดธรรมามูลวรวิหาร หมู่ ๑ ตำบล ธรรมามูล โทร. ๐ ๕๖๔๑ ๔๘๕๖, ๐๘ ๙๒๖๙ ๑๓๘๕
การเดินทาง ไปวัดธรรมามูลวรวิหาร ทางรถยนต์ใช้เส้นทางถนนพหลโยธินสายเก่า (ชัยนาท-นครสวรรค์) เลยสี่แยกแขวงการทางชัยนาท ๘ กิโลเมตร ระหว่างกิโลเมตรที่ ๒๘๘-๒๘๙ จะมองเห็นเขาธรรมามูลอยู่ทางซ้ายมือเลี้ยวซ้ายไปตามถนนอีก ๑.๕ กิโลเมตร หรือเดินทางโดยรถประจำทางสาย ๑๐๖๔ ชัยนาท-มโนรมย์ สาย ๑๑๒ นครสวรรค์-ชัยนาท สาย ๙๐๓ กรุงเทพ-อุทัยธานี สาย ๑๐๖๕ ชัยนาท-วัดสิงห์ และสาย ๑๙ กรุงเทพ-วัดสิงห์
วัดพระบรมธาตุวรวิหาร เดิมมีนามว่า “วัดพระธาตุ” หรือ “วัดหัวเมือง” สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจอยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในองค์พระเจดีย์เป็นที่สำคัญ ครั้นสมัยสุโขทัย ในรัชกาลที่ ๔ ตรงกับสมัยพระเจ้าลิไท ได้ทรงจัดการบำรุงและสมโภชพระบรมธาตุ ในสมัยอยุธยาในรัชกาลที่ ๑๖ พระมหาจักรพรรดิ์ เมื่อคราวข้าศึกมารุกรานบ้านเมืองประชาชนเกิดการระส่ำระสาย วัดจึงถูกทอดทิ้งขาดการทำนุบำรุงจึงได้ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จนถึงพ.ศ. ๒๒๖๐ ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ รัชกาลที่ ๓๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์บรมธาตุโดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระเถระผู้ใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๑๐ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร นับตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ มีพระประธานในอุโบสถปางมารวิชัย ในพระวิหาร มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร พระประจำวันและอื่นๆ วัดพระบรมธาตุวรวิหารเป็นสถานที่ประกอบพิธีพุทธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ และน้ำหน้าวัดบรมธาตุได้นำไปใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาด้วย ภายในวัดมีโบราณสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญ ดังนี้
เจดีย์พระบรมธาตุ องค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่มีตำนานกล่าวว่า องค์พระเจดีย์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกษัตริย์แห่งอินเดีย ได้ให้พระสงฆ์มาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยโดยผ่านมาทางสุวรรณภูมินครปฐมจนถึงเมืองชัยนาทและได้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่เหมาะสมจึงได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าส่วนหนึ่งไว้ องค์เจดีย์เป็นทรงกลมตั้งอยู่บนฐาน สี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งต่อมุมไปรองรับใต้องค์ระฆัง มีซุ้มจระนำเล็ก ๆ ทั้ง ๔ ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปรางค์นาคปรกทั้ง ๔ ทิศ หน้าบันของ ซุ้มจระนำมีสองชั้นซ้อนกัน มีปูนปั้นประดับเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานบัวหงาย ๔ กลีบ อยู่ตรงกลาง หน้าตักกว้าง ๒๓ เซนติเมตร สูงจากฐานจรดพระเศียร ๓๑ เซนติเมตร ทรงจีวรแบบห่มตอง หรือห่มเฉียง ผ้าสังฆาฏิพาดลงมาเกือบถึงฝ่าพระบาท ลักษณะของพระเศียรและพระพักตร์มีเค้าของศิลปลพบุรีหรืออู่ทอง ระหว่างซุ้มจระนำมีผนังทำเป็นมุมเหลี่ยมขึ้นไปรองรับองค์ระฆัง และเหนือมุมระหว่างหน้าบันของ ซุ้มจระนำยังทำเป็นเจดีย์ขนาดเล็กมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปอีกหลายองค์ เรียงรายอยู่โดยรอบ จากนั้นมีองค์ระฆังทรงกลมรองรับปลีย่อส่วนบนสุด ลักษณะเป็นโลกประดับทำนองเป็นฉัตรประดับอีกต่อหนึ่ง จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอู่ทอง (อยุธยาตอนต้น) ที่นิยมใช้เจดีย์เล็กๆ ประดับ
พระวิหารเก้าห้อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกติดกับเจดีย์พระบรมธาตุ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดกว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สันนิษฐานว่า พระมหาธรรมราชาลิไททรงสร้างพร้อมกับเจดีย์พระบรมธาตุ ภายในวิหาร มีบ่อน้ำพระพุทธมนต์มีน้ำออกมาตามธรรมชาติ อายุ ๗๐๐ กว่าปี และได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หน่วยราชการจะทำพิธีใด ๆ ต้องให้พราหมณ์ มาบวงสรวงที่บ่อน้ำมนต์แห่งนี้ พระอุโบสถ ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๒๔ เมตร อยู่ทางด้านใต้ติดกับพระวิหาร เชื่อว่าสร้างพร้อมกับพระวิหาร มีการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ลักษณะพุทธศิลป์เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบสรรคบุรี โดยเฉพาะ รอบนอกอุโบสถมีใบเสมาสลักด้วยหินทรายเป็นศิลปกรรมแบบอยุธยาปรากฏอยู่
วัดพระบรมธาตุวรวิหารได้ดำหนดจัดให้มีงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุในช่วงเดือนเมษาของทุกปี มีการสรงน้ำพระบรมธาตุ และการห่มผ้าพระบรมธาตุ ซึ่งถือเป็นงานประเพณีของชาวชัยนาท สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. ๐ ๕๖๔๒ ๖๔๑๖, ๐๘ ๙๙๐๖ ๘๑๐๓
การเดินทาง วัดพระบรมธาตุอยู่ห่างจากตัวเมือง ๔ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๐ จนถึงสี่แยกตัดกับทางหลวงหมายเลข ๓๑๘๓ เลี้ยวซ้าย ๑ กิโลเมตร หรือรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-วัดสิงห์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชัยนาทมุนี ก่อตั้งขึ้นด้วยความสนใจของพระชัยนาทมุนี (นวม สุทัตฺโต) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชัยนาทและอดีตเจ้าอาวาสวัดบรมธาตุวรวิหาร ซึ่งได้รวบรวมเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียงไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนมาก และมอบให้เป็นสมบัติของชาติ กรมศิลปากรจึงได้จัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขึ้นบริเวณใกล้กับวัดพระบรมธาตุวรวิหาร แบ่งการจัดแสดงออก เป็น ๒ ส่วน
ชั้นล่าง จัดแสดงเรื่องราวและโบราณวัตถุ ศิลปะและโบราณคดีที่ปรากฏในเขตจังหวัดชัยนาทและบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ เครื่องใช้และเครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์และทวาราวดี ประติมากรรมสมัยลพบุรี ศิลปะสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ และจีน
ชั้นบน จัดแสดงพระพิมพ์ศิลปะทวาราวดี ศรีวิชัย ลพบุรี สุโขทัย อยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ แม่พิมพ์พระพิมพ์ แผงพระพิมพ์ไม้ และพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ขนาดเล็ก โบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ชาวจังหวัดชัยนาท เรียกว่า “หลวงพ่อเพชร” ศิลปะแบบล้านนาอิทธิพลสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ พระพุทธรูปโบราณลักษณะนี้มีอยู่เพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย มีคุณค่าโดดเด่นทางด้านศิลปะและเชิงช่างที่เชี่ยวชาญด้านการหล่อโลหะ ประกอบด้วยสุนทรียะเฉพาะตัวที่น่ายกย่อง กล่าวได้ว่าเป็นโบราณวัตถุที่มี คุณค่าทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างยิ่ง
อาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เป็นการจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้การเกษตร วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนไทยในอดีตแสดงถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านที่คิดประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุธรรมชาติใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ค่าธรรมเนียมการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ชาวไทย ๑๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๕๐ บาท ยกเว้นค่าธรรมเนียมการเข้าชม นักเรียน นักศึกษา ภิกษุ สามเณร นักบวช สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. ๐ ๕๖๔๐ ๕๖๒๑ หรือ อีเมล: [email protected]
การเดินทำง ใช้เส้นทางเดียวกับวัดบรมธาตุวรวิหาร
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “Puey” Community Learning Centre มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนฯ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้นำในการก่อตั้งร่วมกับคณะบุคคลในราชการและธุรกิจเอกชน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะบูรณะและพัฒนาให้ชาวชนบทไทยมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เริ่มงานในยุคแรกด้วยการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน คือพัฒนาอาชีพ การศึกษา สุขอนามัย การพึ่งพาตนเองแบบร่วมมือกัน และเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการ ผลจากการดำเนินการดังกล่าว จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๑๒ ตลอดเวลาที่ผ่านมาการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ตั้งอยู่บนฐานของปรัชญาแห่งการทำงานพัฒนา คือ ผลประโยชน์ของชุมชนและการมีส่วนร่วมเป็นหลัก
ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีพื้นที่ว่า ๓๓ ไร่ เป็นแหล่งเผยแพร่แนวคิดและวิธีปฏิบัติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฯ และองค์ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ โดยได้ก่อสร้างอาคารต่าง ๆ เพื่อรองรับการจัดฝึกอบรม และกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ มีพื้นที่กว้างขวาง สะดวกสบาย เหมาะสำหรับจัดการเรียนการสอน และสันทนาการเพื่อเผยแพร่ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชน อีกทั้งจัดค่ายผู้นำเยาวชน ซึ่งต้องใช้พื้นที่กลางแจ้งเพื่อทำกิจกรรม เช่น วอล์กแรลลี่ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ฐานรับน้องใหม่ เป็นต้น ภายในศูนย์ยังมีบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติเหมาะกับการพักผ่อน ด้านหลังติดคลองธรรมชาติมองเห็นทุ่งนาข้าวและเขาพลอง มีลู่วิ่งสำหรับออกกำลังกายรอบ ๆ บ่อน้ำ ชมแปลงสาธิตการปลูกข้าว สวนผักปลอดสารเคมี เรือนสมุนไพร บ้านดิน จัดให้มีกิจกรรมค่ายวิถีพอเพียงสำหรับกลุ่มเยาวชนที่ต้องการเรียนรู้วิธีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โปรแกรม ๒-๗ วัน นักเรียน นักศึกษาชาวไทย และนานาชาติจะฝึกปฏิบัติการทำ เกษตรอินทรีย์ในแปลงสาธิต การทำนาโยน การเกี่ยว นวด สีข้าวด้วยมือ และปรุงอาหารในหม้อดิน รวมทั้งเดินทางไปทัศนศึกษาตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
บริการที่พัก เรือนนอนแบบพัดลม บ้านเดี่ยวปรับอากาศ บ้านดิน ที่พักรองรับได้ ๑๒๒ คน มีห้องประชุม สัมมนา ขนาด ๑๕๐-๓๕๐ ที่นั่ง จำนวน ๓ ห้อง มีบริการอาหารสุขภาพ ไขมันต่ำ สะอาด ปรุงสด ๆ ด้วยผักปลอดสารเคมี ข้าวกล้องสีเอง
ศูนย์ฯ ตั้งอยู่บนถนนฝายน้ำล้น เลขที่ ๖๔ หมู่ ๖ ฝายน้ำล้น ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง ๓ กม. ห่างจากเขื่อนเจ้าพระยา ๔ กม. ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. ๐ ๕๖๔๑ ๑๒๒๐ โทรสาร ๐ ๕๖๔๑ ๑๒๒๑ หรือ www.pueycentre.org