ดำน้ำดูปะการัง หมู่เกาะทะเลพม่า

ดำน้ำดูปะการัง หมู่เกาะทะเลพม่า
ดำน้ำดูปะการัง หมู่เกาะทะเลพม่า

ความอุดมสมบูรณ์ของหมู่เกาะทะเลพม่านั้นเป็นที่เลื่องลือกันมาช้านาน ด้วยเพราะเมียนม่าร์มีเกาะน้อยใหญ่มากมายกว่า 800 เกาะในทะเลอันดามัน ซึ่งพื้นที่ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลของหมู่เกาะทะเลพม่าที่เรียกว่า Mergui Archipelago นั้น แทบจะไม่มีผู้คนอยู่อาศัยบนเกาะส่วนใหญ่จึงมีสภาพสมบูรณ์ด้วยป่าไม้เขียวขจีเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ใต้ท้องทะเลก็ยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้เขียวขจีเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ใต้ท้องทะเลยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยฝูงปลาและสรรพชีวิต และเป็นทะเลที่มีการทำประมงน้อยเมื่อเที่ยบกับท้องทะเลบ้านเรา ซึ่งเมียนม่าร์นั้นเป็นประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร กฏหมายหรือข้อบังคับจึงค่อนข้างจะเข้มงวด การลักลอบทำลายทรัพยากรหรือการบุกรุกพื้นที่เกาะแทบไม่มีให้เห็น เมื่อหมู่เกาะทะเลพม่ายังคงเป็นธรรมชาติและอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นที่แห่งความท้าทายสำหรับการเดินทางเข้าไปสัมผัส โดยเฉพาะกิจกรรมการดำน้ำในหมู่เกาะทะเลพม่า

สีสันอันหลากหลายของหมู่ปะการังอ่อนที่เกาะแบล็กร็อก

การเข้าไปดำน้ำในเขตหมู่เกาะทะเลพม่านั้นเริ่มขึ้นเมื่อราว 20 ปีก่อนโดยมีผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำของไทย ได้เจรจาติดต่อขออนุญาตนำเรือเข้าไปดำน้ำในเขตหมู่เกาะทะเลพม่า โดยออกจากท่าเรือชายแดนจังหวัดระนอง ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของเมียนมาร์ที่เกาะสอง ซึ่งนักดำน้ำจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการดำน้ำให้กับรัฐบาลเมียนมาร์คนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐในการเข้าไปดำแต่ละทริป และก็ปรับราคาขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันนี้นักดำน้ำต้องจ่ายกันสูงถึงคนละ 300 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งก็ต้องชื่นชมรัฐบาลเมียนมาร์ครับ ที่เขาสามารถเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าไปใช้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของเขาได้เป็นกอบเป็นกำ ผิดกับทะเลไทย ที่เก็บค่าธรรมเนียมการเข้าไปดำน้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลเพียงวันละ 200 บาท ต่อหัวเท่านั้น ก็ไม่รู้ว่าคุ้มค่ากับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรหรือไม่

หมึกยัก หรือหมึกลาย เกาะนิ่งพรางตัวอยู่บนโขดปะการัง

ผมเองมีโอกาสร่วมเข้าไปดำน้ำสำรวจทะเลเมียนมาร์ในช่วงบุกเบิกตั้งแต่เมื่อราว 20 ปีก่อน โดยเข้าไปร่วมสำรวจกับทีมดำน้ำของบริษัทได๊ฟ์มาสเตอร์ และมีการแวะเวียนเข้าไปดำน้ำที่นั่นอีกหลายครั้งในรอบ 20 ปี แต่ระยะหลังนี้ก็ห่างเหินการเข้าไปดำมานานพอสมควร ฤดูกาลดำน้ำปีนี้มีโอกาสกลับไปดำสำรวจอีกครั้ง โดยเดินทางเข้าไปกับเรือภาณุนี เรือบริการดำน้ำมาตรฐานระดับแนวหน้าอีกลำของเมืองไทยที่มีการให้บริการมาตรฐานของเรือ Liveaboard ชั้นนำของโลกเลยทีเดียว นั่นจึงทำให้ทริปดำน้ำหมู่เกาะทะเลพม่าครั้งนี้มีทั้งกลุ่มนักดำน้ำจากฮ่องกง กลุ่มนักดำน้ำจากสเปน นักดำน้ำชาวอเมริกัน บินข้ามฟ้ามาใช้บริการในทริปนี้ด้วย

จากท่าเรือเกาะสอง เมื่อผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเสร็จ เรือภาณุนีก็มุ่งออกทะเลกว้างสู่เกาะเซนต์แมตธิวเป็นจุดหมายแรก ซึ่งเกาะแห่งนี้มีขนาดใหญ่ ในอดีตเป็นเขตหวงห้ามทางทหาร แต่ปัจจุบันก็อนุญาตให้เข้าไปดำน้ำได้ ซึ่งเราลงดำกันหน้าปากถ้ำที่ทางเข้าใต้ภูเขาเป็นเสมือนปากประตูเข้าสู่ทะเลใน สภาพใต้น้ำบริเวณนั้นไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่นัก แต่จุดที่น่าสนใจกลับเป็นทะเลในรูปวงรีขนาดเท่าสนามฟุตบอลที่มีกำแพงภูผาสูงชันล้อมรอบมีเพียงช่องลอดเล็กๆ ใต้กำแพงผาขนาดกว้างสัก 15 เมตร เป็นช่องขนาดกว้างพอที่เรือยางจะแล่นเข้าไปได้ เมื่อลอยเรือผ่านเข้าไปภายในก็จะพบกับแนวปะการังที่เป็นเสมือนสันเขื่อนกั้นน้ำในทะเลในอีกแนว และในวันที่เราเดินทางไปเป็นวันขึ้น 3 ค่ำ ที่น้ำทะเลยังคงขึ้นสูงลงสูงอยู่ ยามที่น้ำลงน้ำภายในทะเลในจึงไหลออกกลับไปยังทะเลด้านนอกจนมองเห็นปะการังโขดปะการังเขากวาง โผล่เหนือพื้นน้ำเป็นบริเวณกว้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งชีวิตที่บอบบางอย่างดอกไม้ทะเล หอยมือเสือ หอยเม่น ก็ยังติดแห้งอยู่กลางอากาศ ซึ่งนับเป็นภาพที่แปลกตาน่ามหัศจรรย์ ที่ชีวิตซึ่งเคยอยู่ใต้ผืนน้ำเหล่านี้จะติดแห้งในอากาศได้เป็นระยะเวลายาวนานจากน้ำลง และสามารถรอคอยอยู่เนิ่นนานหลายชั่วโมงจนกว่าน้ำทะเลจะกลับขึ้นมาต่อเติมชีวิตอีกครั้ง

เกาะปะการังอ่อนที่เกาะแบล็กร็อก

ค่ำนั้นเรือภาณุนีพาเราแล่นฝ่าความมืดของท้องทะเลกว้างมุ่งหน้าสู่เกาะห่างไกล เกาะ Westem Rocky หากเป็นสมัยก่อนก็น่าอันตรายอยู่ไม่น้อย แต่ในปัจจุบันเรือบริการดำน้ำที่ทันสมัยนั้น มีอุปกรณ์เดินเรือไฮเทกช่วยในการเดินเรือ เช่น เครื่องบอกตำแหน่งและทิศทางจากดาวเทียม (GPS) มีการนำร่องด้วยเรดาร์ที่เป็นเสมือนตาซึ่งมองเห็นในความมืด มีซาวเดอร์บอกระดับความลึกของท้องทะเล การเดินทางจึงถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย

เช้าตรู่ของวันใหม่เราจึงได้ลงดำสัมผัสหลากสีสันของปะการังอ่อนและถ้ำใต้ทะเลของเกาะ Westem Rocky ซึ่งที่นี่มีถ้ำใต้ทะเลที่สามารถดำจากใต้น้ำด้านตะวันตกมาโผล่ทะลุทางด้านตะวันออกของถ้ำได้ ระยะทางราว 30 เมตร ภายในถ้ำแต่ก่อนนั้นเคยเต็มไปด้วยกุ้งมังกรขนาดตัวเท่าท่อนแขนมากมายหลายสิบตัว เกาะกันอยู่ตามซอกหลืบของผนังถ้ำที่เคลือบด้วยฟองน้ำสีเหลืองสวยงาม แต่วันนี้ผมมองเห็นกุ้งมังกรเหลืออยู่เพียง 3-4 ตัวเท่านั้น

นอกจากกุ้งมังกรที่เคยมีอยู่มากมายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ดูจะหายหน้าหายตาไปจนแทบมองไม่เห็นก็คือฉลาม ซึ่งในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อนนั้น ถ้าลงดำมุดถ้ำใต้น้ำที่ใดในเมียนมาร์ไม่ว่าจะเป็นที่เกาะ Westem Rocky แห่งนี้ หรือที่ถ้ำฉลาม (Shark Cave) ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กที่มีถ้ำใต้ทะเลเช่นกัน เราจะพบเจอเจ้าฉลามเทา (Grey Reef Shark) ว่ายวนเวียนอยู่ทีแถวๆ ปากถ้ำอยู่บ่อยๆ และมักจะเจอฉลามทราย หรือฉลามพยาบาล (Nurse Shark) นอนหมอบอยู่ตามพื้นถ้ำกันมากมายหลายตัว แต่ในการลงดำน้ำในทริปนี้ เราแทบจะไม่พบฉลามเหลืออยู่เลย ไม่ว่าฉลามพันธุ์ไหน จะพอมีแวบผ่านมาให้เห็นได้ก็คงจะเป็นเจ้าฉลามเทาตัวขนาดราวเมตรกว่าๆ ว่ายผ่านเข้าแถวๆ หัวเกาะหินดำ หรือที่เรียกกันว่าแบล้กร็อก (Black Rock) ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ตอนเหนือ ลักษณะเป็นเกาะหินชันขนาดเล็ก ยาวราว 40 เมตร ตั้งโดดเด่นขึ้นมากลางทะเล ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมของฝูงปลาขนาดต่างๆ ซึ่งเราพบฝูงปลาขนาดต่างๆ ซึ่งเราพบฝูงปลาซาร์ดีนจำนวนมากมายกับปลากะตักที่ว่ายครอบคลุมกันอยู่เป็นกลุ่มๆ รอบผาหินใต้น้ำ และยังมีฝูงปลาเรนโบว์ทูน่าว่ายเวียนมากันเป็นแถวๆ

พี่แบล็กร็อกแห่งนี้ เป็นจุดหนึ่งที่มักจะพบปลาขนาดใหญ่อย่างฉลามวาฬ กับกระเบนราหูได้บ่อยครั้ง ซึ่งทริปนี้ก็เป็นโชคดีของเราที่พบกระเบนราหูขนาดใหญ่ว่ายวนเวียนผ่านไปมารอบเกาะไม่ต่ำกว่า 4 ตัว แต่ละตัวมีขนาดและลวดลายบนหลังต่างกัน นั่นจึงทำให้เราสามารถแยกแยะมันออกว่าเป็นคนละตัว มีนานๆ ครั้งที่มันว่ายวนผ่านเข้ามาคราวเดียวกันถึง 2 ตัว และสุดท้ายยังมีฉลามวาฬตัวขนาดยาว 4-5 เมตร ว่ายเวียนผ่านมาให้ชม แม้นจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่นั่นก็เป็นเครื่องยืนยันความอุดมสมบูรณ์ของสรรพชีวิตใต้ท้องทะเลเกาะแบล็กร็อกแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี และที่ผมประทับใจเสมอเมื่อมาดำที่เกาะแบล็กร็อกก็คือสีสันของปะการังอ่อนที่งดงามสดใส มีทั้งสีแดงสด สีชมพูเข้ม ชมพูอ่อน สีขาว สีเหลือง เรียกว่าสดใสจนราวกับเป็นสวนสวรรค์ใต้ท้องทะเลเลยทีเดียว

ยามเย็นดอกไม้ทะเลจะหุบหนวดไว้

ในทริปนี้เรายังแล่นเรือขึ้นไปจนถึงเกาะทาวเวอร์ร็อก (Tower Rock) ซึ่งถ้าลากเส้นตัดขวางตามแนวตะวันออก-ตะวันตกแล้ว เกาะทาวเวอร์ร็อกแห่งนี้ก็จะตั้งอยู่สูงพอๆ กับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ของบ้านเรา ซึ่งนับว่าเราแล่นเรือขึ้นมาสูงมากเลยทีเดียว แต่ที่นี่ก็นับเป็นไฮไลต์ของทริปนี้ เพราะบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของฝูงกระเบนปีศาจ หรือ Devil Ray ซึ่งเป็นกระเบนที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกับกระเบนราหู หรือ Manta Ray แต่กระเบนปีศาจมีขนาดตัวเล็กกว่า แต่แม้จะมีขนาดเล็กกว่า กระเบนปีศาจก็มีความน่าตื่นตาตื่นในไม่แพ้กระเบนราหู เพราะมันมักอาศัยอยู่เป็นฝูง บางครั้งอาจจะมีการรวมฝูงกันนับร้อยๆ ตัวเลยทีเดียว ซึ่งที่ทาวเวอร์ร็อกแห่งนี้ก็เคยมีรายงานการพบมันรวมฝูงกันนับร้อยๆ ตัวเลยทีเดียว ซึ่งที่ทาวเวอร์ร็อกแห่งนี้ก็เคยมีรายงานการพบมันรวมฝูงกันมากถึง 40-50 ตัวเลยทีเดียว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าในวันที่เราลงดำน้ำกัน น้ำทะเลที่นั่นค่อนข้งขุ่นจนแทบจะมองอะไรไม่เห็น ซึ่งมันอาจว่ายเวียนกันอยู่รอบๆ ตัวเรามากมาย แต่ด้วยกระแสน้ำพัดแรงและน้ำขุ่น จึงทำให้เราไม่อาจจะพบเจ้าปีศาจแสนซนเหล่านี้

การดำน้ำหมู่เกาะทะเลพม่าทริปนี้ยังคงงดงามน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ทำให้พวกเราที่เดินทางไปสัมผัสผิดหวัง แต่สิ่งที่ผมสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงไปได้ชัดก็คือ ปริมาณเรือประมงขนาดใหญ่ของเมียนมาร์มีมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศเมียนมาร์กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจ บ้านเมืองเจริญเติบโตมากขึ้น การค้าการลงทุนมีมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น อาหารทะเลก็คงเป็นที่ต้องการของตลาดยิ่งกว่าเดิม นั่นจึงทำให้มีการลงทุนทำเรือประมงขนาดใหญ่ออกจับปลาในทะเลมากขึ้น ซึ่งถ้าวันนี้ปลาในท้องทะเลถูกจับมามากเท่าใด พรุ่งนี้ท้องทะเลก็จะเหลือปลาให้จับ เหลือปลาให้ดำดูได้ยากยิ่งขึ้นเท่านั้น

 

ขอบคุณ  อสท

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Exit mobile version