คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน
คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

ลมบ่ายต้นฤดูร้อนไล้ระบายเนื้อตัว ขณะใครสักคนปล่อยตัวเองล่องลอยไปในลำคลองอันเงียบนิ่งสายหนึ่งของอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ภาพทางตาเลื่อนไหลไปตามจังหวะเบาหนักเครื่องยนต์ของคนเรือ

เรือกสวนลับตาซ่อนตัวตนอันกว้างใหญ่อยู่เหนือตลิ่ง ขณะถ้อยคำของบางคนที่ว่าคลองสายนี้ตายแล้วล่องลอยอยู่ในความรู้สึก สายน้ำเงียบเหงา ตรงหน้าทิ้งรูปรอยความคึกคักเติบโตไว้ในบ้านเรือนริมน้ำที่เคยเป็นร้านค้าใหญ่โตท่าน้ำกว้างขวาง ตลอดจนคานเรือและอุปกรณ์ประมงร้างราการหยิบจับเนิ่นนาน

บางอย่างหลากไหลไปตามคืนวันไร้การหวนกลับ แม้ว่าใครหลายคนจะพยายามยึดยื้อมันไว้เท่าไหร่ก็ตาม ต่อหน้าลำน้ำสายโบราณ ปัจจุบันอันจริงแท้หลงเหลือเพียงภาพการดำรงตนหากินไปกับแผ่นดินผืนเดิม ทั้งต่อเติมหรือลดทอนปรับเปลี่ยน

จนหลายวันต่อมา เมื่อใบหน้าของชาวสวนเต็มไปด้วยรอยยิ้มในพืชพรรณผลไม้หลากหลายทีผลัดเวียนกันออกผลตามฤดูกาล แต่ละเรียกสวนคล้ายจิกซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่กระจัดกระจายไปตามการหมุนเปลี่ยนของวัยเวลา ทว่าเมื่อเรียงร้อยต่อประสาน ภาพของชุมชน ณ ลุ่มน้ำแห่งหนึ่งของนครปฐมก็กระจ่างชัดคงทน

คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

ที่ตำบลคลองจินดา พี่น้องชาวสวนที่นี่รู้จักและมั่นใจว่าสายน้ำไม่มีวันอ่อนแรง แม้จะห่างพ้นมันมานาน ทว่ามันยังสมบูรณ์มีค่าเสมอกับต้นไของพวกเขา และไม่แตกต่างจากผืนแผ่นดินที่โอบอุ้มชีวิตให้แข็งแรงยั่งยืน

แม้ว่าคนข้างนอกจะพยายามเลือกมองแต่อดีตของพวกเขาผ่านเพียงด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม

ยามสายสะท้อนแดดแรงร้อนวิบวับลงบนถนนสายย่อยที่ลากผ่านหน้าวัดวังน้ำขาว เมื่อเราเข้ามาเยือนพื้นที่กว้างขวางราว 16,374 ไร่ ของตำบลคลองจินดา ผืนแผ่นดินที่เปรียบราวตะกร้าผลไม้ของคนนครปฐม

โลกรอบด้านเขียวครึ้มเมื่อเราผ่านพ้นถนนใหญ่และเลียบเลาะตัวเองเข้าริมลำคลองที่รายล้อมไปด้วยร่องสวน กลางฟ้าใสสดแห่งฤดูร้อน ความเคลื่อนไหวตกหล่นเรียงรายอยู่ในหมู่บ้านราว 14 หมู่ของคลองจินดา

แผ่นดินโบราณแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี ผืนนี้ตกทอดความเก่าแก่ไว้ในเวลาหลายร้อยปี ด้วยความที่มี “ดินดำ น้ำดี” แผ่นผืนริมคลองจินดาจึงสั่งสมเรื่องราวด้วยการหักร้างถางพงเพื่อทำกิน จากทุ่งนากว้างไกลไพศาบ สู่แดนดินที่ว่ากันว่าปลูกอะไรก็งอกงาม

ในอดีต พื้นที่คลองจินดาคือที่ดินของเจ้ามณฑลนครชัยศรีที่ปล่อยให้ชาวบ้านเช่าทำกิน ก่อนจะมีการซื้อขายเปลี่ยนแปลงโฉนดของราษฎรราวสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ในยุคที่ราคาทองคำมีราคา 400 บาท และการซื้อขายแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย ว่ากันว่าบางแปลงซื้อขายกันด้วยผ้าขาวม้าเพียงผืนเดียว

หากมองกันด้วยสายตาของนก โลกอีกใบของคนคลองจินดานั้นแยกย่อยออกมาตามสายคลองสาขา โดยมีคลองจินดาที่ขุดให้ตัดตรงเพื่อผันน้ำเข้าสู่พื้นที่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเส้นสายหลัก จากปากคลองที่ต่อกับแม่น้ำท่าจีนแถบตำบลบางช้าง ผ่านพ้นมาถึงที่ตั้งอันแสนสมบูรณ์ของคลองจินดาอันเป็นช่วงกลางคลอง และด้านปลายคลองจินดาคือตำบลตลาดจินดาที่ตั้งอยู่ถัดออกไป

รองรับนิยามของคำว่าแดนดินอันแสนสมบูรณ์และเก่าแก่ ที่มาของชื่อคลองจินดาตกทอดอยู่ในเรื่องเล่าโบราณที่ว่า ชาวบ้านแต่เดิมเรียกคลองสำคัญสายนี้ว่าคลองสองวา ด้วยความกว้างแต่เดิมอันน้อยนิด ยามน้ำลงตื้นเขิน ชาวจีนที่ล่องเรือเข้ามาซื้อพืชผลต้องลงเรือเข็นไปด่าไป ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่าคลองจีนด่า และเพี้ยนผันเป็นคลองจินดาในภายหลัง

บ้างก็เปรียบเปรยที่นี่ว่าสมบูรณ์ดุจเพชรนิลจินดา ปลูกสิ่งใดก็งอกงาม และในเรื่องที่เก่าแก่เคียงคู่ผู้คนของที่นี่ คือตำบลนี้ดกดื่นไปด้วยต้นจันทน์และแต่เดิมมีชาวชวาล่องเรือเข้ามาค้าขายถึงลุ่มน้ำท่าจีน พวกเขาเรียกต้นจันทน์ว่าจินดาหนา และอาจเป็นชื่อชุมชนเก่าแก่แห่งลุ่มน้ำท่าจีนแห่งนี้

คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

“แต่เดิมคนรุ่นปู่ย่าเขาจับจองทำกินกันมา ก่อนจะเป็นสวนใหญ่โตอย่างทุกวันนี้นะ คลองจินดามีแต่ไร่มัน ไร่แตงโม” เราอยู่กันที่หมู่ที่ 5 กลางสวนฝรั่งของลุงนิเวศน์ พันธุ์จินดา ร่องสวนลากแนวยาวไปตามคันดินที่ขีดแบ่ง แนวมะพร้าวขึ้นอยู่ที่ปลายตาเพื่อยึดโยงคันดิน อันเป็นอัตลักษณ์หลักของสวนที่นี่

“สวนคลองจินดาดูง่ายๆ ต้องมีมะพร้าวขึ้นกันแนวดินตรงคันสวนตามร่องจะมี “ค่าง”ให้ไม้โน้มกิ่งเข้าเกาะหากัน ไม่ค้อมลงเรี่ยน้ำ”

สวนฝรั่งของลุงนิเวศน์ก็เช่นกัน มันติดฝรั่งกิมจูผลโตผิวเขียวสวยพร้อมห้เก็บทุกเช้า การงานของพวกเขาดึงเราออกจากโลกอันรีบเร่งด้านนอก เต็มไปด้วยบรรยากาศโบราณอันมากรายละเอียด

จากปลูกมันปลูกแตงโมในสมัยคนรุ่นก่อร่างปักหลัก ส่งต่อสู่การขยับขยายยกดินเป็นร่องสวนใหญ่ พืขพันธุ์ผลไม้ยืนต้นหลากหลายได้แทงรากหยัดยืนกว่า 50 ปี ทั้งมะพร้าวน้ำหอมอันเลื่องชื่อ ละมุด องุ่นไวต์มะละกา ส้ม พุทรา มะนาว รวมไปถึงสารพันผักสวนครัว

“คนที่นี่ปลูกไม้แดกก่อนไม้ดอก” ในโมงยามที่ชมพู่ทับทิมจันทร์ก่ายกองในเพิงหน้าบ้าน ลุงบุญลือ สระทองขอ นิยามการปลูกพืชแบบ “รุ่นเก่า” ของคนคลองจินดาด้วยอารมณ์ขัน และมันเป็นเช่นนั้นจริงหากใครสักคนได้ลองพาตัวตนวนเวียนไปในสวนอันแสนวกวน ที่คล้ายจะมีเพียงพวกเขาที่จำมันได้ขึ้นใจ

“ชมพู่จะหวานอยู่ที่ยกร่องสูง น้ำข้างในจะชุ่ม” ลุงหยิบยื่นน้ำใจผ่านชมพู่ผิวสวย ใครสักคนถามถึงปลายทางของมัน เพื่อที่จะรู้ว่าทั้งตลาดปฐมมงคลที่อำเภอเมือง นครปฐม ปากคลองตลาด และยาวไกลไปถึงตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท คือจุดหมาย

การงานของคนปลูกไม้แดกอย่งที่ลุงบุญลือว่านั้นมากมายไปด้วยเคล็ดลับและความละเอียดอ่อนของคนสวน ตั้งแต่การยกร่อง ไล่เลยไปถึงรดน้ำ ให้ปุ๋ย ห่อหุ้มมันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ และถุงพลาสติก อันต้องเข้าใจถึงการเติบโตและการกัดกินของแมลงวันทอง

“แต่ก่อนดินดีกว่านี้เยอะ น้ำทะเลยังเคยหนุนตามน้ำขึ้นน้ำลง เดี๋ยวนี้มีประตูน้ำที่ปากคลองจินดา เราต้องเปลี่ยนวิธีดูแลดิน” ลุงว่าแต่เดิมคนคลองจินดาชินกับสภาพสองน้ำที่แร่ธาตุจากน้ำทะเลจะฉาบอยู่ตามร่องสวนยามน้ำทะเลหนุน ผลไม้ที่นี่จึงมีรสหวาน “เดี๋ยวนี้ต้องใช้เกลือใช้ปุ๋ยแทน”

“เวลาจะห่อส่งยังต้องใน้สวย” ป้าบุญนาค คู่ชีวิตของลุงเล่าถึงการ “แต่งสวย” ป้ารองใบชมพู่เขียวทึบลงในกล่อง ตกแต่งมันราวกับของขวัญจากเรือกสวน ทั้งที่จริงมันคือผลิตผลอันเวียนซ้ำหล่อหลอมอยู่ทุกฤดูกาล

ผ่านพ้นการลงไปดูใครสักคนล่องเรือรดน้ำสวนมะนาวที่กว้างไกลและกั้นร่องสวนเป็นระเบียบงดงาม เราเข้ามานั่งอยู่ ณ ปลายทางอันหอมหวานของพืชผล ป้าสุรี รุ่งเรือง บอกกับเราว่า มะพร้าวของที่นี่นั้นคือหัวใจในการงานของเธอ

นอกจากไข่เป็ดไล่ทุ่งแท้ๆ ไม่ใช่เป็ดเลี้ยง มากมายในความอร่อยของขนมไทยอย่างทองหยอด ฝอยทอง และอีกนานา ป้าสุรีว่าพืชผลในคลองจินดาโดยเฉพาะมะพร้าวนั้นไม่มีที่ใดเหมือน และทำให้บ้านหวานทุกวัน โรงงานขนมของเธอหยัดยืนสืบต่อมากว่า 40 ปี

“เราใช้ของในนี้หมดละ น้ำดินมันสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็งาม เอามาทำอะไรก็อร่อย” คล้ายขนมหวานของป้าและลูกหลานจะตอบต่อความชัดเจนในเนื้อน้ำและผืนดินของคนที่นี่

คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

แทบทุกนาทีผู้คนในหลายหมู่บ้านของคลองจินดามีขีวิตคล้ายคลึงกัน เรือกสวนและเหล่าผลไม้เปรียบดุจลมหายใจ การก้าวเดินและชีวิตแต่ละวันนั้น คำว่าเกษตรกรรมเป็นเหมือนแรงผลักดันให้การก้าวต่อมีความหมาย

เป็นทิศทางชีวิตที่พวกเขาเลือหย่อนเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังลงทุกฤดูกาล

ภายใต้สแลนครึ้มดำที่กรองแสงนั้นคือโลกอีกใบ โลกที่คนอย่าง ส่งเสริม รอดบำรุง มีความสุขยามได้เห็นไม้ใบเติบโตงดงาม

“เราค่อยๆ ทำ เก็บกินไปเรื่อยๆ “ ลุงส่งเนริมอาจคล้ายหลายคนในคลองจินดา ที่ชีวิตอันผูกพันอยู่กับสวนผลไม้นั้นส่งผลแต่กต่อให้มีทางเลือกเดินเป็นของตนเอง ไม้ใบที่ใช้ประดับอย่างพลูจีบ มอนใจแอนด์ ล้วนเต็มไปด้วยความเอาใจใส่

“ไม้ใบให้ผลงาม เร็ว แต่ไม่ให้รายได้สูงเหมือนปลูกไม้ผลนะ” ใต้สแลนนั้นเต็มไปด้วยการเรียนรู้ ไม้ใบใช้ประดับในงานมงคล จัดช่อดอกไม้ ล้วนมีปลายทางเดียวคือปากคลองตลาด การเอาใจใส่ทั้งเรื่องแดด น้ำ และลม ทำให้วันๆ ลุงส่งเสริมมีชีวิตอยู่กับลวดลายและความเขียวรื่น

ลมบ่ายไล้ระบายภายในสวนไม้ใบ ลุงว่าคนคลองจินดานั้นไม่ยึดติด บางคนนไม่กลัวการสุญเสียสายพันธุ์ผลไม้ หันไปปลูกเพาะไม้พันธุ์กันเป็นล่ำเป็นสัน

คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

“มันอยู่นิ่งไม่ได้หรอก การเรียนรู้นั้นสำคัญ” เช่นนั้นเองหากเลาะเวียนไปตามสวนต่างๆ เราจะเห็นถึงความหลากหลายของการเพาะปลูก ไม่นับผลไม้ผักที่ผลัดเวียนไปตามฤดูกาล แต่บางสวนนั้นเน้นหนักไปที่การขายกิ่งพันธุ์และต้นพันธุ์

“เราผ่านการเรียนรู้กันมามากค่ะ ทุกวันนี้ที่นี่เต็มไปด้วยหนทางในเรื่องเกษตร” ขณะเดินตาม ชุติมา น้อยนารถ  เข้าไปตามสวนของพี่ป้าน้าอา ดูเหมือนโลกใบเล็กของคนคลองจินดาจะเต็มไปด้วยส่วนเสี้ยวอันหลากหลายที่ประกอบกันขึ้นและเรียนรู้ได้ไม่รู้จบ

คืนวันในโลกผลไม้และการเพาะปลูกราวเหรียญสองด้าน แม้มวลน้ำในคลองจินดา และคลองย่อยหลากหลายที่หล่อเลี้ยงคนที่นี่ยังสะอาดใน ทว่าการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองทั้งเรื่องการระบายน้ำ สวะ การปิดกันการไหลเวียนจากการพัฒนารอบนอกทำให้ดินตะกอนที่มากับน้ำหลากอันเป็นธาตุอาหารลดน้อยถอยหายไปจากร่อสวน “หลายคนต้องหันไปพึ่งปุ๋ยวิทยาศาสตร์และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช”

ระหว่างอยู่ในลำคลองสายโบราณ ชุติมาพาเราพายเรือลัดข้ามคลองจินดาไปที่หมู่ 7 ลมเย็นชายคลองระบายร้อน และมันยิ่งเย็นรื่นเมื่อเราป่ายปีนท่าน้ำเข้าไปในพื้นที่สีเขียวของสวนเตยแห่งหนึ่ง

นอกเหนือจากไม้ผล หลายต่อหลายคนของตำบลนี้หันหน้าเข้ามาหารือและร่วมก่อตั้งกลุ่มเกษตรยั่งยืนคลองจินดา สุพัตรา หลงสมบุญ คือหนึ่งในผู้คนเหล่านั้น

“เราทำสวนฝรั่ง การแข่งขันสูง ต้องใส่ใจเยอะ รายละเอียดมาก ใช้สารเคมีในปุ๋ยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มันจะอยู่อย่างไรไหว”

เธอหันมาหาเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางของกลุ่ม ร่องสวนฝรั่งเดิมถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวนเตย ไร้สารเคมีเปี่ยมพิษร้าย ตามคันดินไม่ได้เตียนดล่งเหมือนสวนผลไม้อื่นๆ

“ต้องปลูกพืชคลุมให้แร่ธาตุ อย่างสวนผลไม้บางแห่งจะโล่งเตียนเขากลัวมันแย่งอาหาร”

กลางความร่มรื่นของสวนเตย ชุติมาและสุพัตราบอกเล่าถึงหลักคิดให้คนนอกที่ห่างไกลเรื่องพืชพรรณได้ทำความเข้าใจโลกอีกใบที่พวกเธอเลือกเดิน

“หลักคิดคือเปลี่ยนพืชพรรณ เปลี่ยนเทคนิค ค้นหาภูมิปัญญาดั้งเดิม” คล้ายย้อนกลับไปหาคืนวันเก่าก่อน โลกเกษตรของคนรุ่นปู่ย่าถูกพลิกฟื้นส่งต่อ ทั้งการโกยดินทำคันล้อมร่องสวน ทำค้างกลางน้ำให้ไม้ยึดเหนี่ยว ผูกกิ่งแบบไม่ล็อก ให้ลู่ลม หรือปลูกหญ้าเล็บนก น้ำนมราชสีห์ เพื่อคลุมดินทั้งที่หลายคนว่ามันคือวัชพืช

ภาพตรงหน้าราวเรือกสวนอุดมคติ ยากจะมีอยู่จริงในยุคคืนวันหลากไหลเปลี่ยนแปลง หากแต่ยามเมื่อเราบ่ายหัวรถเข้าสู่ทางดินเล็กๆ ในเขตบึงบางช้าง พื้นที่หลักในคลองจินดาที่พวกเขาเรียกแทนกายภาพของสายคลองเล็กๆ มากมายที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้ที่เกษตร ภาพตรงหน้าก็ราวคำตอบของหลักคิดที่ชุติมาพยายามอธิบาย

คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

ทางเดินสายนั้นพาเราเข้าไปสู่บ้านไม้หลังร่องสวนครึ้มร่มรกเรื้อ ที่หลังบ้าน ผักหญ้านานาของพี่อุบล ศรรัตนพิทักษ์ เป็นกอบกำ ลมเย็นในสวนริมำประโดงเล็กๆ ชวนให้นั่งดูปลาแรดเวียนว่าย ขณะที่พืชสวนครัวอย่างกะเพรา ใบชะพลู โหระพา ตำลึง พริก นั้นมัดรวมกันเป็นกลุ่มๆ

“เดี๋ยวมีงานเกษตรที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา” พี่อุบลค่อยๆ จัดเรียงมันราวงานฝีมือ เธอยิ้มยืนยันว่ามันปลดอสารเคมีอย่างถึงที่สุด

รอบบ้านคือสวนโบราณที่เก็บกินได้แทบทุกอณู ทองหลางยืนต้นใหญ่ ลุพลูแผ่คลุม พื้นล่างพึชสวนนานา รวมไปถึงพืชสมุนไพรที่คนบ้านนี้หยิบจับมันขึ้นมาให้ “ลองกินใบนี่ดู รสเหมือนอะไร” เธอยื่นใบโปร่งฟ้าให้เด้กรุ่นหลังลองเคี้ยว สักพักรสหวานเย็นหอมทำให้รำลึกถึงลูกอมแฮ็คส์ในวัยเด็ก “เขาก็ใช้ใบนี้ล่ะ เป็นส่วนผสม”

เย็นย่ำระหว่างเดินออกมาจากสวนสีเขียวอันรกเรื้อ คล้ายใครสักคนตรงนั้นบอกกับเราว่า ทางเดินของคนที่นี่ล้วนหลากหลายและหลอมรวมไปด้วยกัน ทั้งพืชพรรณ สายน้ำ และเนื้อดิน

เป็นทางเดินที่มีอยู่จริง ทางเดินสีเขียวอันแสนบรสุทธิ์กลางเรีอกสวนที่แลดูสามัญธรรมดา ไม่รีบเร่ง ทว่าแสนมั่นคง ไร้การโยกคลอนตกหล่น

ท่าน้ำตรงบ้านฉางก่ายกองไปด้วยมะพร้าวน้ำหอมของพี่น้องชาวสวนแห่งคลองจินดาที่รอการบรรทุกออกไปสู่หลากหลายตลาด

เสียงหัวเราะพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบล่องลอยระหว่างผู้ชายที่โยนมะพร้าวขึ้นท้ายรถกระบะ และหญิงสาวที่ควั่นหัวท้ายให้เหลือเพียงผิวสีขาวด้านในเปลือก

เราลงเรือในบ่ายคล้อยที่แดดอ่อนทาบทาบ้านไม้ริมคลอง ผู้ใหญ่บุญเสริม แก้วมาลัย คล้ายพาเราลัดเลาะสู่คืนวันผันพ้นผ่านของสายน้ำในคลองจินดา

บางนาทีเรือลัดเลาะผ่านกอผักตบชวาหนาทึบเข้าไปสุ่เขตบึงขางช้าง ผ่านพื้นที่ที่เคยเป็นตลาดน้ำคลองจินดาที่วันนี้เหลือเพียงความเปลี่ยวร้างเงียบงัน

เลียบผ่านวัดปรีดารามและย่านบ้านเรือนเก่าแก่ที่เรียงรายหนาแน่นบางหลังยังคงลายฉลุงงดงามอ่อนช้อยตามส่วนประดับ ยอสามสี่คันเรียงรายอยู่ที่ท่าน้ำ เมื่อคุณป้าสักคนเหยียบยกมันขึ้น ปลาตะเพียนขนาดเขื่องๆ สะท้อนชัดว่าหลายคนยังคงรู้จักลำคลองอันเป็นหัวใจหลักของพวกเขาอย่างชัดเจน แม้วันเวลาจะเหนี่ยวนำชีวิตห่างเหินมันไปเท่าไหร่ก็ตาม ในดพล้เพล้ของต้นฤดูร้อนโลกของเรือกสวนเหนือตลิ่งกระจัดกระจายชีวิตของพวกเขาไปตามทิศทางการเพาะปลูก

คลองจินดา ล่องลำคลอง ชมพืชผลและผืนแผ่นดิน

อาจบางที ด้วยดวงตาของผู้อยู่ ท่ามกลางสวนผลไม้ที่กำลังออกผลและปรับเปลี่ยนไปตามการหมุนเคลื่อนของวันเวลา ดูเหมือนผู้คนของที่นี่จะค้นพบทั้งรากเก่าและดอกใบใหม่ ที่ต่างก็พร้อมจะแตกยอดเติบโตร่วมกันไปในสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

คู่มือสำหรับนักเดินทาง

ตำบลคลองจินดาคือพื้นที่เพาะปลูกผลไม้และพืชผักที่น่าท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ตั้งอยู่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม สามารถเดินทางท่องเที่ยวแบบไปเข้าเย็นกลับ เที่ยวชิมผลไม้ตามเรียกสวน สัมผัสวิถีชีวิตชาวสวนอันหลากหลาย

การเดินทาง สะดวกที่สุดคือใช้ทางหลวงหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ผ่านเขตหนองแขม พุทธมณฑลสาย 4 อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ ข้ามแม่น้ำท่าจีน ผ่านแยกอำเภอสามพราน จากนั้นแยกซ้ายที่แยกคลองใหม่ แล่นไปตามถนนคลองใหม่ เมื่อถึงแยกโรงเรียนนาคประสิทธิ์ เลี้ยวขวาไปตามป้ายตลาดน้ำคลองจินดา อีกราว 9 กิโลเมตร ถึงตำบลคลองจินดา

อิ่มอร่อย ที่ตำบลคลองจินดา มีร้านอาหารตามสั่งเจ้าดั้งเดิม รสชาติจัดจ้าน เมนูปลารสชาติเป็นเลิศ แนะนำร้าน ส.โภชนา ไม่ไกลจาก อบต. คลองจินดา โทรศัพท์ 034 307 439

เที่ยวชมสวน ปัจจุบันตลาดน้ำคลองจินดาปิดให้บริการ แต่สามารถขับรถเที่ยวตามสวนผลไม้ต่างๆ และสวนดอกไม้ที่เรียงรายอยู่ในหมู่บ้น หรือติดต่อล่องเรือนำเที่ยวคลองจินดา สอบถามข้อมูลได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองจินดา โทรศัพท์ 034 307 988, 034 397 060

 

ขอบคุณ อสท.

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *


Exit mobile version