Tamdoo.com

ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว บันเทิง

วัดปราสาท
วัดปราสาท

วัดปราสาท สมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หน้าบันพระอุโบสถเป็นไม้สักสลักรูปนารายณ์ทรงครุฑ (ปัจจุบันตัวครุฑถูกขโมยไปแล้ว) เครื่องบนเป็นไม้สักประดับด้วยรวยมอญ (ตัวไม้แกะสลักที่ทอดตัวลงมาบนหัวแปตอนหน้าจั่ว เป็นศิลปะมอญ) ตรงหุ่นนก (สามเหลี่ยม ข้างรวยมอญ) เป็นรูปราชสีห์และคชสีห์ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นโบสถ์แบบมหาอุดไม่มีการเจาะฝาผนังเลย ฐานพระอุโบสถเป็นแบบตกท้องช้างหรือท้องสำเภา (การสร้างโบสถ์แบบตกท้องช้างนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลทางสถาปัตยกรรม คือเมื่ออากาศร้อน ความร้อนจะลอยตัวขึ้นสูงอากาศเย็นจะพัดเข้าแทนที่ได้สะดวก) ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานและพระสาวก มีภาพจิตรกรรมเขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยฝีมือของสกุลช่างชั้นสูงนนทบุรี เรียกว่าทศชาติชาดก นับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดนนทบุรี ถือว่าวัดนี้เป็นวัดหนึ่ง ที่ดำเนินการอนุรักษ์โบสถ์และศิลปกรรมได้อย่างถูกวิธี จึงทำให้เป็นแหล่งวิทยาการที่น่าสนใจยิ่งของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ บนศาลาการเปรียญยังมีธรรมาสน์ที่มีอายุเก่าแก่พอกับโบสถ์ ประดับลวดลายตกแต่งอย่างสวยงาม วัดนี้จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดที่มีการอนุรักษ์ศิลปกรรมได้อย่างถูกต้อง เป็นที่เชิดหน้าชูตา

การเดินทาง รถยนต์ วัดนี้ตั้งอยู่ริมถนนบางกรวย-ไทรน้อย จากสะพานพระนั่งเกล้า ตรงไปสี่แยกไฟแดงที่ ๒ เลี้ยวซ้ายเข้าบางกรวย ผ่านวัดสวนแก้ว ตรงไปทางเส้นบางกรวย-ไทรน้อย จะเห็นป้ายบอกทางไปวัด หรือ จากท่าน้ำนนทบุรี

นั่งเรือข้ามฟากมา โดยสารรถสองแถวสายบางใหญ่-ท่าน้ำ คิวรถอยู่ใกล้กับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร

เรือ ต้องเดินจากท่าเรือผ่านสวน ของชาวบ้านเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร

พิพิธภัณฑ์มานุษยชาติวิทยา เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งแรกของไทย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ตั้งอยู่ด้านหลังศาลากลางจังหวัด (หลังเก่า) ชั้นล่างจัดแสดงความเป็นมาเกี่ยวกับโลก ชีวิตพืช สัตว์ มนุษย์ ชั้นบนจัดแสดงเกี่ยวกับศิลปะวัตถุโบราณเช่น พระพุทธรูปและเครื่องลายคราม เปิด วันอังคาร-วันเสาร์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. (ปิดวันอาทิตย์-จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ไม่เสียค่าเข้าชม ปัจจุบันเป็นห้องสมุดประชาชนจังหวัดนนทบุรี

การเดินทาง  มีรถโดยสารประจำทางผ่านหลายสาย เช่น ๖๓, ๙๗, ๒๐๓, ปอ.๑๒๖ หรือสอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ ๑๘๔ หรือทางเรือขึ้นเรือที่ท่าน้ำนนทบุรี

วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ริมถนนสายสนามบินน้ำ-นนทบุรี ซอยนนทบุรี ๓๓ ตำบล ท่าทราย ชื่อวัดมาจากที่ตั้งที่อยู่บนเนินสูง มีความเงียบสงบ จึงเรียกว่า วัดชมภูวิเวก ต่อมาเหลือเพียงวัดชมภูเวก ชาวมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นผู้สร้างขึ้นประมาณพ.ศ. ๒๓๐๐ จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์หลังเก่าเป็นภาพพุทธประวัติและทศชาติ ประดิษฐานพระประธานสมัยสุโขทัยและพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ นอกจากนี้บริเวณวัด ยังมีพระเจดีย์รามัญเรียกว่า “พระมุเตา” สร้างโดยพระสงฆ์จากเมืองมอญเมื่อพ.ศ.๒๔๖๐ สันนิษฐานว่าภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

การเดินทาง รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน ได้แก่ สาย ๖๙ สอบถามเพิ่มเติมโทร. ๑๘๔ หรือโดยสารรถสองแถวเล็กจากท่าสะพานพระนั่งเกล้า

วัดชมภูเวก
วัดชมภูเวก

วัดโบสถ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เดินทางโดยข้ามสะพานปทุมธานีไปฝั่งตะวันออกจะมีทางแยกซ้ายไปกลับรถใต้สะพานเพื่อไปยังวัดซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของถนน วัดโบสถ์สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๔ โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ชื่อวัดโบสถ์มาจากชื่อหมู่บ้านที่ชาวมอญอพยพมาจากเมืองมอญ เช่นเดียวกับวัดอีกหลายวัดในปทุมธานี เช่น วัดหงษ์ วัดบางตะไนย์ ประชาชนมักมาที่วัดเพื่อสักการะ หลวงพ่อสามพี่น้องในพระอุโบสถ และรูปหล่อหลวงปู่เทียน (พระครูบวรธรรมกิจ) พระเถระผู้ทรงคุณวิทยา ส่งเสริมด้านการศึกษาให้ชาวปทุม วัดนี้ยังคงมีวิหารเก่าเหลืออยู่ ๑ หลัง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่จากรามัญ คือ พระแสงอาญาสิทธิ์ และยังเก็บรักษาสิ่งสำคัญคือ ช้างสี่เศียรและบุษบกสัมฤทธิ์สำหรับประดับเสาหงส์ และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่เจ้าอาวาสได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองปทุมธานี

วัดบางขวาง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๘ หมู่ ๔ ตำบลสวนใหญ่ เดิมเรียกว่า “วัด บำงยำง” ตั้งอยู่ปลายคลองบางสีทอง ภายในวัดมีวิหารเก่าแก่อายุมากกว่า ๑๐๐ ปี โบสถ์เดิมเป็นรูปทรงสมัยโบราณ มีพาไลเตี้ยๆ อยู่ด้านหลัง ภายในโบสถ์ประดิษฐานพระประธานเป็นพระทรงเครื่อง ซึ่งเรียกกันว่า “ปำง ทรมำนท้ำวมหำชมภูแลพระอัครสำวกซ้ำยขวำ” ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระธาตุซึ่งรวบรวม พระธาตุที่สำคัญของไทยไว้ นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นศาลาโบราณทรงประยุกต์ สร้างด้วยไม้สักทอง

วัดตำหนักใต้ ตั้งอยู่บนถนนสนามบินน้ำ หมู่ ๔ ตำบลท่าทราย เป็นวัดเก่าแก่ ตามประวัติกล่าวว่าก่อนที่จะสร้างวัด พื้นที่นี้เคยเป็นพลับพลาที่ประทับชั่วคราวของพระเจ้ากรุงธนบุรี และสันนิษฐานว่าวิหารและหอระฆังสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.๒๓๖๗ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระประธานเป็นปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย มีต้นโพธิ์พุทธคยาจากอินเดียปลูกโดยอดีตเจ้าอาวาสวัดตำหนักใต้เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๑๔ สอบถามรายละเอียดโทร. ๐ ๒๕๒๖ ๗๙๘๓, ๐ ๒๕๒๙ ๑๐๑๓

วัดสมรโกฎิ ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองบางซื่อ อยู่ห่างจากหอนาฬิกาท่าน้ำนนท์ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๒ กิโลเมตร ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปทำจากทองคำแท้และภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามมาก ในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทำจากหินอ่อนแท้ ปางแสดงปฐมเทศนาและรูปจำลองหลวงปู่เสือ

ตำหนักประถม-นนทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ ๔๕/๕ ซอยอัคนี (งามวงศ์วาน ๒) เป็นตำหนักหนึ่งในวังเพชรบูรณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสองค์ที่ ๗๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผู้ทรงก่อตั้งโรงเรียนเพาะช่าง ตำหนักนี้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๒  เดิมอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์ ที่ตั้งของเซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่าในปัจจุบัน แต่ได้รื้อถอนออกมาเพื่อชะลอมาไว้ที่นนทบุรีเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นตำหนักหลังแรกที่สร้างในวังเพชรบูรณ์หลังจากที่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯเสด็จจากประเทศอังกฤษกลับมาประเทศไทย แล้วทรงตั้งชื่อตำหนักตามเพลงไทยว่า “โหมโรงปฐมดุสิต” ต่อมาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธิสิริโสภา พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯได้ขอพระราชทานรื้อถอนตำหนักบางส่วนเพื่อชะลอมาไว้ที่ซอยอัคนี บนเนื้อที่ ๒ ไร่ แถวงามวงศ์วาน แล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๗ ในการรื้อนั้นต้องใส่หมายเลขลงไปบนไม้ทุกแผ่นเพื่อความแม่นยำ ในการนำไปประกอบขึ้นใหม่ ไม้ทุกชิ้นจึงเป็นของเดิมทั้งสิ้น ตำหนักประถมนี้สร้างด้วยไม้สักทองทาสีเทาอ่อน ประดับด้วยกระจกสีฟ้า หลังคาใช้กระเบื้องว่าว เป็นอาคารใต้ถุนสูง เป็นแบบพักอาศัยในยุคที่กำลังได้รับอิทธิพลจากตะวันตกในยุคแรกๆ แต่ยังมีหน้าตาแบบไทย มีการวางห้องต่างๆให้ติดต่อกันภายใต้หลังคาชัน เพดานสูง มีบานเกล็ดหรือบานกระทุ้งตามหน้าต่างเพื่อระบายความร้อน มีเนื้อที่ใช้สอยอยู่ที่ชั้นสอง ประกอบด้วยห้องนอน ห้องรับแขกและห้องน้ำ ยังมีห้องใต้หลังคาชั้นสาม ซึ่งใช้เป็นที่เก็บของ นอกจากนี้ระหว่างตำหนักใหญ่กับเรือนน้ำหลังเล็กมีซุ้มแปดเหลี่ยมคั่นกลางและสระบัวขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า ถัดไปเป็นตำหนักใหม่ใต้ถุนสูงที่ไม่ได้สร้างตามแบบเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ จุดเด่นของตำหนักใหม่คือ ห้องโถงปิดลายทอง ตำหนักนี้ยังใช้เป็นที่วางฮาร์พ (พิณฝรั่ง) ชิ้นประวัติศาสตร์ที่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ ทรงนำมาจากอังกฤษอายุกว่าร้อยปี ตำหนักประถมจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม โดยจะมีกิจกรรมจิบน้ำชา ชมตำหนัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๕๘๙ ๗๑๗๓ ศูนย์ฮาร์พ ตำหนักประถม โทร. ๐ ๒๒๖๑ ๔๗๗๗-๘

พิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย สังกัดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารทรงไทยแบบเครื่องก่อ ๙ หลัง ออกแบบโดยศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภายในตัวอาคารทรงไทยจัดแบ่งเป็น ๓ ชั้นคือ ชั้นใต้ดิน ชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สอง ชั้นที่สองเป็นส่วนพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาและวิวัฒนาการการแพทย์แผนไทย ปรัชญาการแพทย์พื้นบ้าน จัดแสดงเครื่องยาไทยประเภทต่าง ๆ และยังแสดงให้เห็นการนำภูมิปัญญาไทยมาใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยห้องต่างๆ ๗ ห้อง

ห้องที่ ๑ หอพระไภษัชคุรุไวทูรยประภา แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ความเชื่อทางพุทธศาสนากับการแพทย์แผนไทยหรือที่เรียกว่า พุทธศาสน์การแพทย์

ห้องที่ ๒ หอบรมครูการแพทย์แผนไทย เพื่อแสดงให้เห็นถึงพิธีไหว้ครู ตามหลักความเชื่อของไทย

ห้องที่ ๓ ห้องวิวัฒนาการการแพทย์แผนไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แสดงวิวัฒนาการทางการแพทย์แผนไทยตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลปัจจุบัน

ห้องที่ ๔ ห้องภูมิปัญญาไทย ด้านแพทย์พื้นบ้านทั้ง ๔ ภาคของไทย

ห้องที่ ๕ ห้องการนวดไทย แสดงประวัติความเป็นมาของการนวด อุปกรณ์เครื่องมือการนวดต่างๆ

ห้องที่ ๖ ห้องอาหารไทย แสดงวัฒนธรรมการกินอยู่ตามฤดูกาลและตามธาตุของคนไทยทั้ง ๔ ภาค ซึ่งเหมาะสมต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ประจำภาค และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ห้องที่ ๗ ห้องยา แสดงถึงหลัก ๔ ประการในการปรุงยา เครื่องยา และยาไทยสมุนไพรประเภทต่างๆ จากตัวพิพิธภัณฑ์ ลงไปชั้นที่หนึ่งของอาคารพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย ห้องอาหารเพื่อสุขภาพ ขายอาหารเพื่อสุขภาพ และมีห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ยาดม ยาทา ลูกอม สบู่ ยาสระผม ในบริเวณเดียวกันจะเห็นศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแพทย์แผนไทย ห้องตรวจรักษาด้วยการแพทย์ แผนไทย ห้องอบสมุนไพร ห้องนวด มีบริการนวดรักษาโดยสมัครเป็นสมาชิกก่อน และเปิดบริการ ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. ทุกวัน นวดรักษา นวดสุขภาพ ๒๐๐ บาท นวดฝ่าเท้า ๑๕๐ บาท ประคบสมุนไพร ๑๕๐ บาท อบสมุนไพร ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. ๐ ๒๕๙๐ ๒๖๐๖

ชั้นใต้ดิน ประกอบด้วย ห้องประชุม ห้องสมุด ศูนย์จำหน่ายหนังสือของโครงการพัฒนาต่างๆ

ด้านนอกอาคารมีเขามอซึ่งจำลองมาจากวัดโพธิ์ บนเขามอคัดเลือกท่าฤาษีดัดตนขนาดเท่าคนจริงจัดแสดง ๒๕ ท่าและปลูกสมุนไพรที่เป็นยาต่างๆไว้บนเขาด้วย ภายในเขามอมี “ถ้ำฤาษีเขามอหรือถ้ำครูแผนไทย” ภายในถ้ำติดแอร์และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ

รอบๆ เขามอแวดล้อมด้วยต้นไม้สมุนไพร บางต้นติดระบบสัญญาณเมื่อกดปุ่ม ต้นไม้สามารถพูดบอกข้อมูลรายละเอียดของต้นไม้

บริเวณรอบๆ อาคาร ยังแวดล้อมด้วยสวนสมุนไพรที่ปลูกไว้นับพันชนิด และยังมีซุ้มขายอาหารที่ทำจากพืชผักสมุนไพร ร้านขายพืชผักปลอดสารพิษ ร้านขายยาสมุนไพร

ผู้สนใจเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย กรุณาทำ จดหมายล่วงหน้าก่อนเข้าชมอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร ๐ ๒๙๕๑ ๐๒๙๒, ๐ ๒๙๕๑ ๐๓๑๙ กำรเดินทำง รถโดยสารประจำทางสาย ๙๗

อ่าน  สถานที่ท่องเที่ยว อำเภอเมืองนนทบุรี (ตอนที่ 1)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *