ศาลหลักเมืองสี่มหาราช ตั้งอยู่ซ้ายมือเชิงสะพานกิตติขจรก่อนเข้าตัวเมืองตาก จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมืองตากเป็นเมืองเก่าก่อนกรุงสุโขทัย เป็นเมืองที่มีพระมหาราชเจ้าในอดีตได้เสด็จมาชุมนุมกองทัพที่เมืองตากถึง ๔ พระองค์ คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงชนช้างกับขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง แล้วยกทัพกลับราชอาณาจักรไทย โดยเสด็จผ่านดินแดนเมืองตากเป็นแห่งแรก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงนำทัพไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือได้เสด็จผ่านเมืองตากและได้สร้างวัดพระนารายณ์ขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่เชิงสะพานกิตติขจร และ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของอดีตมหาราชทั้งสี่พระองค์ และเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมืองตากจึงได้จัดสร้างศาลหลักเมืองสี่มหาราชขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถนนจรดวิถีถ่อง ใกล้กับสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศาลนี้แต่เดิมอยู่ที่วัดดอยเขาแก้วฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองตาก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ชาวเมืองตากเห็นว่าศาลเดิมไม่สมพระเกียรติ จึงได้สร้างศาลขึ้นใหม่โดยให้กรมศิลปากรหล่อพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงเล็กน้อย ในพระอิริยาบถที่กำลังประทับอยูบ่นราชอาสน์ มีพระแสงดาบพาดอยู่ที่พระเพลา ที่ฐานพระบรมรูปมีคำจารึกว่า “พระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ทรงพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๗ สวรรคต พ.ศ. ๒๓๒๕ รวม ๔๘ พรรษา” เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไปและเป็นศาลที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของเมืองไทย
วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง บ้านรมณีย์ ถนนตากสิน ตำบลหนองหลวง วัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ บูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ภายในวัดมีพระอุโบสถที่สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ผนังโบสถ์มีภาพเขียนจิตรกรรมที่งดงามยิ่ง และเจดีย์ทรงมอญบรรจุพระธาตุไว้ส่วนบนของยอดฉัตร ในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อพุทธมนต์”สร้างสมัยสุโขทัย ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก
วัดดอยข่อยเขาแก้ว หรือ วัดพระเจ้าตาก ตั้งอยู่ริมถนนเลี่ยงเมือง สายจ. ๓ ตำบลแม่ท้อ ห่างจากลำนํ้าปิงฝั่งตะวันตกประมาณ ๒๕๐ เมตรในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดำรงตำแหน่งพระยาตากพระองค์ได้เสี่ยงทาย ณ วัดนี้ โดยกล่าวว่า “หากข้าพเจ้ามีบุญญาบารมีมากพอที่จะเป็นที่พึ่งของอาณาประชาราษฎร์ได้อย่างเที่ยงแท้ ขอให้ไม้เคาะระฆังที่ข้าพเจ้าจะขว้างไปยังถ้วยแก้วซึ่งตั้งอยู่ห่างประมาณ ๕ วา ให้ถูกจำเพาะท่อนกลางที่คอดกิ่วของถ้วยแก้วแล้วแตกหักออกไป ขออย่าให้ส่วน
อื่นของถ้วยแก้วแตกเสียหาย ฯลฯ ปรากฏว่า เมื่อพระองค์ขว้างไม้เคาะระฆังออกไปตามคำอธิฐานก็เป็นอย่างที่พระองค์ได้เสี่ยงอธิษฐานไว้ เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของบรรดาพุทธบริษัทที่มาร่วมบำเพ็ญกุศลที่วัดดอยข่อยเขาแก้ว จนเล่าลือกันว่า “พระยาตากเป็นผู้มีบุญญาธิการและบารมีที่มหัศจรรย์ยิ่ง” ภายหลังจากการเสี่ยงทายแล้วพระองค์ได้ให้ช่างนำลูกแก้วไปติดไว้ที่ยอดเจดีย์วัดดอยข่อยเขาแก้วลูกหนึ่ง ส่วนอีกลูกหนึ่งข้าราชการพ่อค้า ประชาชน ได้ขออนุญาตนำไปติดไว้ที่ยอดเจดีย์ ณ วัดกลาง
สวนดอกไม้ หลายปีผ่านไปลูกแก้วที่ติดอยู่บนยอดเจดีย์ทั้งสองแห่งนั้นได้หลุดหายไปเนื่องจากยอดพระเจดีย์ได้หักพังลงมา และในพงศาวดารกล่าวว่า ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปยังเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ ๒ ในพ.ศ. ๒๓๑๗ จึงได้ไปหาสมภารวัดดอยข่อยเขาแก้ว และตรัสถามถึงเรื่องลูกแก้วที่พระองค์ทรงเสี่ยงทายเมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้ปฏิสังขรณ์ใหม่หมดทั้งพระอาราม เมื่อคราวเสด็จกลับ จากเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วย โบสถ์มีใบเสมาคู่ที่แสดงว่าพระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์ เจดีย์และพระพุทธบาทจำลองอยู่ในโบสถ์ ด้านหน้ามีเจดีย์ ๒ องค์ ที่บรรจุอังคารบิดา และมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปัจจุบันวัดนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
วัดสมเด็จพระนารายณ์มหราช อยู่บนเนินเขาแก้ว ตำบลแม่ท้อ เป็นวัดที่น่าจะสร้างโดยพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพบซากพระอุโบสถซึ่งผูกพัทธสีมา ๒ ชั้น มีกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ กำแพงด้านในทำเป็นช่องเล็กๆ เต็มทั้ง ๔ ด้าน ช่องเหล่านี้ทำไว้สำหรับตามประทีป คล้ายกับพระนารายณ์ราชนิเวศน์จังหวัดลพบุรี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งเสด็จ ล่องมาตามแม่นํ้าปิงถึงเขาแก้วตัวเมืองตากใน ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงเสด็จขึ้นไปตรวจสอบและทรงพบช่องตามประทีปที่กำแพงรอบพระอุโสถจึงสันนิษฐานว่าสมเด็จพระนายณ์มหาราช น่าจะทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เมื่อครั้งเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่และได้รับชัยชนะหลังจากเสด็จกลับใน ปี พ.ศ.๒๒๐๕ โดยรูปทรงลักษณะของพระอุโบสถและกำแพงแก้วที่หลงเหลืออยู่ แสดงว่าเป็นฝีมือสกุลช่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
วัดมณีบรรพตวรวิหาร อยูริ่มทางหลวงหมายเลข ๑ ใกลโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่บนเนินเขาเป็นวัดหลวงประจำจังหวัดและวัดพัฒนาตัวอย่าง ด้านหลังมีเจดีย์ทรงมอญย่อมุมไม้สิบหก ภายในอุโบสถมีพระบรมสาทิสลักษณข์ องพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้เจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานแก่วัดนี้ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแสงทอง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน หน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว ชาวบ้านอัญเชิญมาจากวัดร้างแห่งหนึ่งในตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๓ ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองตาก
วัดสีตลาราม หรือ วัดนํ้าหัก บ้านจีน ถนนตากสิน ตำบลระแหง เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัด เหตุที่ชาวบ้านเรียกวัดนํ้าหักเพราะในสมัยก่อนด้านตะวันตกของวัดเป็นแม่นํ้าปิงที่มีกระแสนํ้าไหลหักวน เมื่อถึงหน้าฤดูนํ้าหลาก จะมีกระแสที่ไหลแรงมากจากลำห้วยแม่ท้อไหลมาตัดกับแม่นํ้าปิงจึงทำให้กระแสนํ้าของแม่ปิงหักเหเบนเข้าหาท่านํ้าหน้าวัดนี้ ต่อมาได้มีการถมดินสองฝั่งแม่นํ้า ร่องนํ้าจึงเปลี่ยนไปไม่มีคุ้งนํ้าที่มีกระแสนํ้าไหลวนให้เห็นอีก ภายในวัดบรรยากาศร่มรื่นมี โบสถ์ และอาคารเรือนไม้สร้างตามศิลปะยุโรป พระอุโบสถของวัดเคยถูกไฟไหม้แต่ได้มีการสร้างขึ้นใหม่ หน้าอุโบสถมีวิหารคต สร้างด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
ตรอกบ้าจีน อยู่ไกลวั้ดสีตลาราม สมัยที่ลำน้ำแม่ปิง ยังไม่ถูกถมเพื่อขยายฝั่ง ในอดีตเคยเป็นย่านการค้า และเส้นทางลำเลียงสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค ที่ส่งมาจากปากนํ้าโพ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อมาขึ้นที่บ้านท่าจีน ปัจจุบันยังคงมีเรือนไทยโบราณสร้างด้วยไม้สักทรงไทย ซึ่งหาดูได้ยากไว้ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชม
วัดเขาถํ้า บ้านแพะ ถนนพหลโยธิน ตำบลไม้งาม แยกขวาจากทางหลวงหมายเลข ๑ กิโลเมตรที่ ๔๒๓ เข้าไปตามถนนประมาณ ๙๐๐ เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ เขาถํ้าบริเวณโดยรอบมีหินธรรมชาติวางเรียงรายเป็นชั้นสลับซับซ้อน เขาถํ้าเป็นเขาสูงประมาณ ๗๐ เมตร ภายในถํ้ามีรอยพระพุทธบาทจำลอง พระสังกัจจายน์ เจ้าแม่กวนอิม และหลวงพ่อทันใจ ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสร้างเสร็จภายในหนึ่งวันบนยอดเขามีเจดีย์ตั้งอยู่ สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองตากทุกๆ ปี หลังวันสงกรานต์จะมีการจัดงานประเพณี “ขึ้นวัดเขาถํ้า” โดยมีการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของไทย และสรงนํ้าพระพุทธบาทจำลอง
ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ บริเวณหอเกียรติคุณ เปิดขายทุกวันเสาร์ เวลา ๐๗.๐๐-๑๓.๐๐ น. จะมีพ่อค้าแม่ค้านำไม้ดอก ไม้ประดับ กล้วยไม้ และพันธุ์ไม้นานาชนิด มาวางขายตลอดแนวถนนริมแม่นํ้าปิง นอกจากจะได้พบกับวิถีชีวิตของชาวเมืองตากแล้ว สะพานแขวนที่ทอดยาวระหว่างตัวเมืองตากและบ้านป่ามะม่วง นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมทัศนียภาพของแม่นํ้าปิง ซึ่งเป็นแม่นํ้าที่มีทัศนียภาพสวยงามที่สุดของเมืองไทยก็ว่าได้