อ่าวลึก ดินแดนอัศจรรย์ริมฝั่งอันดามัน จังหวัดกระบี่ ตอนที่ 1

ธารน้ำตกชั้นเตี้ยๆ
ธารน้ำตกชั้นเตี้ยๆ

อ่าวลึก ชื่ออำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งซึ่งคุณอาจเคยขับรถผ่านไปมาเมื่อเดินทางจากจังหวัดสุราษฏร์ธานีไปยังจังหวัดกระบี่ โดยที่คุณอาจจะไม่เคยนึกแม้แต่นิดเดียวว่า คุณกำลังเดินทางผ่านไปบนดินแดนอัศจรรย์ริมฝั่งอันดามันอันน่าทึ่งโดยไม่รู้ตัว

ผมเคยมาอ่าวลึกครั้งแรกในสมัยยุคแห่งความขัดแย้งทางความคิดของผู้คนจนต้องหยิบอาวุธมาห้ำหั่นกันจนแผ่นดินใต้ร้อนระอุด้วยสงครามลัดธิคอมมิวนิสต์ ผมยังจำได้ดีว่าวันนั้นตอนเย็นราว 16.30 น. กลุ่มผู้ก่อการร้ายจากเขตงานสุราษฏร์ธานียกพลด้วยรถสิบล้อมาล้อมสถานีตำรวจอ่าวลึก แล้วเปิดฉากยิงเข้าใส่สถานีตำรวจจนพรุน จากนั้นก็ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ขนกลับไปโดยไม่ทำร้ายใคร นั่นคือภาพของอำเภออ่าวลึกที่ผมจดจำได้แม่นยำว่าเป็นพื้นที่สีแดงที่ไม่สู้ปลอดภัยในสมัยนั้น

กระนั้นก็ตาม ครั้งนั้นผมก็ยังดั้นด้นไปจนถึงถ้ำผีหัวโต ถ้ำลอดเหนือ ถ้ำลอดใต้ ธารโบกธรณี ที่ ณ วันนั้นยังไม่มีใครรู้จักมากเท่าใด โดยมี อูหมาก กูหมวด เพื่อนชาวมุสลิม (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) เป็นคนนำทางพาผมไปค้นหาความอัศจรรย์ ณ วันนั้นที่ผมยังประทับใจไม่รู้ลืม

เกือบ 30 ปีต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2553 ผมย้อนกลับไปอำเภออ่าวลึกอีกครั้ง คราวนี้ด้วยภารกิจและความมุ่งมั่นเต็มเหนี่ยวที่จะค้นหาความเปลี่ยนแปลงและความมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ของอำเภอนี้อย่างทะลุปรุโปร่งในภารกิจ โครงการ Miracle Krabi ที่สุดแห่งการค้นหาความมหัศจรรย์เมืองกระบี่ ที่ผมวางแนวคิดนี้เพื่อทำงานให้สมาคมธุรกิจการท่องเที่วจังหวัดกระบี่และสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ ในการนำกระบี่ไปโปรโมต การขายภายใต้แนวคิด Miracle Krabi ที่งาน ITB ประเทศเยอรมนีในครั้งนั้น และประสบความสำเร็จด้วยดี จนทุกวันนี้ก็ยังใช้แนวคิดดังกล่าวในการส่งเสริมการขายตลอดมาทั้งภายในและภายนอกประเทศ

แน่นอนอำเภออ่าวลึกคืออำเภอที่เป็นที่สุดแห่งการค้นหาความมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด Miracle Krabi ของจังหวัดกระบี่

ย้อนไปในอดีตตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ อำเภออ่าวลึกก็เป็นแหล่งหนึ่งที่ค้นพบการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งอาศัยอยู่ตามเพิงตามถ้ำต่างๆ ริมทะเลมาเก่าก่อน และหลายที่ที่ยังมีหลักฐานยืนยันถึงเรื่องราวในยุคสมัยนั้น ซึ่งยังคงทนอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์มาจานถึงยุคปัจจุบัน

สระคริสตัล

ในยุคประวัติศาสตร์ อำเภออ่าวลึกเคยเป็นแขวงเมืองมาก่อน เรียกว่า “แขวงปากลาว” ตั้งอยู่ในบริเวณตำบลนาเหนือในปัจจุบัน ต่อมาได้เปลี่ยนจากแขวงปากลาวตั้งเป็นอำเภอ ชื่อว่า “อำเภอปากลาว” โดยมีขุนมโนทิพย์ดำรงตำแหน่งนายอำเภอคนแรก ต่อมาพระยารัษฏานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สภาเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ซึ่งปกครองเขตอำเภอปากลาวด้วย เห็นว่าสถานที่ตั้งอำเภอปากลาวขณะนั้นไม่เหมาะสมไม่เป็นศูนย์กลางของชุมาชน ตลอดจนการคมนาคมไม่สะดวก จึงดำริให้ย้ายที่ทำการอำเภอปากลาวจากตำบลนาเหนือไปอยู่ในท้องที่ตำบลอ่าวลึกใต้ ซึ่งเป็นชุมชนหนาแน่น และให้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่เป็น “อำเภออ่าวลึก” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 หรือเมื่อราว 97 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ปัจจุบันอำเภออ่าวลึกเป็นอำเภอเล็กๆ ซึ่งมีพื้นที่ราว 847 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดกระบี่ ภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนที่มีรูปร่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ สลับกับป่าดงดิบป่าพรุ และพื้นที่การเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา ตอนเหนือสุดติดกับอำเภอปลายพระยาของจังหวัดกระบี่ และอ่าวทับปุดของจังหวัดพังงา ทิศใต้จรดอำเภอเมืองกระบี่ ทิศตะวันออกจรดอำเภอปลายพระยาและอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ส่วนทิศตะวันตกจรดทะเลอันดามัน อำเภออ่าวลึกจึงเป็นดินแดนเล็กๆ ชายฝั่งอันดามันทางเหนือสุดของจังหวัดกระบี่ที่ต่อแดนกับจังหวัดพังงานั่นเอง

เส้นทางสายหลักที่ตัดผ่านและเดินทางมายังอำเภออ่าวลึกได้โดยสะดวก คือทางหลวงหมายเลข 4 เป็นแนวเหนือใต้จากจังหวัดพังงาสู่จังหวัดกระบี่ และยังมีถนนสายรองอีก 2 สายคือ ทางหลวงหมายเลข 415 และหมายเลข 44 เชื่อมต่อกับจังหวัดสุราษฏร์ธานี กับมีทางหลวงหมายเลข  4035 เชื่อมต่อกับอำเภอใกล้เคียง คืออำเภอปลายพระยา และทางหลวงหมายเลข 4039 สู่ท่าเรือแหลมสักที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางทะเล นอกนั้นเป็นถนนสายย่อยที่นำไปสู่แหล่งท่องเที่ยวได้อีกหลายแห่ง ที่สำคัญคือทางหลวงหมายเลข 1002 ที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านอ่าวลึกใต้ไปสู่จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นเส้นทางลัดที่คนท้องถิ่นและนักเดินทางรู้จักกันดี คือเส้นทางควนขนมจีน-ปากคลองมะรุ่ย ตำบลอ่าวลึกใต้ เส้นทางนี้จะมีแยกทางหลวงหมายเลข 4012 ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอยู่หลายแห่งให้เที่ยวชม

เริ่มจากตัวอำเภออ่าวลึก ไม่ไกลจากสี่แยกตลาดนาเหนือ คุณสามารถเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีได้เป็นแห่งแรก ที่นี่นับเป็นป่าใหญ่อยู่ในใจกลางชุมชนเมืองแห่งเดียวของอำเภออ่าวลึก มีเนื้อที่เล็กเพียง 37.5 ไร่ เป็นลักษณะของป่าดงดิบอยู่ระหว่างหุบเขา ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้ และมีสายน้ำตกที่ไหลหลั่งเป็นธารน้ำเล็กๆ ออกมาจากถ้ำน้ำลอดใต้ภูเขาหินปูนสูงชันลงสู่อ่างน้ำธรรมชาติใหญ่น้อยเป็นเชิงชั้น เรียกว่า “ธารอโศก” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น “ธารโบกขรณี” สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดปี และดูให้ดีจะรู้ว่างดงามราวกับสระอโนดาตแห่งป่าหิมพานต์ในจินตนาการ เวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวควรเป็นช่วงกลางวัน ระหว่างเวลา 10.00-14.00 น. ที่แสงแดดส่องผ่านแมกไม้ลงสู่อ่างน้ำต่างๆ ทำให้น้ำเปล่งประกายสีเขียวสดใสอย่างงดงาม และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ดีของชุมชนคนอ่าวชึกและนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ได้มาเยี่ยมเยือน

ด้วยเหตุที่ภูมิประเทศของพื้นที่อำเภออ่าวลึกประกอบไปด้วยภูเขาหินปูนสลับซับซ้อนอยู่มากมาย ใครที่ไปเยือนอ่าวลึกก็คงได้พบว่า ตลอดแนวเทือกเขาหินปูนเหล่านี้มักจะมีเถื่อนถ้ำสวยงามซุกซ่อนหยู่หลายต่อหลายแห่ง ทั้งที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่และที่เพิ่งพบใหม่ บ้างก็สวยงามระดับเอเชีย เป็เพชรเม็ดงามทางการท่องเที่ยวอย่างประเมินค่ามิได้

สำหรับการเที่ยวชมถ้ำอำเภออ่าวลึกนั้น มีถ้ำที่สวยงามให้เที่ยวชมอยู่ถึง 4 ถ้ำด้วยกัน คือ ถ้ำเพชร ถ้ำสระยวนทอง ถ้ำคลัง และถ้ำหนองทุ่งนา การเดินทางสามารถเริ่มต้นได้ที่สี่แยกตลาดเหนือ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งหน้าลงมาทางใต้ เป็นเส้นทางไปอำเภอเมืองกระบี่ ราว 1 กิโลเมตรจะมีเส้นทางแยกซ้ายมือเข้าไปอีก 1 กิโลเมตร สู่สำนักสงฆ์ถ้ำเพชรซึ่งเป็นที่ตั้งของถ้ำเพชร ความลึกของถ้ำเพชรประมาณ 200 เมตร แต่จุดเด่นอยู่ที่หินงอกสินย้อยภายในถ้ำซึ่งจะเป็นเกล็ดเพชรระยิบระยับผิดกับถ้ำอื่นใด และภายในยังมีโพลงถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง มีรูปลักษณ์เหมือนกับรูปหัวใจ มีหินงอกหินย้อยรูปต้นโพธิ์อยู่กลางใจให้เป็นปริศนาว่าธรรมชาติสรรค์สร้างหัวใจถ้ำเช่นนี้ขึ้นได้อย่างไร เชื่อว่ามีอยู่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย หากใครชอบค้นหาชีวิตถ้ำที่นี่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมงมุมถ้ำ ตุ๊กแกถ้ำตัวน่ารัก รวมทั้งหนอนถ้ำที่สร้างเส้นใยระโยงระยางตามผนังถ้ำราวสร้อยเพชรยามต้องแสงไฟ

จากปากทางแยกเข้าถ้ำเพชร หากเดินทางต่ออีกราว 1 กิโลเมตรตามทางหลวงหมายเลข 4 แล้วแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะพบบึงน้ำใหญ่อยู่ปากถ้ำแห่งหนึ่งใต้ภูเขาหินปูน คือถ้ำสระยวนทอง ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นโลเคชั่นถ่ายภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ดมาแล้ว และมีความสวยงามด้วยหินงอกหินย้อยที่ค้ำยันกันภายในโถงถ้ำเป็นเสาหินเรียงราย ภายในถ้ำมีธารน้ำไหลลอดออกสู่ปากถ้ำ สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เส้นทางเข้าถึงถ้ำเดินทางได้โดยง่าย

ต่อจากถ้ำสระยวนทอง หากจะเดินทางต่อไปตามทางหลวงหมายเลข 4 อีกราว 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าไปอีกราว 1 กิโลเมตร จะถึงถ้ำหนองทุ่งนา ถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำที่เพิ่งพบใหม่และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ไม่นานนัก การเข้าไปเที่ยวชมค่อนข้างจะต้องผจญภัย เดินยากพอสมควร และมีช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว กล่าวคือ จะท่องเที่ยวได้เฉพาะในฤดูแล้งที่น้ำลด หลังจากเดือนมกราคมเป็นต้นไป จนถึงต้นฤดูฝนก่อนที่น้ำจะเพิ่มระดับจนเดินเข้าไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นถ้ำที่มีธานน้ำไหลผ่าน และถึงแม้จะเป็นฤดูแล้ง พื้นถ้ำก็จะเต็มไปด้วยโคลน ทำให้เดินค่อนลำบาก เพราะนอกจะมีหินย้อยที่สวยงามราวกับม่านระย้าที่พลิ้วไหวอยู่ภายในถ้ำ อยู่มากบริเวณช่วงแรกของถ้ำแล้ว ด้านในของถ้ำยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวหน้ายักษ์กุมภกรรณที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งยากจะพบได้ ณ ถ้ำแห่งใด  โดยเฉพาะที่สำคัญ ด้านในสุดเท่าที่สำรวจพบขณะนี้มีสระน้ำคริสตัลสีฟ้าสดใสอยู่แห่งหนึ่ง งดงามคุ้มค่าต่อการที่จะบุกบั่นเข้าไปให้ถึงอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ถ้ำหนองทุ่งนายังไม่ได้สิ้นสุดความลึกของถ้ำแต่เพียงเท่านี้ เพราะต่อจากสระคริสตัล หากว่ายน้ำข้ามไปอีกฟากหนึ่งของสระก็ยังมีหลืบถ้ำให้สำรวจลึกต่อเข้าไปได้อีก ปริศนาของถ้ำหนองทุ่งนาจึงไม่มีที่สิ้นสุด และรอคอยการสำรวจอย่างละเอียดในวันข้างหน้าต่อไป

ถ้ำคลัง

เส้นทางเยวกันกับที่เข้ามาจากปากทาง หากแยกซ้ายมือราว 2 กิโลเมตร ฟากตรงข้ามกับถ้ำหนองทุ่งนาจะมีภูเขาหินปูนลูกหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่ เป็นเขาลูกโดด และใต้ภูเขาหินปูนลูกนี้มีถ้ำที่สวยงามที่สุดอยู่แห่งหนึ่ง คือถ้ำคลัง ที่นักสำรวจถ้ำกล่าวกันว่าสวยงามระดับแนวหน้าของเอเชีย ถ้ำแห่งนี้จำเป็นต้องมีคนนำทาง เพราะมีความลึกและสลับซับซ้อนมาก ภายในมีโถงถ้ำต่างๆ ถึง 13 ห้อง แต่สำหรับคนที่ไม่ใช่นักสำรวจถ้ำ แค่เพียง 3 ห้องแรกที่เข้าไปชมก็ยืนยันว่าสวยงามเกินพอและควรค่ากับการได้ชมเป็นอย่างยิ่ง โดยห้องแรกจะต้องเดินผ่านปากถ้ำแคบๆ เข้าไป มีหินงอกหินย้อยสวยงาม และมีเสาหินงอกสูงใหญ่แท่งหนึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางถ้ำ จากนั้นถ้าเดินต่อเข้าไปอีกก็เป็นโพรงถ้ำสวยงามแปลกตา ภายในจะพบหินย้อยเป็นหินควอตซ์รูปปะการังสีขาวสะอาด รวมทั้งกลุ่มหินย้อยรูปหลอดกาแฟนับพันๆ แท่งที่ย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ บ้างก็เป็นแท่งหินงอกอยู่ตามพื้นถ้ำสีขาวบริสุทธิ์งดงามยิ่งนักและถ้าเข้าไปถึงห้องที่สาม ก็จะพบหินย้อยสีทองรูปม่านน้ำตก ซึ่งตกลงมายังอ่างน้ำเล็กๆ ที่ก่อตัวเป็นชั้นด้วยหินปูนที่พอกจับจนเป็นอ่างน้อยใหญ่สวยงามแปลกตาอยู่ด้านใน ส่วนใครจะเข้าไปลึกกว่านี้ ก็จะเป็นลักษณะของการท่องเที่ยวแบบผจญภัยอย่างแท้จริง เพื่อทะลุออกไปยังอีกด้านหนึ่งของถ้ำ ซึ่งต้องใช้เวลาและความชำนาญอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า เมื่อทะลุออกไปยังอีกฟากหนึ่งแล้วก็จะไปพลกับถ้ำอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่คู่ขนานกัน ถ้ำแห่งนี้นับเป็นสุดยอดแห่งการผจญภัยอีกแบบหนึ่ง เพราะเป็นถ้ำน้ำ ซึ่งมีคนบอกว่าสามารถล่องเรือออกไปได้จนทะลุกลับออกมาทางด้านปากทางที่เราเข้าไปยังถ้ำคลังแต่แรกอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นการท้าทายอย่างยิ่ง และรอคอยนักผจญภัยที่จะเข้าไปสำรวจเพื่อความกระจ่างถึงถ้ำหลงสำรวนจี้ในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า

อีกกลุ่มหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวอำเภออ่าวลึกจะอยู่ที่บ้านถ้ำเสือขนทางหลวงหมายเลข 4012 ที่แยกจากทางหลวงหมายเลข 1002 โดยเริ่มต้นจากสี่แยกตลาดใต้ หน้าที่ว่าการอำเภอ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1002 ราว 2 กิโลเมตร จะมีทางแยกไปสู่ท่าเรือต้นขาม ตามทางหลวงหหมายเลข 4012 เส้นทางสายนี้จะถึงแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรก นั่นคือถ้ำนางฟ้า ที่อยู่หางไปราว 3 กิโลเมตร ถ้ำแห่งนี้เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามมาก แม้จะไม่ติดอยู่ใน 50 Miracle Krabi แต่ก็มีความงามและความยิ่งใหญ่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะปากถ้ำซึ่งกว้างใหญ่โตมโหฬารและมีหินย้อยเป็นม่านลงมา เมื่อปีนขึ้นไปจะมีลักษณะคล้ายเป็นโดมอยู่กลางถ้ำ สามารถเดินรอบได้ และจะเห็นมุมต่างๆ รอบโพรงถ้ำซึ่งเต็มไปด้วยหินย้อย ที่สำคัญ ยังมีซากฟอสซิลหอยโบราณกองอยู่จำนวนมากมายตามพื้นถ้ำ เป็นหลักฐานได้อย่างหนึ่งว่าครั้งหนึ่งแผ่นดินแถบนี้คงเคยจมอยู่ใต้ทะเลมาก่อน และมีการยกตัวขึ้นในภายหลังจนกลายมาเป็นเทือกเขาหินปูนตั้งตระหง่านและเถื่อนถ้ำมากมายอยู่ในบริเวณนี้

บนเส้นทางสายเดียวกันนี้ ถัดไปอีกราวครึ่งกิโลเมตรจะมีทางแยกขวามือเข้าสู่วัดถ้ำเสือน้อย เป็นวัดเล็กๆ มีถ้ำที่น่าสนใจอยู่แห่งหนึ่งภายในบริเวณวัด บนฝาผนังถ้ำจะมีหินย้อยแปลกตา รูปร่างคล้ายเจ้าเสือตัวน้อยยืนอยู่บนผนังถ้ำ นับเป็นความน่าอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่าถ้ำเสือน้อย อย่างไรก็ดี อาจต้องใช้จินตนาการในการดูอยู่บ้างตามสมควร แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าหากได้ผ่านมาเที่ยวแถบบ้านถ้ำเสือนี้แล้ว

น้ำผุดปรบมือ

และจากวัดถ้ำเสือน้อยนี้เอง จะมีเส้นทางลูกรังอ้อมไปทางด้านหลังวัดผ่านสวนยางพาราไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่มีความแปลกและน่าสนใจ คือน้ำผุดปรบมือ ซึ่งหากไม่ใช้เส้นทางนี้ จะเดินทางตามถนนใหญ่ต่อไปอีกราว 2 กิโลเมตรก็จะไปถึงได้เช่นกัน ลักษณะของน้ำผุดปรบมือนี้หากจะว่าไปตามสภาพของธรรมชาติ ก็คือตาน้ำผุดใต้ดินนั่นเอง ที่ผุดขึ้นมาเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ ภายใต้ผืนป่าพรุอันร่มรื่น อยู่ติดกับชายเขตสวนยางซึ่งเมื่อเราเดินลงไปดูก็จะพลสภาพที่เป็นแอ่งกระทะของหุบเล็กๆ หล่อเลี้ยงอยู่ แต่ที่แปลกและมีเรื่องราวเล่าขานก็คือ เมื่อเราปรบมือจะดูเหมือนว่าอัตราการผุดขึ้นมาของน้ำจะทวีจังหวะเร็วขึ้นได้อย่างประหลาด ตรงนี้อาจเป็นความรู้สึกที่ผสมผสานกับการเล่าขานของคนท้องถิ่นหรือไม่ โปรดใช้วิจารณญาณในการเที่ยวชมและทดลองเด้วยตนเอง

หาดทรายร้อน

สุดทางสายนี้ซึ่งอยู่ต่อจากน้ำผุดปรบมือไปราว 2 กิโลเมตร คือท่าเรือต้นมะขาม ที่นี่เป็นต้นทางที่จะไปต่อยังแหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์อีกแห่งหนึ่งคือ หาดทรายร้อน หาดทรายร้อนแห่งนี้โดยธรรมชาติจะไม่สามารถพบเห็นได้ทุกวัน เนื่องจากมันเป็นหาดหินที่จมอยู่ใต้ลำคลอง และจะผุดโผล่ขึ้นาเฉพาะในช่วงเวลาวันน้ำใหญ่ที่น้ำขึ้นมากลงมากเท่านั้น คือช่วงเวลาจากขึ้น 13 ค่ำไปจนถึงราวแรม 5 ค่ำของทุกเดือน เวลาที่ดีที่สุดคือวันที่ตอนเช้าน้ำลงและหาดทรายที่เป็นก้อนกรวดขนาดเล็กจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นอยู่ริมคลอง ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ใต้บริเวณนี้สันนิษฐานว่าคงจะเป็นรอยแยกของแผ่นดินของรอยเลื่อนมะรุ่ยที่มีพลังความร้อนจากใต้พิภพแทรกขึ้นมาจึงทำให้ตลอดชายหาดแห่งนี้ร้อนจนเป็นไอพวยพุ่งให้เห็น และไม่สามารถลงเดินบนหาดนี้ได้ด้วยเท้าเปล่าอันเนื่องมาจากความร้อน หรือหากจะลองเอาเท้าแข่ลงไปที่ริมคลอง ก็จะพบว่าบริเวณที่ใกล้กับชายหาดหินนี้จะมีน้ำที่ร้อนเช่นกัน เหมาะกับการแช่ทำสปาเท้าอย่างมาก ส่วนโคลนที่อยู่ตามริมฝั่งคลองแถบนี้ก็จะมีลักษณะละเอียดเนียนนุ่ม มีคนลองเอามาทาหลังพอกตัว ก็ได้ความว่ามีคุณสมบัติที่ดีไม่แพ้ที่ไหนเช่นกัน ปัจจุบันชาวบ้านได้เรียนรู้ถึงวิถีชิวิตที่ผสมผสานกลมกลืนไปกับหาดทรายร้อนนี้ด้วยการจัดการด้านบริการสุขภาพ มีการนำแคร่ไม้ไผ่ไปวางเรียงบนหาดทรายร้อนให้แขกนอนรับไออุ่นที่พวยพุ่งและบริการนวดแบบสปาไปด้วย นัยว่าผ่อนคลายดีนักแลและเชื่อว่าเป็นสปาธรรมชาติในลักษณะนี้ที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย หรือเผลอๆ อาจจะเป็นแห่งเดียวในโลกด้วยก็ยังอาจเป็นได้

บนเส้นทางสายเดียวกันนี้เอง ถ้าไม่แยกขวาเข้าบ้านถ้ำเสือ หากแต่แยกซ้ายมือไปอีกราว 2 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้านบ่อท่อที่อยู่ติดริมคลองชายป่าดกงกางแห่งหนึ่ง ที่นี่เป็นต้อนทางที่จะพายเรือคายักไปเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ ถ้ำลอดใต้ ถ้ำลอดเหนือ และถ้ำผีหัวโต ใช้เวลาพายเรือไปกลับราว 2 ชั่วโมง ซึ่งหากเดินทางมาจากทางท่าเรือต้นขามซึ่งไกลกว่า ก็จะได้พบวิวทิวทัศน์อีกแบบหนึ่ง แต่ก็สามารถมาพายคายักที่นี่ได้เช่นกัน

บรรยากาศโดยรวมของการพายคายักที่นี่ คือการพายไปตามลำคลองในป่าโกงกาง มีวิวทิวทัศน์ของภูเขาหินปูนสลับกับป่าโกงกางอันอุดมสมบูรณ์เป็นระยะ ตลอดเส้นทางอาจได้เห็นลิงหรือนกบางชนิด เช่น นากกระเต็น นกยาง และอื่นๆ

 

อ่านต่อ  อ่าวลึก ดินแดนอัศจรรย์ริมฝั่งอันดามัน จังหวัดกระบี่  ตอนที่ 2

ขอบคุณ  อสท

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Exit mobile version