สถานที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรีอำเภอกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์

สถานที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรีอำเภอกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์
สถานที่ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติกุยบุรีอำเภอกุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์

 หลวงพ่อโต วัดตาลเจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลาลัย ชื่อวัดตั้ง ตามชื่อหมู่บ้าน ตาลเจ็ดยอด ซี่งน่าจะมีที่มาจากคำว่า “ตาลเจ็ดยอด” เป็นชื่อที่มีคนรู้จัก เดิมทีมีต้นตาลเจ็ดยอด แต่ถูกตัดไประหว่างการสร้างทางรถไฟสายใต้ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพราะตาลต้นดังกล่าวขวางทางรถไฟ ผู้สร้างทางรถไฟทำให้ต้นตาลตายโดยวิธีธรรมชาติแล้วจึงตัดทิ้ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดตาลเจ็ดยอด คือ รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ขนาดหน้าตักกว้าง ๑๑ เมตร สูง ๑๘ เมตร ซึ่งถือว่าเป็น รูปหล่อองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และด้านหน้าขององค์พระมีการหล่อรูปเหมือนขนาดบูชาเท่าองค์จริงของครูบาอาจารย์หลายรูป อาทิเช่น พระอาจารย์มั่น หลวงปู่ทวด หลวงปู่ศุข หลวงปู่สดและพระพุทธรูปอีกหลายองค์ นอกจากนี้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณวัดตาลเจ็ดยอดให้มีความร่มรื่นเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวที่จะมาเยี่ยมเยือนวัด

 อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ครอบคลุม อำเภอสามร้อยยอด อำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี และอำเภอเมือง มีพื้นที่ประมาณ ๙๖๙ ตารางกิโลเมตร สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน แนวเทือกเขาขวางตัวเหนือ-ใต้ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรี สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ หนาแน่นด้วยพรรณไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ แม่น้ำกุยบุรีและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด เนื่องจากมีแหล่งน้ำและอาหารสมบูรณ์ สัตว์ป่าโดยทั่วไปได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่าหมี เก้ง สมเสร็จ ชะนี ลิง ค่าง ฯลฯ ป่ากุยบุรี เป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงพลิกฟื้นพื้นที่ไร่สับปะรดให้เป็นป่าใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่านานาชนิด ได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติกุยบุรีเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๒ แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่

 น้ำตกดงมะไฟ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำกุยบุรี น้ำตกดงมะไฟมีความสูงประมาณ ๑๕ ชั้น ลักษณะเป็นแก่งหินแกรนิต มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ช่วงน้ำมากตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ชั้นที่สวยที่สุดตั้งแต่ชั้นที่ ๘ ไปจนถึงชั้นที่ ๑๕ โดยชั้นที่ ๑๔ จะเป็นหน้าผาขนาดใหญ่มีน้ำตกไหลลงมายังแอ่งน้ำเบื้องล่าง มีความสูงประมาณ ๑๐ เมตร นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด เช่น เฟิร์น กล้วยไม้ มอส อีกทั้งยังเป็นจุดชมนกเงือกกรามช้างที่บินผ่านยอดไม้ไปมาคล้ายเสียงเครื่องบิน และมีต้นตะเคียนใหญ่อายุราว ๒๐๐ ปีและมีต้นไทรโอบกอดเอาไว้บนกิ่ง ด้านบนมีเฟิร์นตระกูลข้าหลวงหลังลายและกล้วยไม้เกาะอยู่ และมีต้นมะไฟป่ากระจายอยู่เป็นจำนวนมากอันเป็นที่มาของชื่อน้ำตกนี้

 น้ำตกผาหมาหอน เป็นน้ำตกที่มีระดับลดหลั่นกันลงมา ๓ ชั้น ลักษณะเป็นผาลาดสูงชันเกือบตั้งฉาก มีสายน้ำใสไหลแรงตลอดเวลา บริเวณตอนกลางมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้จำนวนมาก เช่น เฟิร์น ปาล์ม หลากชนิด เหมาะแก่การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ และพักผ่อนหย่อนใจ

 น้ำตกด่านมะค่า เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำกุยบุรี น้ำตกมีความสูงประมาณ ๖-๗ เมตร อยู่ห่างที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรีประมาณ ๕ กิโลเมตร

 น้ำตกผาสวรรค์ เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำกุยบุรี มีทั้งหมด ๕ ชั้น ชั้นที่ ๕ เป็นชั้นที่สวยที่สุดสูงประมาณ ๗ เมตร อยู่ห่างที่ทำการอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประมาณ ๗ กิโลเมตร

จุดชมช้างป่า อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร สองข้างทางจะเป็นธรรมชาติ ขุนเขาและวิถีชีวิตของผู้คนในชนบท นอกจากจะได้เห็นช้างแล้วยังจะได้เห็นสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ เช่น วัวกระทิง เก้งหม้อ ค่างแว่น ฯลฯ ที่ออกมาหาอาหารกินร่วมกันในช่วงเวลาเย็น ประมาณ ๑๕.๐๐-๑๘.๐๐ น. โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯล่วงหน้า

เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ มีลักษณะเป็นเส้นทางกึ่งวงกลม เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาธรรมชาติได้เข้าไปใช้ประโยชน์ เรียนรู้และเพลิดเพลิน กับธรรมชาติรอบๆ ตัว จะได้พบเห็นผีเสื้อ นก แมลงชนิดต่างๆ รวมถึง พรรณไม้ที่หาชมได้ยาก เช่น ไม้จันทน์หอมที่ผ่านพระราชพิธีเพื่อนำไปทำพระโกศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

อุทยานฯ ยังมีกิจกรรมสาธารณะประโยชน์สำหรับผู้ที่มากันเป็น หมู่คณะ เช่น การทำโป่งเทียม ซึ่งเป็นอาหารสำหรับสัตว์ป่าและอาหารช้าง กลุ่มประมาณ ๖๐-๑๐๐ คน ค่าใช้จ่ายประมาณ ๑,๕๐๐ บาท (ค่าอุปกรณ์), การปลูกพืชอาหารสัตว์ (ปลูกหญ้าให้สัตว์ป่า), การทำฝายชะลอน้ำ ค่าใช้จ่ายประมาณ ๒,๕๐๐ บาทต่อฝาย(ค่าอุปกรณ์), การปลูกต้นไม้ทำแนวกั้นช้างป่า

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามถนนเพชรเกษมก่อนถึงที่ว่าการอำเภอกุยบุรีประมาณ ๓ กิโลเมตร ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๙๐ ถึงแยกยางชุม แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข ๓๒๑๗ ผ่านบ้านยางชุม เข้าโครงการเขื่อนเก็บน้ำยางชุม เลี้ยวซ้ายก่อนถึงโครงการฯ ไปตามทางเข้าหมู่บ้านย่านซื่อจนสุดหมู่บ้าน เลี้ยวซ้ายอีกประมาณ ๒ กิโลเมตรถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (ระยะทางจากกุยบุรีถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ๓๕ กิโลเมตร)

ที่พัก ทางอุทยานฯ มีบ้านพักไว้บริการ ๒ หลัง ราคา ๑,๘๐๐ บาท (๓ ห้องนอน ๒ ห้องน้ำ มีห้องโถงและห้องครัว) หากผู้ใดต้องการสัมผัสกับธรรมชาติ ทางอุทยานได้จัดสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการโดยค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลที่นำเต็นท์มาเอง เต็นท์ละ ๓๐ บาท/คืน/หลัง อุทยานมีเต็นท์และเครื่องนอนไว้บริการดังนี้ เต็นท์ขนาด ๒ คน ๑๕๐ บาท/หลัง/คืน เต็นท์สำหรับ ๔ คน ๓๐๐ บาท/หลัง/คืน ถุงนอน ๓๐ บาท/ถุง/คืน ผ้าห่ม ๒๐ บาท/ผืน/คืน หมอน ๑๐ บาท/ใบ/คืน ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรีชาวไทย ผู้ใหญ่ ๔๐ บาท เด็ก ๒๐ บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ ๒๐๐ บาท เด็ก ๑๐๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ ๓๒๖๔ ๖๒๙๒ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ตู้ ปณ. ๑๐ ปณจ.กุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ๗๗๑๕๐

 

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Exit mobile version