Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

เที่ยวอนุสาวรีย์ขุนสรรค์ วัดมหาธาตุ และที่เที่ยวในอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

อนุสาวรีย์ขุนสรรค์
อนุสาวรีย์ขุนสรรค์

อนุสาวรีย์ขุนสรรค์ ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ขุนสรรค์ “วีรบุรุษแห่งลุ่มแม่น้ำน้อย” เป็นหนึ่งในผู้นำชาวบ้านบางระจันที่ต่อสู้กับข้าศึกด้วยความกล้าหาญรบชนะถึง ๗ ครั้ง เป็นไทยอาสาป้องกันชาติคนแรกของอำเภอสรรคบุรี เมื่อ ๒๒๓ ปีก่อน อนุสาวรีย์มีขนาดสูง ๒.๕๐ เมตร ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๒๖ เป็นวันกระทำพิธีเปิดพร้อมงานสมโภช อำเภอ สรรคบุรีจึงกำหนดให้วันที่ ๑๙ มกราคม เป็นวันกระทำพิธีบวงสรวงดวงวิญญาณขุนสรรค์และได้จัดงานสมโภชเป็นประจำทุกปี

เมืองสรรคบุรี หรือ เมืองแพรก อยู่ในเขตตำบลแพรกศรีราชา เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าเดิมชื่อเมืองตรัยตรึงส์ ศิลปกรรมแบบอู่ทอง น่าจะสร้างก่อนเมืองชัยนาท และยังเคยเป็นเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัยคู่กันมากับเมืองชัยนาท ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรียกเมืองสรรคบุรีว่าเมืองแพรก และเรียกเมืองชัยนาทว่าเมืองชัยนาทบุรี ในปีพ.ศ. ๑๙๑๔ ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) กรุงศรีอยุธยาได้ยกกองทัพมายึดไว้ ทั้งสองเมืองนี้จึงตกอยู่ในราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา และได้เปลี่ยนชื่อเมืองแพรกเป็นเมืองสรรค์ตั้งแต่นั้นมาโดยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงคู่กับเมืองชัยนาท ผังของเมืองสรรค์เป็นผังที่ซับซ้อน แสดงถึงความเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ต่อเนื่องมาช้านาน บริเวณเมืองแบ่งออกเป็นสองตอน ตอนที่เป็นด้านเหนือเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างยาวด้านละ ๑,๔๐๐ เมตร ด้านนี้น่าจะเป็นเมืองแพรกเดิม ส่วนทางด้านใต้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๘๐๐ เมตร ยาว ๒,๒๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งของเมืองสรรค์ บริเวณด้านเหนือเหลือเจดีย์รูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่วัดโตนดหลายและเจดีย์วัดพระยาแพรก บริเวณด้านใต้เป็นที่ตั้งของวัดมหาธาตุและวัดสองพี่น้อง

วัดมหาธาตุ เดิมชื่อว่าวัดพระธาตุหรือวัดหัวเมือง เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คู่เมืองแพรกหรือเมืองสรรค์ ภายในวัดมีโบราณสถานที่น่าสนใจ ดังนี้วิหารวัดมหาธาตุ สภาพทั่วไปชำรุด คงปรากฏแต่เสาด้านหน้าเป็นรูปแปดเหลี่ยมแบบเสาวิหารในสมัยอยุธยา มีบัวหัวเสาเป็นบัวกลม มีทางขึ้นด้านหน้าทางเดียว ด้านหลังพระวิหารมีทางเดินเชื่อมกับระเบียงคดออกไปสู่ลานพระธาตุได้ มีพระพุทธรูปปูนปั้นเป็นพระประธาน ๑ องค์ เป็นลักษณะช่างสกุลเมืองสรรค์ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อใหญ่ อายุกว่า ๗๐๐ ปี หลวงพ่อพุทธมหาธาตุ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองสรรค์ อายุกว่า ๗๐๐ ปี ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ

หลวงพ่อหลักเมืองหรือหลวงพ่อหมอ เป็นพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่ อายุกว่า ๗๐๐ ปี ประดิษฐานคู่กับเสาหินหลักเมือง วิหารคตมีลักษณะแปลกคือหันพระพักตร์ไปทางด้านทิศตะวันตก เป็นที่เคารพสักการะแก่ประชาชนชาวสรรคบุรี

วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ

เสาหินหลักเมือง อยู่ด้านหลังหลวงพ่อหมอหรือหลวงพ่อหลักเมือง อยู่ระหว่างหลวงพ่อหลักเมืองและกำแพงวิหาร

หลวงพ่อทองดำเป็นพระพุทธรูปที่แกะด้วยหินทรายทั้งองค์ประดิษฐานในวิหารคู่มีอายุกว่าพันปีพระปรางค์กลีบมะเฟือง (พูมะเฟือง) เป็นพระปรางค์เก่าแก่ ในประเทศไทยมีอยู่สององค์คือ ที่เมืองสรรค์และลพบุรี สร้างด้วยอิฐถือปูน สูงประมาณ

๒๐ เมตร อยู่ด้านซ้ายของพระวิหาร เป็นศิลปะแบบลพบุรี ภายในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ซึ่งมีลักษณะเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะอยุธยา ยอดพระปรางค์ส่วนบนมีภาพสลักเป็นภาพเทพพนม นอกจากนี้แล้ว ภายในวัดมหาธาตุ ยังมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาสิ่งของโบราณต่าง ๆ มากมาย

การเดินทาง วัดมหาธาตุอยู่ห่างจากตัวเมือง ๒๐ กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข ๓๔๐ ถึงทางแยกเข้าอำเภอสรรคบุรี จากที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี บริเวณหอนาฬิกา เลี้ยวซ้ายไป ๕๐๐ เมตร รถประจำทางสาย ๖๐๔ (ชัยนาท-หูช้าง) สาย ๑๐๐๑๓ (ชัยนาท – สรรคบุรี) และสาย ๖๐๕ (วงกลมชัยนาท-สิงห์บุรี)

วัดพระยาแพรก ตั้งอยู่ติดกับวัดมหาธาตุ โบราณสถานที่เหลืออยู่ภายในวัด ได้แก่ เจดีย์ก่ออิฐถือปูนรูปแปดเหลี่ยมทรงสูงสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นเจดีย์ที่มีความงดงามมากองค์หนึ่งวัดสองพี่น้อง ตั้งอยู่เลยวัดมหาธาตุไป ๓๐๐ เมตร ตามประวัติกล่าวว่า เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม เป็นพี่น้องกัน เจ้าอ้ายและเจ้ายี่รบกันเพื่อแย่งราชสมบัติ เจ้าอ้ายและเจ้ายี่เสียชีวิตทั้งคู่ เจ้าสามจึงได้ครองเมืองและได้สร้างปรางค์แด่เจ้าอ้าย สร้างเจดีย์แด่เจ้ายี่ สันนิษฐานว่าสร้างก่อนกรุงศรีอยุธยา ๖๐๐ ปี ภายในวัดมีปรางค์ ๒ องค์ เป็นปรางค์สมัยลพบุรีองค์ใหญ่ด้านทิศตะวันออกค่อนข้างสมบูรณ์ มีลายปูนปั้นประดับสวยงาม

วัดโตนดหลาย อยู่ห่างจากวัดสองพี่น้อง ๓๐๐ เมตร มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หรือทรงดอกบัว เป็นศิลปะแบบสุโขทัย เจดีย์มีลักษณะทรงสูง ย่อมุมคล้ายกับพระปรางค์ตั้งอยู่บนฐานซ้อนเรียงกันเป็นชั้น พ้นจากฐานเป็นหน้ากระดานฐานบัวคว่ำบัวหงายรองรับแท่งสี่เหลี่ยมย่อมุมตรงกลาง ส่วนบนเป็นรูปกลมคล้ายระฆังกลม ส่วนองค์ระฆังทำเป็นกระพุ่มกลุ่มมีลักษณะคล้ายดอกบัวหลวง ส่วนล่างรอบกระพุ่มมีรูปกลีบขนุนของปรางค์ประดับอยู่ด้านหน้าของเจดีย์ ทางด้านทิศตะวันออกมีแนวฐานวิหารยื่นยาวออกไป พบรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่ทำด้วยปูนปั้น ทางทิศใต้ของวิหารมีเจดีย์ ก่อด้วยอิฐเรียงรายอยู่หลายแห่ง

วัดพระแก้ว
วัดพระแก้ว

วัดพระแก้ว เป็นวัดที่มีโบราณสถานสำคัญวัดหนึ่ง ตั้งอยู่หมู่ ๑๐ ตำบลแพรก ศรีราชา ห่างจากตัวเมือง ๒๓ กิโลเมตร ภายในวัดมีองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมแบบละโว้ทรงสูงผสมกับเจดีย์ทวาราวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลอดท้อง ไม้เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยผสมกับสมัยศรีวิชัย ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ นักโบราณคดีให้คำนิยามว่า “เป็นเจดีย์ที่สมบูรณ์และงดงามที่สุดในประเทศไทยเป็นราชินี แห่งเจดีย์ทั้งมวลในเอเชียอาคเนย์” บริเวณด้านหน้าเจดีย์มีวิหารหลวงพ่อฉาย ด้านหลังองค์หลวงพ่อฉายมี “ทับหลัง” แกะสลักติดอยู่ เป็นภาพจำหลักบนศิลาทรายเป็นรูปพระอิศวรทรงช้างเอราวัณอยู่ในซุ้มเรือนแก้วเป็นศิลปะขอมมีอายุกว่าพันปี สันนิษฐานว่าเมื่อขอมเสื่อมอำนาจลงได้มีผู้นำ โบราณวัตถุชิ้นนี้มาจากอาณาจักรขอมและนำแท่งศิลาทรายที่มีภาพจำหลักพระอิศวรทรงช้างเอราวัณมาแกะเป็นพระพุทธรูป แต่ได้หงายเศียรช้างเอางวงขึ้นด้านบนเพื่อจะบอกเป็นปริศนาธรรมว่า “ผู้ที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดเช่นพระพุทธองค์ จะต้องรู้จักปฏิบัติตนทวนกระแสแห่งโลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะพบความสุขในชีวิต” นับเป็นที่น่าอัศจรรย์หนึ่งเดียวในประเทศไทย

การเดินทาง  โดยรถประจำทาง จากสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ป.๑ ป.๒ สาย ๘ กรุงเทพฯ-ชัยนาท ลงที่สรรคบุรี หรือ ลงที่หน้าวัดพระแก้ว จากสถานีขนส่งสายใต้ รถประจำทางสาย กรุงเทพ-ท่าช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วต่อรถสาย สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ลงที่อำเภอสรรคบุรี หรือ รถประจำทางสาย กรุงเทพ-หันคา ลงที่อำเภอสรรคบุรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๕๖๔๒ ๔๔๖๒

วัดธรรมิกาวาส (วัดค้างคาว) ตั้งอยู่ที่ตำบลโพงาม ในวัดมีรูปหล่อหลวงพ่อเฒ่า พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอีกรูปหนึ่งของลุ่มแม่น้ำน้อย บริเวณรอบๆ มีป่ายางสูงสลับซับซ้อนทำให้บรรยากาศร่มรื่น เป็นที่อาศัยของฝูงลิงจำนวน มาก หน้าวัดมีแม่น้ำน้อยไหลผ่าน วัดนี้อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ๑๖ กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-ชัยนาท เลียบถนนคลองชลประทาน (สายใน) จะมีทางแยกเข้าวัดธรรมิกาวาสอีก ๕๐๐ เมตร สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. ๐ ๕๖๔๘ ๔๐๒๔, ๐๘ ๑๐๐๘ ๐๘๕๖

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *