หาดสามร้อยยอด (หาดนมสาว) ตั้งอยู่ตำบลเขาแดง เป็นหาด เงียบสงบ มีทัศนียภาพสวยงาม ร่มรื่นด้วยทิวสนทะเล น้ำทะเลตื้นสามารถเล่นน้ำได้ ทางทิศใต้จะเห็นเกาะต่างๆ เช่น เกาะโครำ เกาะนมสาว เกาะระวิง เกาะระวาง สามารถนั่งเรือไปเที่ยวเกาะ ดำน้ำดูปะการัง บริเวณหาดมีที่พักรีสอร์ทต่างๆ ให้บริการ
การเดินทาง จากถนนเพชรเกษมเลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ ๒๕๔ (ทางเข้าเขากะโหลก) เมื่อถึงวัดพุน้อย เลี้ยวซ้ายตรงศูนย์ป้องกันภัยเขต ๔ จะพบทางแยกเล็กๆ เข้าสู่ตัวหาด
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่ในเขตอำเภอกุยบุรีและอำเภอสามร้อยยอด ห่างจากหัวหินลงมาทางใต้ประมาณ ๖๓ กิโลเมตร ตามตำนานเล่ากันว่า พื้นที่แถบนี้เคยเป็นทะเลมีเกาะใหญ่น้อยอยู่มากมาย ในสมัยนั้นมีขบวนเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมา และประสบกับลมพายุมรสุมจนเรืออับปาง คนบนเรือที่รอดชีวิต ๓๐๐ คนได้ไปอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ จึงเรียกว่า “เกาะสามร้อยรอด” ต่อมาเพี้ยนเป็น “เขาสามร้อยยอด” จนทุกวันนี้
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๙๘ ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๑,๓๐๐ ไร่ ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาหินปูนสูงชันริมฝั่งทะเลผสมกับที่ราบริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนและห้วงน้ำทะเลตื้น รวมถึงเกาะหินปูนที่ตั้งเรียงรายอยู่ใกล้ชายฝั่ง เป็นที่อยู่อาศัยของนกนานาชนิดซึ่งมีมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๔ และเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งแรกของประเทศไทย บริเวณอุทยานฯ มีสถานที่ท่องเที่ยวดังนี้
จุดชมวิวเขาแดง ตั้งอยู่บ้านเขาแดง บนยอดเขาแดง เวลาที่ เหมาะแก่การขึ้นชมวิวคือ ๐๕.๓๐-๐๗.๐๐ น. เนื่องจากสามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นและทัศนียภาพโดยรอบๆได้อย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นวิวเขาสามร้อยยอด ชายหาดสามพระยา บ้านเรือนต่างๆ เชิงเขาแดงมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
การเดินทาง ต้องเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๕๐๐ เมตร หรือขับรถไปหมู่บ้านเขาแดงจะมีทางแยกด้านซ้ายมือ จอดรถแล้วเดินเท้าขึ้นเขาไปอีกประมาณ ๗๒๕ เมตร ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง
จุดลงเรือคลองเขาแดง เหมาะต่อการล่องเรือชมทิวทัศน์และสัตว์นานาชนิดในระบบนิเวศป่าชายเลน นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือได้จากหมู่บ้านเขาแดงและหมู่บ้านบางปู โดยลงเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดเขาแดงล่องไปตามลำคลองประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ลัดเลาะผ่านป่าชายเลน สู่หมู่บ้านประมงเขาแดงซึ่งเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่อายุร่วม ๑๐๐ ปี บริเวณท่าเรือมีเรือประมงชายฝั่งจอดเรียงราย สีสันสดใสของเรือตัดกับสีฟ้าเข้มของท้องฟ้า สิ้นสุดปลายทางที่ปากอ่าว ก่อนกลับเส้นทางเดิม ใช้เวลาเดินทางไป-กลับประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่ง เวลาที่เหมาะแก่การล่องเรือคือ เวลาประมาณ ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. เพราะอากาศไม่ร้อน และสามารถชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงาม และนอกจากนี้คลองเขาแดงยังเป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับการพายเรือคยักสำหรับผู้ที่ชื่นชอบธรรมชาติและกิจกรรมกลางแจ้ง
หาดสามพระยา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ ๕ กิโลเมตร เป็นหาดทรายขาวสะอาดร่มรื่นด้วยแนวสนทอดยาว ๑ กิโลเมตร หัวหาดและท้ายหาดมีเขาหินปูนขนาบทั้งสองด้าน เหมาะสำหรับเล่นน้ำและกางเต็นท์พักแรมได้ บริเวณชายหาดมีร้านอาหารและห้องน้ำไว้บริการ
ถ้ำไทร อยู่ในหมู่บ้านคุ้งโตนด ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๙ กิโลเมตร สามารถนำรถยนต์ไปจอดบริเวณหมู่บ้านใกล้ เชิงเขาแล้วเดินขึ้นไปบนถ้ำระยะทางประมาณ ๒๘๐ เมตร ช่วงแรกของถ้ำมีต้นไทรซึ่งเป็นที่มาของชื่อถ้ำ ช่วงถัดไปมีหินงอกหินย้อยงดงามหลายจุด จุดที่น่าสนใจในถ้ำได้แก่ สระโบกขรณี ห้องหินงอกหินย้อย ห้องม่านเจ็ดสี น้ำตกแห้ง อนุสาวรีย์ตาเอิบซึ่งเป็นผู้พบถ้ำคนแรก บ่อน้ำน้อยหน่าและหินโดม ภายในถ้ำค่อนข้างมืดนักท่องเที่ยวสามารถเช่าตะเกียงเจ้าพายุหรือไฟฉายจากชาวบ้านที่หมู่บ้านคุ้งโตนดได้
ถ้ำแก้ว อยู่ที่เขาหุบจันทร์ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปทางบ้านบางปู ๑๖ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายผ่านบริเวณนากุ้งจนสุดถนนลูกรังแล้วเดินเท้าไปยังปากถ้ำ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยระยิบระยับสวยงาม ภายในถ้ำมืดมาก และค่อนข้างอันตรายเพราะมีเหวลึก จำเป็นต้องมีตะเกียงเจ้าพายุ และเจ้าหน้าที่ของอุทยานฯ นำทาง
ทุ่งสามร้อยยอด อยู่ด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ปกคลุมด้วยพืชจำพวกอ้อ กก จึงเป็นแหล่งอาศัยของนกอพยพนานาชนิดเช่น นกยาง นกกาน้ำ นกอีล้ำ นกกระสาแดง นกอีโก้ง ฯลฯ สามารถล่องเรือชมธรรมชาติ เรือถ่อ เรือแคนู ดูนก ถ่ายภาพ เหมาะกับการศึกษาค้นคว้า หากมาในช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีนกและดอกบัวมาก
หาดแหลมศาลา อยู่บริเวณเขาเทียน ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร บริเวณหาดมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ห้องอาบน้ำจืด หาดอยู่หน้าทางเข้าถ้ำพระยานคร เป็นหาดลักษณะคล้ายแหลมยื่นออกไปในทะเล มีภูเขาปิดล้อมทั้งสองด้าน สามารถเล่นน้ำทะเลได้
การเดินทาง จากถนนปราณบุรี-ปากน้ำปราณบุรี เลี้ยวขวาเข้าอุทยานฯ ตรงไปถึงสี่แยกบ้านบางปู เลี้ยวซ้ายทางบ้านบางปู ข้ามสะพานคลองบางปูถึงตีนเขาเทียน จากนั้นต้องเดินเท้าข้ามเขาเทียนไปประมาณ ๔๘๐ เมตร ถึงหาดแหลมศาลา หรือ ใช้บริการเหมาเรือจากบ้านบางปูไปหาดแหลมศาลาใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓๐ นาที
ถ้ำพระยานคร อยู่ห่างจากหาดแหลมศาลาประมาณ ๕๐๐ เมตร และห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๗ กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางเรือ โดยเช่าเรือจากหมู่บ้านบางปู บริเวณหาดบางปูมีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๓๐ นาที ราคา ๒๕๐ บาทต่อลำ (นั่งได้ ๘ คน) หรือ จะเดินข้ามเขาเทียนเป็นระยะทางประมาณ ๕๓๐ เมตร จากชายหาดแหลมศาลามีทางเดินขึ้นเขาไปยังถ้ำพระยานคร ระหว่างทางมีบ่อน้ำ กรุด้วยอิฐดินเผารูปสี่เหลี่ยมคางหมู กว้าง ๑ เมตร ลึก ๔ เมตร เรียกว่า “บ่อพระยานคร” ตามประวัติเล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ เจ้าพระยานคร ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชได้แล่นเรือผ่านทางเขาสามร้อยยอด และเกิด พายุใหญ่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงจอดพักเรือหลบพายุที่ชายหาดแห่งนี้เป็นเวลาหลายวัน และได้สร้างบ่อน้ำเพื่อใช้ดื่ม “ถ้ำพระยานคร” เป็นถ้ำขนาดใหญ่ บนเพดานถ้ำมีปล่องให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้ จุดเด่นของถ้ำแห่งนี้ คือ “พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์” เป็นพลับพลาแบบจตุรมุข สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นฝีพระหัตถ์ของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ทรงสร้างขึ้นในกรุงเทพฯ แล้วส่งมาประกอบทีหลังโดยให้พระยาชลยุทธโยธินเป็นนายงานก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมายกช่อฟ้าด้วยพระองค์เอง ที่กำแพงหินด้านขวามีพระปรมาภิไธยย่อในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ เป็นตัวหนังสือใหญ่สีขาวสะดุดตา พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์นับเป็นจุดเด่นของถ้ำพระยานคร และเป็นตราประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน
อุทยานฯ มีบริการบ้านพักที่บริเวณ เขาแดง และที่หาดแหลมศาลา และยังมีบริการเต็นท์ให้เช่า ติดต่อสอบถามรายละเอียด ได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทร. ๐ ๒๕๖๒ ๐๗๖๐ หรือ www.dnp.go.th หรือ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๗๗๑๕๐ โทร. ๐ ๓๒๘๒ ๑๕๖๘
การเดินทาง รถยนต์ จากถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข ๔) ถึง สี่แยกปราณบุรีเลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายปราณบุรี-ปากน้ำปราณบุรีประมาณ ๘ กิโลเมตร จึงเลี้ยวขวาไปประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ผ่าน สี่แยกบ้านบางปู ตรงไป ๔ กิโลเมตร ถึงสามแยกเลี้ยวซ้ายอีกครั้ง ไปอีก ๕ กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือ จากถนนเพชรเกษม จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๘๖ (ใกล้บ้านสำโหรง ก่อนถึงอำเภอกุยบุรี ๖ กิโลเมตร) เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ ๑๔ กิโลเมตรก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ
รถโดยสารประจำทาง ลงรถที่อำเภอปราณบุรี แล้วต่อรถสองแถวสายปราณบุรี-บ้านบางปู จากบ้านบางปูเหมารถสองแถวไปส่งที่ทำการอุทยานฯ
รถไฟ ขบวนรถไฟธนบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ หรือ ธนบุรี-หลังสวน ลงรถที่สถานีรถไฟสามร้อยยอด ต่อรถสองแถวสายปราณบุรี-บ้านบางปู (ขึ้นรถได้ที่หน้าสถานีรถไฟ) เมื่อถึงบ้านบางปูหารถเช่าไปอุทยานฯ